ในช่วงต้นปี 2562 นี้จะเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก” หรือที่มักเรียกกันว่า Super Full Moon ติดกันถึง 3 เดือน โดยในการนิยามว่าเดือนไหนจะเรียกว่าดวงจันทร์ใกล้โลกนั้น ก็มีการกำหนดหลักการไว้หลายรูปแบบด้วยกัน โดยขอยกตัวอย่างของหลักการง่ายๆ อันหนึ่งดังนี้
(1) เอาระยะทางที่ดวงจันทร์อยู่ไกลสุดในรอบปี ลบกับ ระยะที่ดวงจันทร์ใกล้สุดในรอบปี = จะได้ผลต่างของระยะทาง
(2) จากนั้นนำเอาผลต่างของระยะทาง ไปหาค่าร้อยละ 90 ของผลต่างระยะทาง
(3) แล้วจึงนำเอาค่าระยะทางร้อยละ 90 ลบกับ ระยะที่ดวงจันทร์ไกลสุดในรอบปี = จะได้ระยะทางที่นำไปใช้เป็นค่าอ้างอิงว่าหากอยู่ในระยะทางที่ไม่เกินจากการคำนวณ ก็จะสามารถนิยามว่าเดือนใดบ้างที่จะเกิดปรากฏการณ์ Super Full Moon
*** แต่ต้องเช็คดูก่อนด้วยว่าในช่วงนั้น ดวงจันทร์อยู่ในช่วงเต็มดวงด้วยหรือไม่ ซึ่งนี่ก็เป็นเพียงหลักการหนึ่งเท่านั้นที่ใช้บอกขอบเขตว่าเดือนไหนจะเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก”
ตัวอย่างเช่น
ดวงจันทร์อยู่ไกลที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่าง: 406,543 กิโลเมตร
ดวงจันทร์อยู่ใกล้ที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่าง: 356,753 กิโลเมตร
406,543 - 356,753 = 49,790
ร้อยละ 90 ของผลต่างระยะทาง (49,790) = 44,811
406,543 - 44,811 = 361,732
ดังนั้นจะได้ระยะห่างที่สามารถเรียกว่า ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก คือ : น้อยกว่า 361,732
ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก” ที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 มกราคม ครั้งที่ 2 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ และครั้งสุดท้าย วันที่ 21 มีนาคม “โดยที่ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี จะตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์” ในวันดังกล่าวดวงจันทร์จะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลก ที่ระยะห่างเพียง 365,836 กิโลเมตร
วันที่ 21 มกราคม 2562 ดวงจันทร์จะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลก ที่ระยะห่าง 357,706 กิโลเมตร
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ดวงจันทร์จะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลก ที่ระยะห่าง 356,836 กิโลเมตร
วันที่ 21 มีนาคม 2562 ดวงจันทร์จะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลก ที่ระยะห่าง 360,761 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตามหากเราถ่ายภาพปรากฏการณ์ Super Full Moon ไว้แล้ว ก็อย่าลืมตามถ่ายภาพปรากฏการณ์ Micro Moon ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 กันยายน 2562 ไว้เพื่อนำภาพมาเปรียบเทียบกัน โดยดวงจันทร์ในช่วงไกลโลก จะมีระยะห่างประมาณ 406,365 กิโลเมตร ทำให้ดวงจันทร์เต็มมีขนาดปรากฏเล็กที่สุดในรอบปี และหากเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์เต็มดวงขณะโคจรมาใกล้โลกกับไกลโลกที่สุด ช่วงไกลโลกที่สุดจะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าประมาณ 14% และมีความสว่างน้อยกว่าถึง 30%
เทคนิคการถ่ายภาพปรากฏการณ์ Super Full Moon
2. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 200-400 ซึ่งดวงจันทร์ในช่วงเต็มดวงจะมีความเข้มแสงมากอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ความไวแสงสูงๆ
3. การปรับโฟกัสภาพ ใช้ระบบ Live view ที่จอหลังกล้อง ช่วยการปรับโฟกัสให้คมชัดมากที่สุด โดยเลือกโฟกัสบริเวณหลุมอุกกาบาตบนผิวดวงจันทร์ จะช่วยให้สามารถโฟกัสได้คมชัดและง่ายมากที่สุด
4. ปรับชดเชยแสงไม่ให้โอเวอร์หรือสว่างมากไป โดยอาจทดลองถ่ายภาพแล้วตรวจสอบดูว่า ภาพเห็นรายละเอียดของหลุมบนดวงจันทร์ชัดเจนหรือไม่
5. ใช้โหมดการถ่ายภาพแบบแมนนวล M ซึ่งในการถ่ายภาพด้วยโหมด M เราสามารถปรับตั้งค่าทั้งรูรับแสง และความเร็วชัตเตอร์ ได้สะดวก
6. ความเร็วชัตเตอร์ ควรสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากเราใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 mm ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600s หรือมากกว่าซึ่งหากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไปก็ให้ปรับค่าความไวแสง (ISO) เพิ่มขึ้นจนได้แสงที่พอดี
7. รูรับแสง อาจใช้ค่ารูรับแสงประมาณ f/4.0 – f/8.0 เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งภาพ
8. ปิดระบบกันสั่นของเลนส์
9. ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง
10. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format ความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง
ไอเดียการถ่ายภาพ “Super Full Moon” ให้ดูใหญ่อลังการ
ไอเดียที่ 1 : การถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบนพื้นโลก (Moon Illusion)
สำหรับการถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบนพื้นโลก Moon Illusion หรือภาพลวงตานั้น คือการถ่ายภาพดวงจันทร์ในบริเวณที่อยู่ใกล้กับขอบฟ้า หรือใกล้กับวัตถุ ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ คน อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ปกติดวงจันทร์เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะมีขนาดปรากฏเชิงมุมเพียง 0.5 องศา (เหยียดแขนให้สุด ใช้นิ้วก้อยวัดขนาดเท่ากับ ครึ่งนิ้วก้อย)
ดังนั้นหากต้องการถ่ายภาพเปรียบเทียบกับวัตถุบนโลก ก็ต้องให้วัตถุดังกล่าวมีระยะห่างจากจุดถ่ายภาพไกลพอที่จะทำให้มองเห็นวัตถุนั้นๆ มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดปรากฏเชิงมุมเพียง 0.5 องศาเช่นกัน นอกจากการหาสถานที่ที่เหมาะสมแล้ว การเลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ และการเลือกโฟกัสที่ฉากหน้าหรือตัววัตถุที่ต้องการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบกับขนาดของดวงจันทร์ก็เป็นอีกสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ (โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมตามลิงก์ :https://goo.gl/oihGyj" CLASS="innerlink" TARGET="_blank"> https://goo.gl/oihGyj)
ไอเดียที่ 2 : ถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงเที่ยงคืน เพื่อให้ได้ขนาดใหญ่ที่สุด
เทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงให้ได้ขนาดใหญ่ที่สุด “คือการถ่ายภาพในช่วงเที่ยงคืน” เนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งใกล้ผู้สังเกตบนโลก โดยตำแหน่งในช่วงเที่ยงคืนนั้นเป็นไปตามหลักการของการหมุนรอบตัวเองของโลก ที่ทำให้ตำแหน่งของผู้สังเกตในช่วงเวลาต่างๆ มีระยะห่างจากดวงจันทร์ที่แตกต่างกันนั่นเอง ดังที่เสนอในแผนภาพข้างล่าง ซึ่งในขณะเที่ยงคืนนั้นนอกจากดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับผู้สังเกตแล้ว ดวงจันทร์ยังอยู่บริเวณกลางท้องฟ้าทำให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่ชัดเจนและใสเคลียร์อีกด้วย
ไอเดียที่ 3 : ถ่ายภาพเปรียบเทียบขนาดกับช่วงที่ดวงจันทร์ในช่วงไมโครมูน (Micro Moon)
แต่อย่างไรก็ตาม ผมแนะนำว่าเราอาจถ่ายภาพปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2562 ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ไว้ก่อน แล้วเมื่อถึงวันที่ 14 กันยายน 2562 ก็ตามถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปีอีกครั้ง เพื่อนำเอาทั้งสองภาพมาเปรียบเทียบกัน ก็จะได้ภาพที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันมากที่สุด
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน