วช.ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดเสวนา เรื่อง “ธูป...ทำบุญ...ผลต่อสุขภาพ...มะเร็ง???” พร้อมแนวทางการรับมือฝุ่น PM 2.5 ในเชิงรุก
จากงานวิจัย “สารก่อมะเร็ง : ภัยเงียบที่มากับควันธูป” ของนายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ โรงพยาลวิชัยยุทธ และ ดร. พนิดา นวสัมฤทธิ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบว่า ควันธูปมีสารก่อมะเร็ง 3 ชนิด ได้แก่ เบนซีน บิวทาไดอีน และ เบนโซเอไพรีน เพราะธูปเป็นเครื่องหอมที่ทำจากขี้เลื่อย กาว น้ำมันหอมสกัดจากพืช ไม้หอม ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ เมล็ดพืช เรซิน และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมก็จะพอกอยู่บนก้านไม้
ธูปมีหลายรูปหลายขนาดตั้งแต่เล็กถึงใหญ่มากๆ เผาไหม้หมดในเวลา 20 นาที - 3 วัน 3 คืน ซึ่งในประเทศไทย ในการบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ บางคนต้องจุดธูปถึง 9 ดอก ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่ามีคนจุดธูปทั่วโลกปีหนึ่งๆ เป็นหมื่นถึงแสนตัน และทุกๆ 1 ตัน ของธูปจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 325.1 กิโลกรัม และก๊าซมีเทน 7.2 กิโลกรัม หากปีหนึ่งทั้งโลก มีคนจุดธูปเป็นหมื่นถึงแสนตัน จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทนออกมาเป็นจำนวนมหาศาล
จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “ธูป...ทำบุญ...ผลต่อสุขภาพ...มะเร็ง???” เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช. 1 โดยมี พลโท ชัยยุทธ พร้อมสุข ประธานคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนา
การเสวนาดังกล่าวเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ จนนำไปสู่การตกผลึกในวิธีการดำเนินการและแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทย และเพื่อศึกษาเป็นไปได้ในการออกข้อกำหนดเพื่อควบคุมการผลิตธูป และสถานที่ ที่ควรระมัดระวังในการใช้ธูป พร้อมทั้งแถลงข่าวเรื่อง “การรับมือเชิงรุกกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5…ท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก ประธานคณะอนุกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมชุมชนเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายสมปรารถนา สุขทวี ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนการวิจัย ร่วมกันแถลงข่าว