xs
xsm
sm
md
lg

แปลกใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ

งูเหลือม
ข่าวสารจราจรมักถูกเปิดขึ้นดูในทุกเช้าเพื่อวางแผนก่อนการเดินทาง การพลาดพลั้งเลือกเส้นทางผิดหรือการเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลให้เวลาถูกสูบหายไปอย่างไร้ประโยชน์ ซึ่งในหลายครั้งการหลบเลี่ยงเปลี่ยนทิศไม่สามารถนำมาเป็นตัวเลือกได้จากความจำนวนของยวดยานพาหนะขับขี่ที่หนาแน่นเกินกว่าพื้นผิวถนนจะรองรับ ก็เป็นเช่นเดิมในเช้าวันนั้น หน้าจอโทรศัพท์ถูกปัดด้วยนิ้วไปมาก่อนพบเข้ากับข่าวอุบัติเหตุหนึ่งเกิดขึ้นบนทางหลวงระหว่างจังหวัด รถยนต์หลายคันชนท้ายกันจากเนื้อหารายงานข่าวแค่ทรัพย์สินนอกกายที่เสียหายไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เลื่อนสายตาอ่านต่อเนื่องลงมาทำให้พบเข้ากับภาพของตัวเจ้าต้นเหตุของสถานการณ์ งูขนาดไม่เล็กตัวหนึ่งนอนพาดผิวถนนและกำลังถูกมองดูจากเหล่าผู้คนข้างรถหลายคันที่จอดอยู่ซึ่งก็น่าจะเป็นเหล่ารถที่เกิดอุบัติเหตุ

"มีซักกี่ครั้งที่จะเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น" ผมแปลกใจ โดยมากเหตุการณ์มักจะลงท้ายด้วยความตายไม่เฉพาะของงูแต่เป็นสัตว์แทบทุกชนิดที่ข้ามเส้นทางสัญจรของรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยจนกระทั่งสัตว์บกขนาดตัวใหญ่ที่สุดในโลกอย่างช้างหรือแม้กระทั่งนกหลายชนิดที่ถูกทับแบนแนบอยู่บนผิวร้อนของพื้นถนนราดยางมะตอยสีดำขลับ การเลื่อนปัดหน้าจอระหว่างการอ่านเนื้อหาต้องหยุดชะงัก ผมเลื่อนกลับไปอ่านข้อความก่อนหน้า "งูเหลือมผู้ก่อเหตุยังคงไม่หนีไปไหน ก่อนเลื้อยหายไปไม่ถูกจับกุมเพราะทุกคนยอมความ" ไม่ใช่เพราะเนื้อหาแต่เป็นรูปของงูตัวนั้นในภาพข่าว ผมเลื่อนหน้าจอเพื่อดูรูปภาพอีกครั้งเพื่อยืนยันสิ่งที่เห็นว่าไม่ได้เกิดความผิดพลาดจากสายตาของตัวเอง

"งูหลาม ไม่ใช่งูเหลือม" ผมแน่ใจเช่นนั้น

ปัจจุบันในประเทศไทย มีการแพร่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติของงูในวงศ์งูเหลือมและงูหลามจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ งูเหลือม งูหลาม และงูหลามปากเป็ด ชนิดท้ายสุดมีการแพร่กระจายในภาคใต้และบางจังหวัดทางภาคตะวันตกของประเทศไทย รูปร่างที่สั้นป้อม ขนาดเล็กกว่า สีสันลวดลายโทนสีน้ำตาลแดง และขอบเขตการแพร่กระจายของงูหลามปากเป็ดทำให้การระบุชนิดออกจากอีกสองชนิดข้างต้นไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของคนปกติทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาถึงสองชนิดแรก จากลักษณะ รูปร่าง สีสัน และการแพร่กระจายที่เรียกได้ว่าแตกต่างกันไม่มากเมื่อมองผ่านตาอาจจะทำให้การระบุชนิดเกิดความสับสนขึ้นได้
งูหลาม
งูเหลือม Reticulated Python หรือ Malayopython reticulatus (SCHNEIDER, 1801) รูปร่างเป็นทรงกระบอกเรียวยาว ลำตัวขนาดใหญ่ สามารถเติบโตได้ถึงสิบเมตร ลำตัวออกสีเทาอ่อนถึงเข้ม มีเส้นเข้มหรือดำแซมเหลืองในลวดลายรูปสี่เหลี่ยมพาดไปตามลำตัวจนถึงส่วนหาง จนเป็นที่มาของชื่อทั้งชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ ส่วนหัวมีสีเทา สีเทาอมเหลือง หรือสีเหลืองซึ่งจะมีเส้นสีดำหนึ่งเส้นลากผ่านจากส่วนปลายจมูกพาดยาวไปจนถึงส่วนท้ายทอย ด้านข้างของหัวมีเส้นสีดำในลักษณะเดียวกันลากพาดจากด้านหลังตาไปจนถึงส่วนท้ายของกรามล่างข้างละเส้น มักพบอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีน้ำหรือความชุ่มชื้นสูง เช่น ริมห้วย หนอง คลอง บึง หรือท่อระบายน้ำ เป็นต้น

งูหลาม Burmese Python หรือ Python bivittatus bivittatus Kuhl, 1820 มีลักษณะ รูปร่าง และขนาดที่ใกล้เคียงกับงูเหลือม แต่มีความแตกต่างของลวดลายที่ช่วยให้สามารถระบุแยกชนอดจากงูเหลือมได้ไม่ยาก โดยลำตัวของงูหลามอาจพบได้ทั้งสีเหลืองจนกระทั่งสีน้ำตาล มีปื้นสีเข้มหรือสีน้ำตาลเข้มแต้มแต่ไม่เป็นระเบียบต่อ ๆ กันไปจากบริเวณคอไปยังสุดปลายหาง จุดสังเกตความแตกต่างที่ชัดเจนคือลวดลายบริเวณหัวสีเข้มรูปปลายหัวลูกศรบริเวณส่วนหัวด้านบน และแถบสีอ่อนหรือสีครีมขนาดใหญ่พาดจากปลายจมูกผ่านเหนือดวงตาแต่ละข้างก่อนเชื่อมเข้ากลับลวดลายบนตัวที่บริเวณส่วนท้ายทอย งูหลามพบได้ทั้งพื้นที่ที่มีความชื้นสูง พื้นที่ที่ค่อนข้างแห้งแล้ง และพื้นที่ที่เป็นทุ่งหญ้าแห้งริมทางสัญจรอย่างที่เห็นในภาพข่าว

งูทั้งสองชนิดไม่มีพิษ แต่เขี้ยวขนาดใหญ่และจำนวนที่มากอาจทำดูน่ากลัวในสายตาของคนทั่วไป งูทั้งสองชนิดใช้การจับและรวบตัวรัดเหยื่อจนตายก่อนกลืนเข้าไปทั้งตัว เหยื่อโดยส่วนมากตามธรรมชาติของงูตัวเต็มวัยคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดต่างๆ แปรผันตามขนาดตัวของงูเอง สุนัขและแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงหรือจรจัดในเมืองจึงกลายเป็นแหล่งอาหารปริมาณมาก อีกทั้งเดิมทีพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง และท่อระบายน้ำจำนวนมาก จึงช่วยอธิบายถึงจำนวนประชากรงูที่มากในเมืองหลวงแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้งูเหลือมและงูหลามต่างก็ถูกประกาศให้เป็นสัตว์คุ้มครองใน บัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อีกด้วย ดังนั้นการพยายามป้องกันไม่ให้งูเข้าบ้านหรือพยายามหาทางกำจัดไปให้หมดจึงเป็นเรื่องยาก การเข้าใจ ยอมรับ และการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องอย่าตื่นตระหนกเมื่อพบกับพวกมันเสียมากกว่าที่จะช่วยให้มนุษย์และงูอยู่ร่วมกันได้โดยที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเกิดความสูญเสีย

ถ้าความทรงจำผมยังคงไม่เลอะเลือน ก่อนหน้านี้เคยได้กล่าวถึงความแตกต่างและวิธีการระบุจำแนกชนิดของงูทั้งสองชนิดนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง ผมไม่แปลกใจถ้าจะต้องกล่าวอธิบายกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำและไม่อิดออดถ้าจะต้องอธิบายซ้ำหรือเมื่อถูกซักถามในเรื่องนี้

"อย่างน้อยก็ยังพอมีเรื่องให้เอ่ยถึง" ผมคิด ก่อนหยิบคว้าหน้ากากกรองฝุ่นขนาดเล็กจากการได้รับแจกจ่ายมาสวมใส่

เกี่ยวกับผู้เขียน
จองื้อทีแต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"


พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น