นักประวัติวิทยาศาสตร์ได้รู้มานานแล้วว่า ปราชญ์กรีกได้ความรู้วิทยาศาสตร์จากชาวอียิปต์ และชาวบาบิโลน ซึ่งต่างก็มีอารยธรรมของตนเองมาตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล
โดยเฉพาะอารยธรรมอียิปต์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งถือกำเนิดในลุ่มแม่น้ำ Nile ที่อุดมสมบูรณ์ เพราะทุกปีเมื่อถึงช่วงเวลาที่เป็นฤดูฝน น้ำในแม่น้ำจะเอ่อท่วมฝั่ง นำโคลนเลนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยมาสู่บริเวณทั้งสองฟากฝั่งทำให้บริเวณนั้นมีสภาพที่เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรมหลังน้ำลด ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ผลกระทบด้านลบของเหตุการณ์ก็มี คือ เส้นแบ่งพื้นที่ในการทำงานมากินของชาวบ้านได้ถูกน้ำชะล้างและทำลายไปจนหมดสิ้นด้วย ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องมีการแบ่งพื้นที่อาศัย และที่ทำมาหากินกันใหม่ทุกปี ความจำเป็นนี้ทำให้ชาวบ้านพยายามคิดวิธีคำนวณพื้นที่ขึ้นมา เพื่อจะได้ครอบครองเนื้อที่เท่าเดิมก่อนเหตุการณ์น้ำท่วม และได้นิยมแบ่งพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งสามารถคำนวณหาพื้นที่ได้ง่ายโดยเอาความยาวคูณกับความกว้าง คุณค่าของความรู้นี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านโดยตรงแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อองค์ฟาโรห์ด้วย เพราะเจ้าของพื้นที่ทุกคนต้องเสียภาษีตามความมากน้อยของพื้นที่ๆ ตนครอบครอง
นอกจากจะมีความรู้เรื่องพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้ว ชาวอียิปต์ยังมีความรู้เรื่องสมบัติของสามเหลี่ยมมุมฉากด้วย โดยเฉพาะสามเหลี่ยมที่มีด้านยาว 3, 4 และ 5 หน่วยความยาวว่า ถ้าด้านตรงข้ามมุมฉากมีความยาว 5 หน่วย ด้านที่ประกอบมุมฉากจะมีความยาว 3 และ 4 หน่วยเสมอ แต่ไม่มีใครรู้ว่าเพราะเหตุใด จนกระทั่งปราชญ์กรีกชื่อ Pythagoras ได้พบว่า พื้นที่ของจัตุรัสบนด้านตรงข้ามมุมฉาก มีค่าเท่ากับผลรวมของจัตุรัสบนด้านประกอบมุมฉากเสมอ นั่นคือ 52 = 32 + 42 ทฤษฎีนี้จึงได้ชื่อว่า ทฤษฎีของ Pythagoras
ชาวอียิปต์ยังมีความสามารถด้านวิศวกรรม และสถาปัตยกรรมอีกด้วย โดยมีผลงานที่โดดเด่นที่สุดคือ การสร้างมหาปิรามิดเป็นสถานฝังพระศพของฟาโรห์ ซึ่งนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 ของโลกโบราณ โดยใช้เทคโนโลยีการสกัด ตัด หิน การใช้คาน เชือก พื้นเอียง และแรงงานคน ในการขนย้าย และยกก้อนหินขนาดมโหฬารขึ้นซ้อนกัน ทั้งที่คนเหล่านั้นไม่รู้จักกฏของคานที่ Archimedes ได้พบในปี 2,000 ปีต่อมา
นอกจากนี้ชาวอียิปต์ก็ยังมีความสามารถทางดาราศาสตร์ด้วย เพราะเป็นชนชาติแรกที่สร้างปฏิทิน เมื่อ 4,200 ปีก่อนจากการสังเกตพบว่า ปีหนึ่งนานประมาณ 360 วัน และดวงจันทร์โคจรรอบโลกโดยใช้เวลา 28 วัน การมีจินตนาการ ทำให้พระนักบวชชาวอียิปต์เห็นกลุ่มดาวอยู่กันเป็นรูปสัตว์และเทวดา จึงตั้งชื่อกลุ่มดาวตามจินตนาการที่เห็น
ในด้านการคมนาคม ชาวอียิปต์โบราณรู้จักสร้างเรือเพื่อใช้ในการขนส่งสิ่งของ และผู้โดยสารขึ้น-ล่องตามลำน้ำ Nile และใช้ติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติที่มีภูมิลำเนาอยู่รายรอบทะเล Mediteranean จึงได้นำความรู้จากชนต่างเผ่ามาใช้ในการพัฒนาอารยธรรมของตน
ชนชาติแรกที่ชาวอียิปต์โบราณติดต่อคือ ชาวบาบิโลนที่อาศัยอยู่ในอาณาจักร Babylonia ที่อยู่ในดินแดนที่เรียกว่า Mesopotamia (คำๆ นี้แปลว่า พื้นที่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ Tigris กับ Euphrates) อันมีรูปเป็นจันทร์เสี้ยว และมีอาณาเขตตั้งแต่อียิปต์ไปจนจรดอาณาจักร Elam (ประเทศอิหร่าน)
แม้หลักฐานต่างๆ ทางวัตถุจะสาบสูญไปมากและนานแล้ว แต่คัมภีร์ Genesis ของชาวคริสเตียนก็ยังกล่าวถึง ชาวเมืองบาบิโลนว่า คนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมคดโกง ทุจริต ทะเยอทะยาน และชอบประพฤติผิดศีลธรรม ทำให้ทั้งเมืองมีแต่โสเภณี และทุรชน บาบิโลนจึงเป็นเมืองบาปของโลก และมีชื่อเสียงในทางตรงกันข้ามกับ Jerusalem ซึ่งเป็นนครบุญ
แต่ในเวลาเดียวกันเมืองบาบิโลนก็มีตำนานมากมาย เช่นว่า มีสิ่งก่อสร้างที่เป็นผลงานสถาปัตยกรรมระดับจักรวาล ซึ่งได้แก่ สวนลอยแห่งบาบิโลน (Hanging Garden of Babylon) ที่นับเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกโบราณ และหอคอยบาเบล (Tower of Babel) ที่วิศวกรตั้งใจจะสร้างให้สูงถึงสวรรค์ แต่เมื่อพระเจ้าทรงทราบจุดมุ่งหมายของผู้สร้าง จึงทรงบันดาลให้ผู้คนที่สร้างหอคอยสนทนากันโดยใช้ภาษาที่แตกต่างกัน และหลากหลาย ทำให้ไม่สามารถเจรจาสร้างความร่วมมือกันได้ การสร้างหอคอยจึงไม่บรรลุผล
Herodutus ซึ่งเป็นบิดาของประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงนครบาบิโลนว่ามีพื้นที่ 630 ตารางกิโลเมตร มีอาคารที่สร้างด้วยอิฐดินสีน้ำตาลขุ่น เพราะได้จากการขุดดินโคลนมาทำ เมืองมีกำแพงล้อมยาว 100 กิโลเมตร และหนา 7 เมตร กำแพงมีประตูที่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ 100 บาน สำหรับประชาชนในการเข้า-ออกเมือง และมีประตูสำคัญที่สุดคือ ประตู Ishtar ที่สูง 23 เมตร โดยบานประตูถูกประดับด้วยกระเบื้องสีน้ำเงินเรียงกันเป็นรูปสัตว์ชื่อ mushhushshu ที่มีศีรษะเป็นมังกร ลำตัวเป็นวัว สองขาหน้าเป็นขาแมว สองขาหลังเป็นขานกอินทรีย์ และมีหางเป็นหางแมงป่อง เมื่อถึงเทศกาลขึ้นปีใหม่ ชาวบาบิโลนจะจัดงานสดุดีเทพ Marduk ซึ่งเป็นเทพสูงสุดของชาวบาบิโลน ผู้ทรงควบคุมการเคลื่อนที่ของดาวทุกดวงในท้องฟ้า และทรงเป็นเทพผู้ปกป้องเมือง ในงานนี้ประชาชนจะนำรูปปั้นของเทพ Marduk ขึ้นรถม้า เดินนำขบวนผ่านประตูเมือง Ishtar ไปตามถนนให้ชาวบ้านได้สักการะทั่วกัน
งานสถาปัตยกรรมที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของชาวบาบิโลนคือ สวนลอยแห่งบาบิโลน ซึ่งเป็นสวนที่กษัตริย์ Nebuchadnezzar ที่ 2 ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อพระสนม Amytis จะได้ทรงคลายความคิดถึงที่มีต่อบ้านเกิด สวนลอยนี้ตั้งอยู่บนเนินสูงที่ถูกแบ่งออกเป็นชั้นๆ คล้ายพีระมิดขั้นบันไดแห่ง Saqqara ของอียิปต์
การสร้างสวนที่มีลักษณะเป็นชั้นๆ แสดงให้เห็นความสามารถของวิศวกรยุคนั้น ในการขุดคลอดและการทดน้ำขึ้นที่สูง เพื่อหล่อเลี้ยงต้นไม้ในสวน แต่เมื่อถึงวันนี้สวนลอยได้อันตรธานไปหมดสิ้นแล้ว เพราะอิฐดิบที่ใช้ในการสร้าง ทำมาจากดินโคลนหลังจากที่ได้นำมาตากแดด จึงไม่สามารถยืนยงได้เหมือนหินที่ชาวอียิปต์ใช้ในการสร้างปิระมิด
กระนั้นอาณาจักรบาบิโลเนียก็ยังมีสิ่งก่อสร้างอีกหนึ่งที่ยังคงสภาพอยู่ได้บ้าง นั่นคือ ziqqurat ซึ่งตรงกับคำ siqquratu ในภาษาบาบิโลเนียที่แปลว่า ยอดเขา ซิกกูรัตมีโครงสร้างคล้ายปิระมิดคือถูกแบ่งออกเป็นชั้นๆ ตั้งแต่ 3-7 ชั้น และมีขั้นบันไดเชื่อมระหว่างชั้นเป็นเส้นทางขึ้น-ลง ชั้นบนสุดเป็นสถานที่บูชาเทพ Marduk เพราะชั้นที่อยู่สูงขึ้นๆ จะมีขนาดเล็กลงๆ ซิกกูรัตจึงเปรียบเสมือนเอกภพที่มีชั้นล่างสุดเป็นนรก ชั้นกลางเป็นโลกมนุษย์ และชั้นบนสุดเป็นสวรรค์ นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่า หอคอย Babel แห่งบาบิโลน แท้ที่จริงคือ ซิกกูรัตที่มีฐานล่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีด้านยาว 30 เมตร
ชาวบาบิโลนยังรู้จักใช้ดินเหนียวในการทำอักษรลิ่ม (cuneiform) เพื่อบันทึกข้อความด้วย โดยตัดปลายต้นอ้อให้แหลมเพื่อใช้แกะลวดลายบนดินเหนียวที่ชื้น แล้วนำไปตากแดด สิ่งประดิษฐ์นี้จึงมีผลทำให้เราทุกวันนี้รู้และเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นเมื่อ 4,000 ปีก่อนได้โดยการอ่านจารึกอักษรลิ่มที่ถูกเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญของโลกเช่นที่ Louvre ในฝรั่งเศส และที่ British Museum (พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) ในอังกฤษ เป็นต้น
การอ่านจารึกอักษรลิ่มแสดงให้เห็นว่า กษัตริย์ Sargon แห่งเมือง Akkad ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ 2034-2279 ปีก่อนคริสตกาล และทรงโปรดให้สร้างเมืองชื่อ Babylon (คำนี้เป็นคำในภาษากรีกที่ตรงกับคำ Babel ในภาษา Hebrew ที่แปลว่า งุนงง หรือสับสน) และเมืองได้เจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นเมืองหลวงของอาณาจักร โดยมีกษัตริย์ทรงปกครองหลายพระองค์ แต่คนที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ กษัตริย์ Hamurabi ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ 1792-1750 ปีก่อนคริสตกาล และทรงมีชื่อเสียงในผลงานออกกฎหมาย Hamurabi จำนวน 282 กฏที่ถูกแกะสลักเป็นภาษาอักษรลิ่มลงบนเสาหิน basalt ที่สูง 2 เมตรให้ประชาชนทุกคนรับทราบ และปฏิบัติตาม โดยได้กำหนดบทลงโทษที่รุนแรง เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนมีการแก้แค้นกันเองจนเกินขอบเขตด้วย
ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ก็เป็นพรสวรรค์อีกด้านหนึ่งที่ชาวบาบิโลนมี คือมีความเก่งด้านการนับที่ไม่ใช่เลขฐานสิบ แต่เป็นเลขฐาน 60 เช่น สมมติว่าชาวบาบิโลนเขียน 16 เลข 1 ในที่นี้ไม่ได้แทน 10 แต่เป็นเลข 60 ดังนั้น 16 จึงหมายถึง 66 การนับเยี่ยงนี้มีผลทำให้มีการแบ่งเวลา 1 ชั่วโมงออกเป็น 60 นาทีและ 1 นาที ถูกแบ่งแยกออกเป็น 60 วินาทีที่เรายังใช้กันจนทุกวันนี้ หรือแม้แต่มุมรอบจุดก็ถูกแบ่งออกเป็น 360 องศา นักคณิตศาสตร์ชาวบาบิโลนยังสามารถหาพื้นที่สามเหลี่ยมและคำนวณปริมาตรของลูกบาศก์ได้ด้วย
เมื่อครั้งที่ Austen Henry Layard ขุดพบซากปรักหักพังที่เมือง Nineveh นั้นเขาได้พบเครื่องประดับ และภาชนะมากมายที่ทำด้วยทองคำ เงิน และทองสัมฤทธิ์ การเห็นรูปทรงและลวดลายบนเครื่องใช้ และเครื่องประดับเหล่านี้ทำให้เรารู้ว่า ช่างชาวบาบิโลนมีความสามารถในการหล่อ ตัด และดัดแปลงโลหะเป็นอาวุธและของใช้ ในความเป็นจริงชาวอียิปต์โบราณได้พบวิธีถลุงทองแดงก่อนชาติอื่น และได้นำความรู้นี้มาถ่ายทอดให้ชาวบาบิโลน เพราะทองแดงหลอมเหลวที่อุณหภูมิต่ำกว่าเหล็ก ดังนั้น ช่างจึงนิยมถลุงทองแดงเพื่อนำมาทำเป็นภาชนะ ส่วนทองคำและเงินนั้น มีเนื้อค่อนข้างอ่อน จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ทำภาชนะ และอาวุธ แต่ใช้ทำเครื่องประดับมากกว่า นายช่างชาวบาบิโลนยังได้พบวิธีทำทองแดงบริสุทธิ์ให้มีเนื้อแข็งขึ้น โดยการเจือทองแดงด้วยดีบุกเล็กน้อย ทำให้ได้ทองสัมฤทธิ์ (bronze) ที่มีเนื้อแข็งมาก เพื่อใช้สร้างอาวุธสำหรับกองทัพของอาณาจักร Babylonia จึงมีช่างทองคำ ช่างทองแดง ช่างดีบุก และช่างทองสัมฤทธิ์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโลหะเป็นจำนวนมาก
แม้จะมีความสามารถมากมายหลายด้าน แต่ความสามารถสูงสุดของชาวบาบิโลน คือ ความสามารถทางดาราศาสตร์ จากการเฝ้าสังเกตดูการโคจรดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์จนรู้ว่า การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ในท้องฟ้า มีผลต่อฤดูกาลบนโลก ดังนั้น นักดูดาวและเดือนเหล่านั้นจึงอนุมานต่อว่า ถ้าสามารถรู้ตำแหน่งของดาวได้อย่างถูกต้อง การพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ บนโลกก็จะแม่นยำตามไปด้วย และนี่ก็คือที่มาของวิชาโหราศาสตร์ ในคัมภีร์ไบเบิลได้กล่าวถึงปราชญ์ 3 คนที่เดินทางมาเข้าเฝ้าทารกเยซู ซึ่งคงเป็นโหรที่มาจากอาณาจักร Babylonia จะอย่างไรก็ตาม บันทึกตำแหน่งของดาวต่างๆ บนท้องฟ้าที่นักดูดาวชาวบาบิโลนได้จดไว้ ทำให้เราทุกวันนี้เห็นสภาพของท้องฟ้าในอดีตเมื่อหลายพันปีก่อนได้ เพราะดาวฤกษ์เหล่านั้นทุกดวงต่างก็เคลื่อนที่ช้ามาก
ตามปกติโหรชาวบาบิโลนมักศึกษาการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ ซึ่งในเวลานั้นมี 5 ดวงคือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี กับดาวเสาร์ และโหรเชื่อว่าตำแหน่งของดาวเคราะห์เหล่านี้ทุกดวงควบคุมวิถีชีวิตของคนทุกคนบนโลก
การเฝ้าสังเกตตำแหน่งของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ทำให้นักดาราศาสตร์ชาวบาบิโลนสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการสร้างนาฬิกาน้ำ (clepsydra) ซึ่งปล่อยให้น้ำไหลออกจากภาชนะเก็บน้ำจนหมด และนับเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็น 1 ใน 24 ส่วนของวัน และเวลา 1 วันได้จากการเริ่มเก็บน้ำในภาชนะตั้งแต่จังหวะแรกที่เห็นดวงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า จนกระทั่งถึงเวลาที่มันโผล่อีกครั้งหนึ่ง โดยให้ปริมาณน้ำที่เก็บเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ดังนั้น ถ้าแบ่งน้ำนั้นออกเป็น 24 ส่วนเท่าๆ กัน ก็จะได้น้ำที่ถ้าปล่อยให้ไหลออกจากภาชนะหมดจะใช้เวลานาน 1 ชั่วโมง และชาวบาบิโลนใช้นาฬิกาน้ำในการจับเวลาหาเสียงของผู้แทนราษฎรกับเวลาเทศน์ของนักบวช
โลกดาราศาสตร์ของชาวบาบิโลนถูกกำหนดและควบคุมโดยเทพ Marduk ซึ่งเป็นเทพผู้ทรงอำนาจมากที่สุด เพราะดาวทุกดวงเคลื่อนที่ตามบัญชาของ Marduk โดยไม่มีดาวดวงใดกล้าต่อรอง และเทพ Marduk ทรงควบคุมวัน เวลา โดยทรงโปรดให้ดวงจันทร์ส่องแสงในเวลากลางคืน และดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน หลังจากที่ Marduk ทรงสร้างโลกและสวรรค์แล้ว พระองค์ทรงโปรดให้สร้างกรุง Babylon และทรงยินดีมากที่ชาวเมืองพากันชื่นชม และสรรเสริญพระองค์ โดยการสร้างสถาปัตยสถานเรียก ziqqurat ขึ้นถวาย โดยมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ด้านแต่ละด้านยาว 90 เมตร และมี 7 ชั้น ทั้งหมดสูง 90 เมตร ziqqurat จึงอาจจะเป็นหอคอยแห่ง Babel ที่ลูกหลานของ Noah ได้สร้างขึ้นถวายพระเจ้า หลังเหตุการณ์น้ำท่วมโลก
แต่ Herodotus ได้กล่าวถึง ziqqurat ในกรุง Babylon ว่ามีทั้งหมด 8 ชั้น โดยชั้นบนสุดเป็นที่ทรงประทับของเทพ Marduk และมีโต๊ะทองคำกับเตียง พร้อมสตรีสาวสวยเพื่อถวายตัวให้เทพ Marduk ทรงพระเกษมสำราญ ยามเสด็จจากสวรรค์มาโปรดโลกมนุษย์
แต่นักดาราศาสตร์ปัจจุบันหลายคนเชื่อว่า ziqqurat เป็นสถานที่ๆ นักดูดาวในสมัยนั้นใช้สังเกตและทำแผนที่ดาว แต่ Victor Place ซึ่งเป็นนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสเชื่อว่า ziqqurat เป็นทั้งหอดูดาวและศาสนสถาน ดังนั้นมันจึงเป็นสถานที่เชื่อมโยงและพบปะระหว่างเทพ Marduk แห่งสวรรค์กับนักดาราศาสตร์บนโลก
ปัจจุบันถ้าใครที่คิดจะเดินทางไป Iraq (ถ้ากล้าไป) จะเห็น ziqqurat มากมาย เช่น ที่เมือง Ur มี ziqqurat ชื่อ Nammu ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อก่อนคริสตกาลประมาณ 2,100 ปี และที่ Chogha Zanbil ซึ่งอยู่ในอิหร่านตอนใต้ก็มี ziqqurat เช่นกัน และเป็น ziqqurat ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
การล่มสลายของอาณาจักรบาบิโลเนียเริ่มปรากฏ หลังการสิ้นพระขนม์ของกษัตริย์ Nebuchadnezzar
จนกระทั่งถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรคือ Nabonidus (556-539 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งประทับอยู่นอกเมืองบาบิโลน ในบริเวณที่เป็นทะเลทราย และทรงโปรดให้พระราชบุตร Belshazzar ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในกรุงบาบิโลน วันหนึ่งขณะพระองค์ทรงประทานงานเลี้ยงแก่บรรดาข้าราชบริพาร หลังจากที่ได้ทรงเสวยน้ำจัณฑ์จนมึนเมาแล้ว พระองค์ทรงโปรดให้นำจอกศักดิ์สิทธิ์ที่กษัตริย์ต้นตระกูลในพระองค์ทรงปล้นมาได้จากวิหาร Solomon ใน Jerusalem มาใช้ดื่ม ซึ่งเป็นพระกรณียกิจที่ได้ลบหลู่พระผู้เป็นเจ้ามาก เพราะปุถุชนกับพระเจ้าจะใช้ภาชนะร่วมกันไม่ได้ นอกจากนี้พระองค์ยังตรัสบริภาษดูถูกดูแคลนชาวยิวด้วย
ทันใดนั้นก็มีมือโผล่ปรากฏที่กำแพง และได้เขียนเป็นคำว่า mene, mene, tekel upharsin ซึ่ง mene แปลว่า นับได้ และหมายความว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกำหนดวันสิ้นสุดแห่งอาณาจักรของพระองค์แล้ว tekel แปลว่า พระเจ้าได้ทรงตัดสินบทลงโทษแล้ว ส่วน upharsin แปลว่า พระเจ้าจะทรงแบ่งแยกอาณาจักรบาบิโลนเป็นสองส่วนให้ชาว Medes และชาว Persia แบ่งกันปกครอง
สำนวน “The writing on the Wall” ได้เป็นความจริง เพราะในคืนวันนั้นเอง Belshazzar ก็ถูกปลงพระชนม์
ทันทีที่รู้ข่าวกษัตริย์สิ้นพระชนม์ จักรพรรดิ Cyprus มหาราชแห่งอาณาจักร Persia ทรงยกทัพมายึดครองกรุง Babylon ได้ แต่กษัตริย์ Nabonidus ทรงพยายามจะยึดคืน ทำให้ Cyrus มหาราชทรงพิโรธมาก จึงทรงโปรดให้เผากรุงบาบิโลนขนหมดสิ้น แม้จักรพรรดิ Alexander มหาราชจะทรงดำริให้บูรณะ แต่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อน การบูรณะจึงไม่ได้ดำเนินแต่อย่างใด จนกระทั่ง ค.ศ.193 – ค.ศ.211 เมื่อจักรพรรดิโรมัน Septimus Severus เสด็จมาเยือน Mesopotamia กรุงบาบิโลนก็เหลือแต่ซากและอาคารร้าง เพราะคนในเมืองได้ละทิ้งเมืองให้โจรมิจฉาชีพบุกปล้น จนไม่มีใครและอะไรเหลือให้เห็น จวบจนปี 1899 เมื่อ Robert Koldewey นักโบราณคดีชาวเยอรมันได้ขุดพบซากปรักหักพังของเมือง โลกจึงได้ “เห็น” อารยธรรมบาบิโลนอีกคำรบหนึ่ง
อ่านเพิ่มเติมจาก Before Nature: Cuneiform Knowledge and the History of Science โดย Francesca Rochberg จัดพิมพ์โดย University of Chicago Press ปี 2016
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์