xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องวัดความหนาแน่นกระดูกด้วยแสง พกพาได้ ไม่ต้องไป รพ.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ทีมพัฒนาเครื่องวัดความหนาแน่นของกระดูกแบบพกพา
ความหวังสำหรับผู้เสี่ยงกระดูกพรุน “เครื่องวัดความหนาแน่นของกระดูกแบบพกพา” ขนาดเล็กแม่นยำและปลอดภัยต่อผู้วัดใช้แสงตรวจวัดได้เองและสะดวกต่อการใช้งานเหมาะต่อการใช้งานเป็นประจำช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจที่โรงพยาบาล

ปกติการวัดความหนาแน่นของกระดูกจะใช้เครื่องเอกซเรย์ซึ่งมีขนาดใหญ่และอันตรายต่อผู้วัด แต่ผลงานของ มร.คานาเมะ มิอูระ (Kaname Miura) นักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยคานาซาวา (Kanazawa University) จากญี่ปุ่น ซึ่งมาทำวิจัยร่วมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยมี รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ อาจารย์คณะวิศวกรรมเครื่องกลและวิศวกรรมชีวภาพเป็นที่ปรึกษานั้น แก้ปัญหาดังกล่าวได้

มร.มิอูระพัฒนาเครื่องวัดความหนาแน่นของกระดูกแบบพกพาโดยใช้แสงเป็นการวัดความหนาแน่นของกระดูก ซึ่งมีความแม่นยำและปลอดภัย อีกทั้งสามารถพกพาได้ เนื่องจากมีขนาดเล็ก โดยเครื่องวัดความหนาแน่นกระดูกนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้เป็นประจำ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล นับเป็นการลดค่ารักษาพยาบาล

ทั้งนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน และปัญหาไม่ได้มีเพียงเท่านี้ การที่ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงที่เป็นโรคกระดูกพรุน จะรับทราบได้ว่าตนเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่นั้น ต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลอย่างเดียว และค่าบริการการแพทย์ปัจจุบันยังอยู่ที่ราคาหลักพันบาทอีกด้วย

สำหรับเครื่องตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกแบบพกพาโดยใช้แสง ใช้หลักการของแสงวัดค่าของมวลกระดูกออกมาในช่วงความยาวของคลื่นเฉพาะ ซึ่ง นายณรงค์เดช สุรัชนีนพดล นักวิจัยห้องปฎิบัติการวัสดุฉลาด (Smartlab) มจธ.ผู้ได้รับมอบหมายจาก รศ.ดร.อนรรฆ เพื่อนำเสนอผลงานเครื่องวัดความหนาแน่นของกระดูกนี้ระหว่างการจัดแสดงภายในงาน “วันนักประดิษฐ์ประจำปี 2562” ระบุถึงข้อดีของเครื่องตรวจวัดว่า ช่วยให้เราตรวจสอบว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน ก่อนที่จะไปพบแพทย์จริงๆ

“เราสามารถวัดเองได้ที่บ้านค่าที่ถูกวัดออกมาจะเป็นแถบสเกลที่บอกว่าเราเริ่มมีความเสี่ยงหรือยังหรือว่าเราปกติอยู่ครับถ้าเราเริ่มมีความเสี่ยงอยู่เราก็สามารถพบแพทย์ได้ครับผมและตัวเครื่องนี้ในปัจจุบันการพัฒนาของเราได้เน้นระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอเข้ามาช่วย โดยเอไอของเครื่องมีค่ามาตราฐานของผู้ป่วยในอาเซียน ค่าที่วัดได้กับค่าผู้ป่วยในอาเซียน ก็จะเทียบกันว่าผลตรวจนั้นเป็นปกติ หรือเริ่มมีความเสี่ยง” นายณรงค์เดช อธิบายการทำงานของเครื่อง

การพัฒนาเครื่องมือวัดความหนาแน่นกระดูกนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในไทยคือ เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและมหาวิทยาลัยต่างชาติคือ มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นที่คานาซาวา และตอนนี้บริษัทในญี่ปุ่นได้รับเครื่องวัดความหนาแน่นกระดูกนี้ไปพัฒนาต่อ และมีบริษัทไทยที่เป็นหุ้นส่วนกับญี่ปุ่น โดยกำลังเริ่มต้นนำมาผลิตในไทยคาดว่าประมาณปีนี้สามารถขายได้รวมถึงขายได้ในราคาที่ถูก
จำลองการทำงานของเครื่องวัดความหนาแน่นของกระดูกแบบพกพา
ภาพนำเสนอการทำงานของเครื่องวัดความหนาแน่นของกระดูกแบบพกพา
กำลังโหลดความคิดเห็น