สดร. พัฒนาแบบจำลองพยากรณ์คุณภาพอากาศ ค้นหาสาเหตุปัญหาฝุ่นควันในเชียงใหม่
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาแบบจำลองพยากรณ์คุณภาพอากาศ หวังค้นหาสาเหตุปัญหาฝุ่นควันในเชียงใหม่ วางแผนรับมือฤดูกาลหมอกควัน เบื้องต้นคาดสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากกลไกของต้นไม้ที่ปลดปล่อยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนสร้างฝุ่นในชั้นบรรยากาศ
ดร.วนิสา สุรพิพิธ นักวิจัยชำนาญการ หนึ่งในทีมวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ สดร. เปิดเผยว่า สดร. ได้เฝ้าระวังและค้นคว้าหาสาเหตุเบื้องหลังการพุ่งขึ้นสูงของระดับความเข้มข้นของฝุ่นในเชียงใหม่ อันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูแล้ง (ธันวาคม-มีนาคม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รายงานการตรวจวัดคุณภาพอากาศกรมควบคุมมลพิษในจังหวัดเชียงใหม่ 2 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ และสถานีโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ตรวจวัดระดับความเข้มข้นของฝุ่นแบบค่าเฉลี่ยราย 24 ชม.
“พบว่าระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) มีค่าสูงกว่า 70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้ง 2 สถานี (ระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศประเทศไทย อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ฝุ่นเหล่านี้ปกคลุมไปทั่วเมืองเชียงใหม่ ทำให้ทัศนวิสัยแย่ลงอย่างชัดเจนจนสังเกตได้ หากสูดหายใจเอาฝุ่นขนาดเล็กเข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้รู้สึกแสบจมูก หายใจลำบาก ในระยะยาวอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคทางเดินหายใจ”
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการเบื้องต้น ได้แก่ การควบคุมไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง กรมทางหลวงได้ขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันหมั่นตรวจสภาพรถยนต์เพื่อป้องกันการก่อเขม่าควันดำ ผู้ประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกยี่ห้อ ร่วมกันส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำระดับยูโรห้า (EURO5)
“อย่างไรก็ตาม ท้องฟ้าเมืองเชียงใหม่ก็ยังคงไม่สดใส เพื่อความปลอดภัย ควรหาหน้ากากปิดปากจมูกไม่เฉพาะในระหว่างสัญจรนอกอาคาร แต่ยังรวมถึงในห้องทั้งที่บ้านและที่ทำงาน หรือใช้แผ่นกรองอากาศภายในอาคาร และงดการออกกำลังกายกลางแจ้ง เพื่อลดผลกระทบของฝุ่นต่อสุขภาพ”
ดร.วนิสา กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร. ทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศ เพื่อหาสาเหตุและเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูแล้ง เราได้พัฒนาแบบจำลองพยากรณ์คุณภาพอากาศ หาแหล่งที่มา และสันนิษฐานว่า สาเหตุดังกล่าวอาจไม่ได้มาจากกิจกรรมปล่อยมลพิษจากมนุษย์โดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากกลไกของต้นไม้ เมื่อได้รับแสงแดด ความชื้น และอุณหภูมิในปริมาณที่เพียงพอ จะปลดปล่อยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนประเภทสารอินทรีย์ระเหยง่ายออกมา เช่น แก๊สไอโซพรีน แก๊สโมโนเทอร์พีน ฯลฯ
“แก๊สเหล่านี้จะทำปฏิกิริยากับไนตริกออกไซด์และรังสีอัลตราไวโอเลตในบรรยากาศบริเวณพื้นผิวโลก เกิดเป็นอนุภาคขนาดเล็กและแก๊สโอโซน แล้วจับตัวกันเป็นอนุภาคที่ใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นอนุภาคฝุ่นในที่สุด ประกอบกับสภาวะความกดอากาศสูงที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในฤดูแล้ง และจังหวัดเชียงใหม่มีสภาพภูมิประเทศที่ล้อมรอบด้วยภูเขา จึงทำให้ลมสงบ ฝุ่นละอองขนาดเล็กถูกพัดพาออกไปได้น้อย จึงสะสมในปริมาณหนาแน่นปกคลุมเหนือตัวเมืองเชียงใหม่ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”
กรณีดังกล่าว สดร. จึงร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) และมหาวิทยาลัยพะเยา จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาแบบจำลองพยากรณ์คุณภาพอากาศ เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านแบบจำลองเคมีในบรรยากาศจากศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (National Center for Atmospheric Research; NCAR) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเมืองเออร์ไวน์ (UC Irvine) ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ด้านการค้นคว้าวิจัยแบบจำลองพยากรณ์คุณภาพอากาศระดับแนวหน้าของโลก ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อค้นหาสาเหตุของฝุ่นพิษและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดยิ่งขึ้น ระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมแคนทารีฮิลล์ จ.เชียงใหม่ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 087-6834730
ข้อมูลอ้างอิง : http://air4thai.pcd.go.th/webV2/.