ในคืนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ตรงกับวันมาฆบูชา ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือที่เรียกว่า ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ที่ระยะห่างประมาณ 356,836 กิโลเมตร หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่า 7% และสว่างกว่า 16% สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 18:11 น. เป็นต้นไป คอลัมน์เลยขอพูดเรื่องการถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วปรากฏการณ์ ซูเปอร์ฟูลมูน กันหน่อย!
สำหรับปรากฏการณ์นี้ พระเอกของเราก็คือ “ดวงจันทร์” โดยไอเดียการถ่ายภาพในวันนั้น ก็อาจสเริ่มจากการถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า (เทคนิคการถ่ายภาพตามลิงก์ : https://goo.gl/e8XRUu ) และหลังจากนนั้นเมื่อดวงจันทร์เริ่มอยู่สูงจากขอบฟ้า เราก็สามารถเลือกเฉพาะดวงจันทร์ที่บริเวณใกล้ขอบฟ้า เพื่อเอาไปเปรียบเทียบกับดวงจันทร์ตอนอยู่กลางท้องฟ้าได้ ว่าดวงจันทร์บริเวณไหนจะใหญ่กว่ากัน....(อันนี้อยากให้ลองดูเอง)
แต่การที่เราจะได้มาซึ่ง ดวงจันทร์ที่คมชัดนั้น ย่อมต้องมีเทคนิคในการถ่ายภาพในแบบนักดาราศาสตร์ ดังนั้น วันนี้เราจะขอนำเสนอ “การถ่ายภาพดวงจันทร์ให้คมชัดระดับ HD” โดยเราจะถ่ายเฉพาะดวงจันทร์เต็มดวง เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งภาพ และมีรายละเอียดของหลุมดวงจันทร์ที่ชัดเจน สามารถนำไปขยายใหญ่ได้มากๆ (เอาไปขยายใหญ่เท่าฝาบ้าน...) เราจะมีวิธีถ่ายภาพและเทคนิคการโปรเซสภาพถ่ายดวงจันทร์ ให้ได้ภาพดวงจันทร์แบบ HD รายละเอียดจะมีอะไรกันบ้างนั้น มาเริ่มกันเลยครับ
วิธีการถ่ายภาพดวงจันทร์
1. ถ่ายภาพดวงจันทร์ด้วยวิธี “การถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง” คือการถ่ายภาพดวงจันทร์บนขาตั้งกล้องอยู่กับที่ แล้วถ่ายภาพไปเรื่อยๆ ให้ได้จำนวนภาพมากๆ เท่าที่ภาพดวงจันทร์ยังคงอยู่ในเฟรมภาพ
ปกติเมื่อเราถ่ายภาพดวงจันทร์บนขาตั้งกล้อง ด้วยเลนส์ซูปเปอร์เทเล เราจะเห็นว่าดวงจันทร์จะค่อยๆ เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ แน่นอนภาพดวงจันทร์ที่เราถ่ายในแต่ละภาพ จะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ (แต่นั้นไม่ใช่ปัญหา) ขอแค่ให้เราถ่ายดวงจันทร์บนขาตั้งกล้องที่มั่นคง และให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่ไม่เบลอ แค่นี้เราก็จะสามารถนำเอาภาพทั้งหมดมาโปรเซส ด้วยโปรแกรมทางดาราศาสตร์กันได้แล้วครับ
ภาพแสดงทิศทางการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์
เทคนิคการถ่ายภาพคือ ให้ดูว่าในช่องมองภาพดวงจันทร์จะมีทิศการเคลื่อนที่ไปในทิศทางไหน ก็ให้วางตำแหน่งดวงจันทร์ในภาพแรกให้อยู่ใกล้ขอบภาพ เพื่อให้สามารถถ่ายภาพดวงจันทร์ให้ได้จำนวนภาพมากที่สุดภายในพื้นที่กรอบภาพ โดยที่ดวงจันทร์ยังไม่หลุดกรอบภาพ
หมายเหตุ : การถ่ายภาพดวงจันทร์นั้น ให้ใช้โหมด M (แมนนวล) ในการถ่ายภาพ เพื่อสามารถปรับค่าต่างๆ ได้สะดวก ให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่ไม่สว่างโอเวอร์ สามารถปรับค่าความเร็วชัตเตอร์ได้เหมาะสมไม่ช้าไปจนทำให้ภาพดวงจันทร์ยืดหรือเบลอ โดยอาจเลือกใช้ค่าความไวแสงไม่เกิน (ISO : 400) เพื่อให้ภาพมีรายละเอียดที่ดี มีสัญญาณรบกวน (Noise) ต่ำ
เทคนิคการโปรเซสภาพถ่ายดวงจันทร์Registax 6 ซึ่งเป็นโปรแกรมที่นักดาราศาสตร์นิยมใช้ในการประมวลผลภาพถ่ายวัตถุท้องฟ้า โดยโปรแกรมสามารถประมวลผลได้ทั้งไฟล์ภาพนิ่ง และวีดีโอ (ดาวน์โหลดโปรแกรมตามลิงก์ : https://www.astronomie.be/registax/*>https://www.astronomie.be/registax/)
ขั้นตอนการใช้งานโปรแกรม Registax มีรายละเอียดดังนี้
- เลือกไฟล์ภาพที่ถ่ายไว้ขึ้นมาทั้งหมด จากเมนู Select และเปิดไฟล์ภาพทั้งหมดที่จะใช้ในการ Stack
- คลิ๊กคำสั่ง Set Alignmentpoints โดยสามารถเลือกเป็นแบบ Default หรือแบบ Multi เพื่อกำหนดตำแหน่งจุดอ้างอิงในการ Alignment ได้ (ไม่คิดมากก็เลือกค่า Default)
- คลิ๊กคำสั่ง Align เพื่อให้โปรแกรมกำหนดจุดอ้างอิงบนพื้นผิวดวงจันทร์
- คลิ๊กคำสั่งตามแถบเขียวต่อไป Limit (โปรแกรมจะเริ่มทำการหาทิศทางการเคลื่อนที่ของภาพแต่ละภาพ)
- คลิ๊กคำสั่ง Stack โปรแกรมจะเริ่มทำการรวมภาพทั้งหมดเข้าด้วยกัน
- หลังจากโปรแกรม Stack ภาพจนเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ให้ทำการปรับค่าความคมชัดของภาพ จากเมนูคำสั่ง Wavelet (ขั้นตอนนี้สามารถปรับค่าตามความชอบแต่ละคน)
- ในการปรับค่าความคมชัด โปรแกรมจะแสดงเพียงพื้นที่บางส่วนเท่านั้น หลังจากที่ปรับค่าเสร็จแล้ว ให้คลิ๊กคำสั่ง “Do All” โปรแกรมจะทำการโปรเซสทั่วทั้งภาพ
- เสร็จแล้วก็สามารถ Save ภาพเพื่อนำไปใช้งาน หรือเลือกรูปแบบการ Save เป็นแบบ TIFF เพื่อนำไปปรับแต่งต่อได้ใน Photoshop ได้ต่อไป
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน