คนที่ไม่รู้ประวัติวิทยาศาสตร์มักจะคิดว่า วิทยาศาสตร์ได้ถือกำเนิดในกรีซเมื่อประมาณ 3 ศตวรรษก่อนคริสตกาล โดยปราชญ์กรีก เช่น Thales ผู้พบว่าเส้นผ่านศูนย์กลางจะแบ่งวงกลมออกเป็นสองส่วนเท่ากัน และทุกสิ่งทุกอย่างมีน้ำเป็นองค์ประกอบ, Anaximander ผู้ได้วาดแผนที่โลกเป็นคนแรก และเคยคิดว่าโลกมีรูปทรงเป็นทรงกระบอกที่มีผิวโค้งในแนวเหนือ ใต้ และ Plato ผู้มีความคิดว่าเอกภพประกอบด้วยดิน น้ำ ลม และไฟ ซึ่งอาจแทนธาตุทั้ง 4 ด้วยรูปทรงตัน เช่น ดินแทนด้วยรูปลูกบาศก์ ไฟแทนด้วยรูปพีระมิด ลมแทนด้วยรูปทรง 8 หน้า (octahehedron) น้ำแทนด้วยรูปทรง 20 หน้า (icosahedron) และสวรรค์แทนด้วยรูปทรง 12 หน้า (docecahedron) ตลอดจนถึง Erathothenes ผู้พยายามวัดขนาดของโลกเป็นคนแรก และ Aristotle ผู้ที่เชื่อว่าโลกคือศูนย์กลางของเอกภพ นอกจากนี้สรรพสิ่งบนสวรรค์กับทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บนโลกดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน ตลอดจนถึง Archimedes ซึ่งได้พบกฎของคาน กฎการจม และการลอยของวัตถุในของเหลว อีกทั้งยังเป็นคนที่สร้างท่อทรงกระบอกที่ภายในมีเกลียวสำหรับใช้วิดน้ำเข้านา ให้เกษตรกรใช้กันจนทุกวันนี้
และหลังจากนั้นวิทยาศาสตร์ก็ได้รับการพัฒนาไปเรื่อยๆ จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 เมื่อ Johannes Gutenberg ประดิษฐ์แท่นพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์หนังสือ การนิยมอ่านหนังสือ มีส่วนทำให้ชาวยุโรปตะวันตกเริ่มตื่นตัว และกระหายจะเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ รวมถึงมีความประสงค์จะเข้าใจธรรมชาติเหมือนชาวกรีกในยุคโบราณ ความต้องการเช่นนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ที่มีผลทำให้วิทยาศาสตร์ในยุโรปได้จุติอีก
การเหาะข้ามประวัติวิทยาศาสตร์ด้วยความเร็วมากกว่าความเร็วแสงเช่นนี้ ทำให้เราไม่รู้ว่าในช่วงเวลาประมาณ 1,000 ปีก่อนจะถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาซึ่งเรียกกันว่า ยุคมืด (Dark Ages) นั้นเป็นอย่างไรในภาพรวม คือ เป็นเวลาที่โลกถอยหลังมาก เช่น ไม่มีใครมีนาฬิกาบอกเวลา ทุกคนคิดว่าโลกแบน และเวลาเกิดโรคระบาดที่ร้ายแรง ผู้คนก็มักคิดกันว่า เพราะพระเจ้าทรงลงโทษที่มนุษย์ได้กระทำบาป จึงพากันสวดมนตร์วิงวอนขอความเมตตาปราณีจากเทพยดาฟ้าดิน นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าชะตาชีวิตของมนุษย์ทุกคนได้ถูกฟ้ากำหนดให้เป็นไปตามวิถีโคจร และตำแหน่งของดาวต่างๆ ตั้งแต่เมื่อเริ่มลืมตาดูโลก จนกระทั่งตาย รวมทั้งยังมีความเชื่อว่ากรรมมีจริง ให้ทุกคนต้องชดใช้ ดังนั้น จึงไม่มีใครพยายามจะเข้าใจต้นกำเนิดของเหตุการณ์ หรือแสวงหาวิธีป้องกันเหตุร้ายอะไรเลย วิชา “วิทยาศาสตร์” ณ เวลานั้นจึงมีสภาพเหมือนไสยศาสตร์มาก แต่เมื่อถึงวันนี้ เราได้รู้แล้วว่า ปราชญ์อาหรับในอาณาจักรอิสลามได้เข้ามาประคับประคอง และผดุงองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ของปราชญ์กรีกมิให้ถูกทำลายไปจนหมดสิ้น โดยได้แปล ดัดแปลง ต่อเติม และพัฒนาองค์ความรู้เหล่านั้น ด้วยความสามารถของปราชญ์อาหรับเอง แล้วถ่ายทอดความรู้ใหม่กลับคืนสู่ชาวยุโรปอีกคำรบหนึ่ง ซึ่งได้กระตุ้นเร้าให้ผู้คนหันมาสนใจการแสวงหาความรู้ ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการจึงได้ถือกำเนิด
ในหนังสือ Science and Islam: A History โดย Ehran Masood ที่จัดพิมพ์โดย Icon Books ในปี 2009 ผู้เขียนได้บรรยายประวัติความเป็นมาของวิทยาศาสตร์ในอาณาจักรอิสลามว่าได้ถือกำเนิดตั้งแต่คริสต์ศักราชที่ 7 คือประมาณ ค.ศ. 630 เมื่อศาสดา Mohammed ทรงประกาศศาสนาใหม่ให้ชาวอาหรับนับถือ แต่ในเวลานั้นประชาชนชาวอาหรับกำลังตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองบ่อย และความโกลาหลอลหม่านจึงบังเกิดไปทั่ว ครั้นเมื่อประเทศมีอาหารให้ประชากรบริโภคไม่เพียงพอ ผู้คนจึงต้องใช้วิธีปล้นสะดม และขโมยจากต่างชาติเพื่อความอยู่รอดของชาติตน และความต้องการนี้ได้ผลักดันให้ชาวอาหรับสร้างกองทัพที่แข็งแกร่งและมีสมรรถภาพเหนือประเทศเพื่อนบ้านมาก
เมื่อศาสดา Mohammed สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 632 พระสหายในพระองค์ซึ่งมีนามว่า Abu Bekr ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกาหลิบแทน การมีกองทัพที่ทรงพลังทำให้พระองค์ทรงสามารถขยายอาณาจักรได้อย่างกว้างขวางจากดินแดน Arabia ขึ้นไปทางเหนือสู่ Mesopotamia เข้าครองดินแดน Syria, Palestine และ Russia โดยมีชาวมุสลิมปกครอง อีก 11 ปีต่อมากองทัพอาหรับก็สามารถยึดครองอียิปต์ได้ แล้วได้บุกเข้ายึดครองพื้นที่ทางตอนเหนือของแอฟริกาตลอดไปจนถึงช่องแคบ Gibraltar (Morocco ในปัจจุบัน) จากนั้นได้พยายามเปลี่ยนศาสนาของชาวแขก Moor ในแอฟริกาให้มานับถือศาสนาอิสลามของชาวมุสลิมแทน ในเวลาต่อมากองทหารอิสลามได้เคลื่อนทัพเข้าโจมตีสเปนใน ค.ศ.711 ภายใต้การนำของแม่ทัพชื่อ Tarik (คำว่า Gibratar มาจากคำ Gebel-al-Tarik ซึ่งแปลว่า โขดศิลาของ Tarik) เพราะกำลังกองทัพของประเทศในยุโรป ณ เวลานั้นอ่อนแอมาก ทหารอาหรับจึงสามารถยึดครองสเปนได้อย่างง่ายดาย
จากนั้นกองทัพอาหรับได้บุกข้ามเทือกเขา Pyrenees เข้าฝรั่งเศส และถูกต่อต้านที่เมือง Tours โดยแม่ทัพชาวฝรั่งเศสชื่อ Charles Martel ผลปรากฏว่า กองทัพอาหรับพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ชาวอาหรับจึงได้หยุดยั้งการรุกรานประเทศในยุโรปตะวันตกตั้งแต่นั้นมา
สำหรับการทำสงครามรุกรานทางตะวันออก อาณาจักรอาหรับก็ได้แผ่ขยายอำนาจจากอาณาจักรเปอร์เซีย (อิหร่าน) ผ่านประเทศ Afghanistan ไปถึงดินแดนที่เป็นลุ่มแม่น้ำคงคาและสินธุ จนถึงนคร Delhi ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย
หลังจากที่ศาสดา Mohammed เสด็จสวรรคตได้เพียง 75 ปี ลุถึงปี 750 กรุง Baghdad ก็ได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่านคร Constantinople ของอาณาจักร Byzantine
ในช่วงเวลาที่อาณาจักรอาหรับกำลังรุ่งโรจน์ โลกวิทยาการของชาวกรีกก็กำลังเสื่อมถอย การล่มสลายของวิทยาศาสตร์กรีก ได้เริ่มปรากฏเมื่อกองทัพโรมันภายใต้การนำของนายพล Marcellus บุกยึดนคร Syracuse ได้สำเร็จเมื่อก่อนคริสต์ศักราช 212 ปี และทหารคนหนึ่งได้สังหารปราชญ์ Archimedes โดยไม่ตระหนักว่าท่านเป็นใคร แม้กองทัพโรมันจะไม่เคยชื่นชมวิทยาศาสตร์ แต่ก็ได้นำวิชาเรขาคณิตของกรีกมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมต่างๆ แต่การไม่ได้สนใจวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ทำให้วิทยาศาสตร์ในสมัยที่โรมันเรืองอำนาจจึงไม่เจริญรุ่งเรือง
ประจวบกับในเวลานั้น ในอาณาจักรโรมันเองได้มีสงครามต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างชาวคริสเตียนกับคนนอกรีตอยู่เนืองๆ เมื่อการพิพาทได้แผ่ขยายไปเป็นวงกว้างขึ้นๆ ประเทศก็เริ่มมีความโกลาหลอลหม่านมากขึ้น ยิ่งเมื่อเกิดกาฬโรคระบาดอย่างรุนแรง อันมีผลทำให้ผู้คนโรมันล้มตายไปเป็นจำนวนมาก และประเทศในยุโรปตะวันตกยังถูกชนป่าเถื่อนที่มาจากต่างถิ่นรุกรานบ่อย ความหายนะที่เกิดทุกหนทุกแห่งเหล่านี้ ทำให้งานวิชาการของชาวโรมันหยุดนิ่ง ยุโรปจึงก้าวเข้าสู่ยุคมืด ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้คนนิยมนับถือภูติผีปีศาจ และชื่นชมการเล่นมายากล รวมถึงการมีความนิยมและศรัทธาในการเล่นแร่แปรธาตุ (alchemy) โดยบรรดานักเล่นแร่แปรธาตุ ซึ่งมักจะอ้างว่าเทพเจ้าบนสวรรค์ทรงบรรดาลให้สรรพสิ่งในโลกกลายเป็นทองคำได้
ความฝังใจเชื่อเช่นนี้ทำให้จักรพรรดิโรมันในเวลานั้นทรงปริวิตกมากว่า เหล่านักเล่นแร่แปรธาตุทั้งหลายจะแปลงทองคำที่พระองค์ทรงมีในท้องพระคลังไปเป็นธาตุที่ไม่มีค่าจนหมด จึงบัญชาให้เผาตำราเล่นแร่แปรธาตุทุกเล่มที่มีในอาณาจักร ผลที่ตามมาคือ ห้องสมุดที่ Alexandria ก็ถูกไฟเผาไปด้วย
ดังนั้นเมื่อถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 4 อาณาจักรโรมันก็ได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 อาณาจักรย่อย คือ อาณาจักรทางตะวันออก ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่ Constantinople หรือเมือง Byzantium กับอาณาจักรทางตะวันตก ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ Rome
ส่วนที่เมือง Alexandria ซึ่งเป็นศูนย์กลางวิชาการของโลกในสมัยนั้นก็มีปราชญ์ต่างแดนจากหลายประเทศเดินทางมาค้นคว้าหาความรู้ แต่เมื่อเกิดการวิวาทถกเถียงกันอย่างรุนแรงระหว่างนักวิชาการชาว Syria กับชาว Hebrew และชาว Syria ทะเลาะสู้ไม่ได้ จึงถูกขับไล่ไสส่งออกจากเมือง แต่ก็ได้ลอบนำตำราที่เขียนเป็นภาษากรีกกลับประเทศของตน เพื่อนำไปแปลเป็นภาษา Syriac
ครั้นเมื่อกองทัพอาหรับพิชิตอาณาจักร Syria ได้ และนายทัพอาหรับได้เห็นปราชญ์ Syria มีความรู้มากมาย จึงได้ยกย่องปราชญ์ทุกคนที่มีอาชีพแพทย์ โหร และนักเล่นแร่แปรธาตุให้มีฐานะทางสังคมที่สูงกว่าอาชีพอื่น จากนั้นองค์กาหลิบ al-Mamun ได้ทรงโปรดให้นักวิชาการอาหรับแปลภาษา Syriac เป็นภาษาอารบิก และทรงจัดตั้งศูนย์กลางการแปลขึ้นที่เมือง Basra, Baghdad และ Cordova ในสเปน เพราะพระองค์ทรงตระหนักดีว่า ความรู้ที่ได้จากการแปลตำรา จะทำให้ประชากรของพระองค์มีสติปัญญาที่สามารถพัฒนาประเทศได้มาก ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรม การวางผังเมือง แพทย์ศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ โดยใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ของกรีก แล้วนำความสามารถของนักวิชาการอาหรับมาผสมผสาน ก็จะทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่มากมาย เป็นต้นว่า นักดาราศาสตร์อาหรับชื่อ Ibn Yunus สามารถพยากรณ์วันที่เกิดจันทรุปราคาได้ตั้งแต่ ค.ศ.950 และ Ulugh Beg แห่งเมือง Samarkand ก็ได้สร้างอุปกรณ์ sextant ขนาดใหญ่เพื่อใช้ทำแผนที่ดาวฤกษ์ 994 ดวง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นแผนที่ดาวที่ดีที่สุดที่มีใช้ในสมัยนั้น
ในขณะที่โลกอาหรับกำลังมีการพัฒนาวิทยาการไปรอบด้าน บรรดาประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตกก็กำลังตกอยู่ในยุคมืด เพราะสถานที่ทุกหนแห่งเต็มไปด้วยคนที่มีอวิชชา แต่ในเวลาเดียวกันอำนาจทางศาสนาคริสต์ก็กำลังเบ่งบาน เพราะองค์สันตะปาปาแห่งโรมทรงมีพระราชอำนาจมากยิ่งขึ้นๆ ตลอดเวลา จนดูเสมือนว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้าชีวิตของทุกคน แต่สันตะปาปาทรงไม่ยินดีให้ชาวเมืองกล่าวยกย่องและศรัทธาบุคคลอื่น นอกจากพระองค์ ดังนั้นคำบัญชาในองค์สันตะปาปาจึงต้องถูกกำหนดให้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และความคิดในทุกเรื่องของสันตะปาปาก็ต้องเป็นที่ยอมรับโดยคนทุกคนอย่างดุษณีภาพ กฎทางศาสนายังห้ามมีใครมาซักไซ้คำสอน และห้ามนักเรียนทุกคนถาม นั่นคือทุกคนต้องเชื่อตามที่สันตะปาปาทรงคิดและสั่ง เหมือนว่าตนเป็นคนที่ไม่มีสมอง โดยสันตะปาปาทรงแถลงว่าความคิดอ่านทั้งหลายเป็นหน้าที่ของนักบวชเท่านั้น ใครก็ตามที่ขัดขืนคำสั่งจะถูกลงโทษหนัก สถาบันศาสนายังได้ส่งเสริมการเรียนการสอนเป็นภาษาละตินด้วย เพราะภาษาละตินเป็นภาษาที่ใช้กันในวงการศาสนา สันตะปาปาจึงบัญชาให้นำตำราภาษาอาหรับที่ถูกแปลมาจากภาษากรีกไปแปลต่อเป็นภาษาละตินอีกทอดหนึ่ง
ครั้นเมื่อนักบวชชื่อ Thomas Aquinas ได้อ่านตำราวิทยาศาสตร์ฉบับที่แปลเป็นภาษาละติน และได้คิดวิเคราะห์เนื้อหาอย่างละเอียด จนคิดได้ว่านี่คือทางสู่ความจริง จึงนำข่าวนี้ไปทูลสันตะปาปา เมื่อสันตะปาปาทรงเชื่อตามจึงทรงประทานอนุญาตให้ชาวยุโรปตะวันตกเริ่มเรียนรู้ผลงานของ Aristotle และเชื่อคำสอนทุกคำของ Aristotle
นอกจากดาราศาสตร์แล้ว นักวิชาการชาวอาหรับยังสนใจเรื่องเล่นแร่แปรธาตุด้วย เช่น เชื่อว่าใครก็ตามที่มีศิลาของนักปรัชญา (philosopher’s stone) ในครอบครอง เขาจะสามารถใช้ศิลานั้นแปลงสสารทุกชนิดเป็นทองคำได้ ความต้องการนี้จึงผลักดันมีการศึกษาธรรมชาติของธาตุต่างๆ ตั้งแต่การเตรียม และค้นหาเทคนิคการเปลี่ยนแปลงธาตุ โดยใช้กระบวนการกลั่น การระเหย การตกผลึกและการเผา ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นกระบวนการทางเคมี และฟิสิกส์ที่เราวันนี้รู้จักดี แต่อุปกรณ์ที่ใช้ยังไม่ทันสมัย และเมื่อถึงเวลาจะผลิตทองคำ “ผู้เชี่ยวชาญ” ก็จะเริ่มพิธีด้วยการบวงสรวงเทพยดาก่อน โดยพยายามหาวัน เวลา และสถานที่ๆ เหมาะสม รวมถึงต้องการดูตำแหน่งของดาวต่างๆ บนฟ้าด้วย และเชื่อว่า ถ้ามีการนำปรอทและกำมะถันมาเผารวมกันเป็นเวลานาน และถ้าในเวลานั้นดาวกับเดือนบนท้องฟ้าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม คนที่กำลังเล่นแร่แปรธาตุ ก็จะได้ทองคำ แต่ถ้าการเผาใช้เวลาไม่นาน เขาก็จะได้เงินแทน นอกจากนี้ถ้าปริมาณธาตุที่นำมาใช้ไม่เหมาะสม คนเล่นแร่แปรธาตุก็จะได้ทองแดง ดีบุก เหล็ก หรือตะกั่ว และถ้ามีการนำธาตุอื่นๆ มาผสมกัน ก็จะได้สารประกอบใหม่ที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน ดังนั้น นักวิชาการเหล่านี้จึงนิยมตั้งชื่อของสิ่งที่ได้จากการทดลองเอง โดยใช้ชื่อเรียกที่ไม่มีใครรู้จักในทันทีว่าประกอบด้วยธาตุอะไรบ้าง ทั้งนี้เพราะผู้เล่นแร่แปรธาตุไม่ประสงค์จะให้ใครรู้ความลับของตน เช่น เรียก aqua fortis ซึ่งแปลว่า น้ำรุนแรง (strong water) ที่เป็นกรด nitric เพราะของเหลวนี้สามารถละลายโลหะได้หลายชนิด และ aqua regia ที่ได้จากการนำกรด nitric มารวมกับกรดเกลือ เพราะกรดนี้เป็นกรดเดียวที่สามารถละลายทองคำได้ ส่วนในกรณีของกรดเกลือก็มีชื่อเรียกพิเศษว่า spirit of salt และสารประกอบ ammonia ก็มีชื่อเรียกว่า spirits of hart’s horn เป็นต้น
ในช่วงเวลาที่เป็นปลายยุคมืด หรือต้นยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา คนทั่วไปจะเชื่อและศรัทธาในความสามารถของนักเล่นแร่แปรธาตุมากว่าเป็นเทวดา เพราะมีความเข้าใจและความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง จนสามารถควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพืช สัตว์ โลหะ ดวงดาว รวมถึงการแปลงธาตุหนึ่งไปเป็นอีกธาตุหนึ่ง และรักษาโรคได้ทุกโรค ความเชื่อมั่นเช่นนี้ทำให้นักเล่นแร่แปรธาตุฉวยโอกาสต้มและหลอกล่อ คนซื่อทั้งหลายที่หวังรวย จนหมดเนื้อหมดตัวไปตามๆ กัน
แต่ในเวลาเดียวกันความพยายามของนักเล่นแร่แปรธาตุที่จะควบคุมธรรมชาติก็ได้ชักนำ และกระตุ้นผู้คนให้ออกเดินทางผจญภัย ขุดหาแร่ธาตุเพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และแสวงหาพืชพันธุ์แปลกๆ มาใช้เป็นยารักษาโรค รวมถึงการตั้งใจศึกษาวิถีโคจรของดาวเพื่อใช้ในการนำทาง และค้นหาดินแดนใหม่ด้วย
Bristol เป็นเมืองหนึ่งในอังกฤษที่มีบทบาทมากในการค้นหาดินแดนใหม่ในมหาสมุทร Atlantic และเป็นเมืองเกิดของ Thomas Charnok ซึ่งเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุคนสำคัญในสมัยสมเด็จพระนางเจ้า Elizabeth ที่ 1 ซึ่งได้เขียนบรรยายวิถีชีวิตของเขาในปี 1565 (ยุคสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) ว่า ลุงของ Charnok ซึ่งเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุเช่นกันกับเขา และเป็นที่ปรึกษาในกษัตริย์ Henry ที่ 7 ได้มอบตำราการเล่นแร่แปรธาตุให้หลายเล่ม รวมถึงให้ห้องปฏิบัติการด้วย และ Charnock ได้ใช้ห้องปฏิบัติการนี้ในการทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นทองคำ แต่เขาไม่มีศิลาของนักปรัชญา เพราะเขายังหมกมุ่นอยู่ในความวุ่นวายทางโลก ซึ่งได้แก่ครอบครัว และเพื่อนฝูง ดังนั้น จึงต้องปลีกสันโดษ และได้ทูลขอพระราชินีให้เขาสามารถทำการทดลองได้ที่หอคอยแห่งลอนดอน (Tower of London) หรือมหาวิหาร Westminster หรือมหาวิหาร St. Paul’s
การปลีกวิเวกของ Charnock ทำให้เขามีสมาธิในการทำงาน และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตของนักเล่นแร่แปรธาตุว่า ต้องเดินทางและต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย จนชีวิตของนักเล่นแร่แปรธาตุบางคนต้องประสบความหายนะ เพราะลงทุนลงแรงหมดจนสิ้นเนื้อประดาตัว มีคราวหนึ่งที่ Charnock ได้จากบ้านไปนาน 40 วัน เมื่อกลับถึงบ้านก็พบว่า คนใช้ได้งัดแงะห้องทดลองของเขาเพื่อขโมยความลับที่เกี่ยวข้องกับศิลาของนักปรัชญา นอกจากนี้ในการใช้คนโทแก้ว เพื่อทำการทดลองก็เป็นเรื่องไม่สะดวก เพราะในอังกฤษยุคนั้น แก้วเป็นวัสดุหายาก ทำให้ต้องขึ้นม้าไปต่างแดนเป็นระยะทางไกลเพื่อหาแก้วมาทำอุปกรณ์ แต่ปัญหาสำคัญที่เขาแก้ไม่ตกคือไฟ ซึ่งเขาไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิให้สม่ำเสมอได้นาน จนบางครั้งต้องตื่นกลางดึกเพื่อมาดูไฟไม่ให้ดับก่อนเวลาอันควร ในส่วนของเชื้อเพลิง เช่นน้ำมัน ถ่านหิน และไม้ที่ใช้เผาธาตุก็เป็นเรื่องที่สิ้นเปลืองมากจนต้องนำของมีค่าที่มีไปขาย
เพราะการทดลองต้องใช้เวลานาน ดังนั้น Charnock จึงจ้างคนใช้มาให้คอยเติมเชื้อเพลิงอย่างสม่ำเสมอ แต่คนใช้กลับเทเชื้อเพลิงลงในเตามากกว่าที่กำหนด เพื่อตนจะได้หลับนอน ไฟที่ลุกรุนแรงทำให้บ้านของ Charnock ถูกไฟไหม้ไปส่วนหนึ่ง คนใช้จึงถูกไล่ออก
ในปี 1557 ได้เกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส Charnock ถูกบังคับให้รับใช้ชาติ เมื่อไม่มีทางเลี่ยง จึงได้ทำลายทุบอุปกรณ์ที่มีในห้องปฏิบัติการหมด จนกระทั่งปี 1564 จึงได้หวนกลับมาทำงานเล่นแร่แปรธาตุต่อ และได้พยายามติดไฟในเตาทดลองให้ลุกไหม้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน 3 ปี จนกระทั่งได้รับคำสั่งให้เข้ารายงานตัวต่อเจ้าเมือง Bristol และคนใช้ได้ปล่อยให้ไฟดับ การค้นหาศิลาของนักปรัชญาจึงล้มเหลวอีก
ในปี 1681 ที่มีการพบเอกสารของ Charnock ซุกซ่อนในกำแพงบ้านของเขาอันเป็นสถานที่ๆ ไม่มีใครกล้าเข้าไปย่างกราย หรืออาศัย เพราะคิดว่ามีผีสิง ในเอกสารนั้น Charnock ได้วาดภาพสเก็ตซ์ของอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องทดลอง รวมถึงจดหมายที่เขาเขียนถึงพระราชินี Elizabeth ที่ 1 ว่าเขารู้ความลับของธรรมชาติ และวันหนึ่งเขาจะนำศิลาของนักปรัชญาไปถวายพระองค์ ซึ่งจะทำให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยดี และมีชื่อเสียง และคนที่จะพบศิลาของนักปรัชญาจะต้องเป็นนักปรัชญาเช่น เขาแต่ผู้เดียวเท่านั้น แต่เขาก็ไม่ได้พบอะไรๆ เลย
สำหรับบทบาทของการเล่นแร่แปรธาตุที่มีต่อการบุกเบิกวิทยาการแพทย์ศาสตร์ก็มีมาก โดยแพทย์ชื่อ Paracelsus (1493-1541)
Paracelsus มีชื่อเต็มว่า Philippus Aurelius Theorphastus Bombast von Hokenheim เป็นอาจารย์วิชาเคมีและแพทย์ศาสตร์ ซึ่งในสมัยนั้นยกย่องและศรัทธาในคำสอนของ Avicenna, Galen และ Hippocrates มาก อีกทั้งมีความเชื่อว่า โลกมียาอายุวัฒนะที่สามารถทำให้ร่างกายคนไม่ชราได้
ในวัยหนุ่ม Paracelsus (ชื่อนี้แปลตามตัวว่า เก่งกว่า Celsius ซึ่งเป็นแพทย์โรมันที่มีชื่อเสียง) ได้เดินทางท่องเที่ยวหาความรู้ไปทั่วยุโรป จึงมีความรู้ทางแพทย์ และวิทยาการเล่นแร่แปรธาตุพอสมควรว่า โรคต่างๆ เกิดจากความไม่สมดุลของของเหลวสี่ชนิดในร่างกาย (phlegm, เลือด น้ำดีน้ำเหลือง และน้ำดีดำ) เช่น ถ้าร่างกายมี phlegm มากเกิน ใบหน้าจะมีเลือดฝาด และเจ้าของจะมีอารมณ์ร่าเริง แต่ถ้ามีน้ำดีเหลืองมาก คนๆ นั้นจะโกรธคนง่าย ส่วนพืช liverwort สามารถรักษาโรคตับได้ และ feverwort สามารถลดอาการไข้ได้ หรือเวลาถูกมีดบาด ก็ให้นำมีดนั้นเคลือบด้วยขี้ผึ้งแล้วนำไปแขวน จากนั้นให้จับตาดูมีด จนกระทั่งแผลหาย เพราะทุกคนเชื่อว่าการเฝ้าดูจะทำให้มีดส่งพลังออกไปสมานแผลได้ หรือเวลาชายเฒ่าล้มป่วย แพทย์บางคนจะแนะนำให้นำสาวรุ่นมาหายใจรดที่ต้นคอ คนไข้ก็จะกระปรี้กระเปร่าในทันที
Paracelsus ได้ประกาศเลิกเชื่อความเหลวไหลเหล่านี้ และพยายามค้นหายามารักษา เช่น ยา laudanum ที่ทำจากแอลกอฮอล์และฝิ่น และเวลาจะรักษาคนที่เป็นโรคผิวหนัง เขาก็จะนำตะกั่วเหล็ก และสารหนูมารักษา เพราะ Paracelsus เชื่อว่า ร่างกายเปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการเคมี ดังนั้นแพทย์ใดที่ไม่มีความรู้เคมีก็จะเป็นแพทย์ที่ไม่มีความสามารถในการรักษาไข้ ด้วยเหตุนี้จุดประสงค์หลักของการเล่นแร่แปรธาตุ จึงมิใช่การแสวงหาศิลาของนักปรัชญา แต่เป็นการแสวงหายารักษาโรค
Paracelsus จึงเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลกผู้ที่เคยทำงานเคมีในช่วงเวลาที่เป็นรอยต่อระหว่างยุคมืดกับยุค Renaissance
อ่านเพิ่มเติมจาก Mystic Metal of Gold: Essays on Alchemy and Renaissance Culture โดย S. Linden จัดพิมพ์โดย AMS Press ในปี 2005
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์