xs
xsm
sm
md
lg

แวะชมการใช้งาน “สถานีเรดาร์ชายฝั่ง” ณ บางปู

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นอกจากสถานีตากอากาศชื่อดังแล้ว ณ อำเภอบางปูยังมี “สถานีเรดาร์ชายฝั่ง” ซึ่งเป็นสถานีที่ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดการเคลื่อนตัวของน้ำ ช่วยให้เราทราบถึงความเร็วและทิศทางของกระแสน้ำและกระแสลม จนถึงการติดตามคราบน้ำมัน พร้อมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์การกัดเซาะชายฝั่ง

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์มีโอกาสได้เยี่ยมชม สถานีตากอากาศบางปู อ.บางปู จ.สมุทรปราการ ที่ตั้งสถานีเรดาร์ชายฝั่ง ที่ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พร้อม ดร.ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ GISTDA ซึ่งให้ข้อมูลการทำงานของสถานีเรดาร์ดังกล่าว

ดร.ศิริลักษณ์อธิบายว่า สถานีเรดาร์ชายฝั่ง มีกล้อง CCTV จำนวน 2 ตัว กล้องตัวแรกไว้สำหรับภายในสถานี กล้องตัวที่สองสำหรับดูภายนอก โดยชื่ออย่างเป็นทางการสถานีเรดาร์ คือ สถานีตรวจวัดคลื่นและกระแสน้ำด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง โดยหลักการทำงานของคลื่นวิทยุความถี่สูง คือ ส่งสัญญาณออกไปและรับสัญญาณกลับ

"ภายในสถานีจะมี 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ระบบประมวลผลและเสารับส่งสัญญาณ ส่วนโครงสร้างสถานีนั้นเหมือนกันทุกที่ ทั้งสถานีที่อ่าวไทยและสถานีที่ติดตั้งบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยจะยกสูงจากพื้นเพื่อป้องกันเวลาน้ำขึ้น"

ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ กล่าวต่อว่า การแจ้งเตือนจะบอกถึงความสูงคลื่น ความแรงคลื่น ความเร็วทิศทางกระแสน้ำ ความเร็วทิศทางลม เพื่อนำไปใช้พยากรณ์อากาศ รวมถึงติดตามการเคลื่อนที่ของมวลน้ำ การไหลเวียนของกระแสน้ำ และทิศทางการเคลื่อนที่คราบน้ำมันว่าจะไหลทิศทางใด เพื่อแจ้งเตือนชาวประมง ตอนนี้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดแบบความถี่สูง (High Frequency: HF) จำนวน 22สถานี โดยติดตั้งในอ่าวไทย 20 สถานี และติดตั้งในอันดามัน 2สถานี

ในการประยุกต์ใช้งานสถานีเรดาร์ชายฝั่งจะเน้นใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชัน Gcoast ที่สามารถค้นหามลพิษทางน้ำ คาดการณ์เส้นทางขยะเพื่อเก็บกวาด หาที่มาของคราบน้ำมัน และมลพิษน้ำเสียต่างๆ ว่ามาจากที่ใด เมื่อชี้เป้าเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่กรมควมคุมมลพิษหรือกรมเจ้าท่าเข้าไปจัดการมลพิษทางน้ำนี้ได้ นอกจากนี้ยังนำข้อมูลไปประยุก์ใช้เพื่อการประมง การกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งสถาบันการศึกษา และชุมชนชายฝั่ง ยังเข้าไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้

ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า กลุ่มผู้ใช้งานแบ่งเป็น 4กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรกหน่วงงานรัฐบาลสำหรับวางนโยบายทางชายฝั่ง กลุ่มที่ 2 คือ ภาคสถาบันการศึกษาเข้ามาหาข้อมูลเพื่อเรียนรู้ กลุ่มที่ 3 คือ ชุมชนชายฝั่งสมาคมต่างๆ โดยเน้นใช้งานแอปพลิเคชัน Gcoast และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มประชาชนทั่วไปที่สนใจ ซึ่งมีอีกแอปพลิเคชันชื่อ Mongle สำหรับให้ประชาชนที่สนใจใช้งาน

ดร.ศิริลักษณ์ระบุว่า ทีมงานของ GISTDA ค่อนข้างมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแอปพลิเคชันเฉพาะทาง และนอกจากนี้ GISTDA ยังได้ร่วมมือกับบางหน่วยงาน เช่น กรมทรัพยกรทะเลและชายฝั่ง นำข้อมูลคลื่นมาพัฒนาเป็นระบบติดตามการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งตรวจสอบได้ที่หน้าเว็บไซต์ของกรมพัฒนาทะเลและชายฝั่ง ระบบดังกล่าวทำให้ทราบว่าแต่ละปีมีการกัดเซาะชายฝั่งตรงไหนและรุนแรงเพียงใด

"ในแต่ละแอปพลิเคชันซึ่งได้นำข้อมูลพื้นฐาน เช่น คลื่น สายน้ำ ลม มาใช้มากมาย โดยสามารถนำไปพัฒนาและปรับใช้งานได้หลายรูปแบบ ไม่ได้นำมาใช้เป็นแค่แบบจำลองอย่างเดียว เนื่องจากการติดตั้งระบบเทคโนโลยีพวกนี้แล้ว มาสร้างแบบจำลองเพียงอย่างเดียวไม่คุ้มค่า ต้องเอาไปใช้งานจริงๆ หลายส่วน" ดร.ศิริลักษณ์ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น