xs
xsm
sm
md
lg

รับสมัครนักศึกษาเป็นตัวแทนทดสอบดาวเทียม ณ ตุรกี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โอกาสนักศึกษาได้ลองของจริง จิสด้าดันโปรแกรมแข่งขัน “วิศวกรดาวเทียมฝึกหัด” ร่วมประกอบทดสอบ ณ ประเทศตุรกี

ปัจจุบันข้อมูลจากดาวเทียมมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับการนำมาวางแผนและบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การออกแบบประกอบทดสอบดาวเทียมจึงยังเป็นสิ่งที่ต้องมีการพัฒนากันต่อไปเพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายและมีความแม่นยำตลอดจนมีความเสถียรภาพสูงสุด พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีการสื่อสารทางด้านอวกาศไปพัฒนาด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

ดร.วรินทร์ธร เกียรติกรทวียศ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ ของระบบสื่อสารดาวเทียมภาคพื้นดินย่านความถี่ S-Band สถาบันวิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA Academy) เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ร่วมมือกับ Asia Pacific Space Cooperation Organization (APSCO) ดำเนินการสร้างดาวเทียมภายใต้ชื่อ Student Small Satellite-2B (SSS-2B) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมและปฏิบัติให้กับนิสิต นักศึกษา ทางด้าน Sattellite Engineer ของประเทศสมาชิก โดยให้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง

"สำหรับประเทศไทยได้สิทธิ์ส่งตัวแทนเข้าร่วมปฏิบัติการทดสอบการทำงานของดาวเทียมจำนวน 3 คน โดยแบ่งการเข้าร่วมเป็น 2 ครั้ง คือ การทดสอบ Qualification Test ของ Engineering Model และ Flight Model ตามลำดับ" ดร.วรินทร์ธร กล่าว

APSCO ยังมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศสมาชิกได้ทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันเพื่อศึกษาดาวเทียมดังกล่าว รวมทั้งเป็นการฝึกหัดนิสิต นักศึกษา ให้มีการเตรียมความพร้อมที่จะเป็นบุคคลากรด้านอวกาศและได้สัมผัสเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในการทดสอบกับดาวเทียมจริงพร้อมกับการเรียนรู้การทำงานในระดับนานาชาติ

ทั้งนี้เปิดรับสมัครแข่งขันตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 62 โดยดาวน์โหลดเอกสารและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://learn.gistda.or.th/ สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบชิงชนะเลิศ 3 ทีมสุดท้ายจะได้รับเงินรางวัลทีมละ 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตรและสิทธิ์ร่วมเดินทางไปเรียนรู้ประกอบทดสอบดาวเทียม ณ ประเทศตุรกี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณธันย์ชนก 096-874-4848 หรือ http://learn.gistda.or.th/ กรอกใบสมัครและส่งมาที่ SSS2B@GISTDA.OR.TH ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น