สถานีเรดาร์ชายฝั่งที่อันดามันครั้งแรก ส่งสัญญาณของความพร้อมรองรับสถานการณ์ทะเลไทย
หากมองย้อนกลับไปในอดีตสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากทะเลทำได้เพียงคาดการณ์หรือพยากรณ์เพียงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สึนามิ Storm surge คลื่นซัดฝั่ง หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่สร้างความเสียหายสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Marine GI Intelligence: Insightful Journey กับมิติใหม่ เพื่อบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรทางทะเล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย" เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 ณ โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท จังหวัดกระบี่
พร้อมกันนี้จิสด้าได้ร่วมลงนามความร่วมมือด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพื่อการบริหารจัดการวิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดกระบี่ และบริเวณโดยรอบ และยังลงพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานแอปพลิเคชัน Gcoast ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว บริเวณเกาะลันตา และอ่าวนาง มุ่งพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ และความเชื่อมั่นทางด้านการท่องเที่ยวของทะเลและชายฝั่ง
พันตำรวจโท หม่อมหลวง กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่มีการเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี นักท่องเที่ยวอยากเห็นความงดงามของธรรมชาติ ความเป็นสากลของการท่องเที่ยว และมีมาตรฐานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย
"นับว่าเป็นประโยชน์มากที่จิสด้าเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับชาวกระบี่ และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยและการรักษาทรัพยากรชายฝั่งขึ้นไปอีก ดังนั้น เรดาร์ชายฝั่งและอุปกรณ์การเตือนภัยต่างๆ จึงเป็นข้อมูลวิเคราะห์สถานการณ์ที่สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี"
ทางด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า ปัจจุบันจิสด้าได้ติดตั้งสถานีเรดาร์ชายฝั่งรอบอ่าวไทยมาแล้วกว่า 22 สถานี และวันนึ้เรามาลงที่ฝั่งอันดามัน โดยนำร่องที่ จ.กระบี่ เป็นที่แรก ถึง 2 สถานี คือที่อ่าวนาง และเกาะลันตา ซึ่งครอบคลุมอ่าวกระบี่ อ่าวพังงา และบางส่วนของจังหวัดภูเก็ต ประกอบกับศักยภาพของพื้นที่เอง เมื่อผนวกกับทรัพยากรทางทะเลและกิจกรรมทางทะเลที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ทำให้มีศักยภาพต่อการพัฒนาในทุกๆด้าน
นอกจากนี้ ดร.อานนท์กล่าวว่าพื้นที่ จ.กระบี่ และชายฝั่งอันดามันโดยรอบ ยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกทุกปี ไม่ว่าจะเป็นภาวะเรือนกระจกที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น คลื่นลมแรง การกัดเซาะชายฝั่ง การปล่อยน้ำเสีย การเกิดมลพิษทางทะเลหรือจะเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ เป็นต้น และในอนาคตเราก็จะติดตั้งระบบดังกล่าวบริเวณชายฝั่งอันดามันให้ครอบคลุมมากขึ้น
“ข้อมูลที่ได้จากสถานีเรดาร์ เราเรียกว่า ข้อมูลการตรวจวัดจากเรดาร์ เช่น ข้อมูลตรวจวัดสภาพลม ตรวจวัดความเร็วทิศทางของกระแสน้ำ ความสูงและทิศทางของคลื่นทางทะเล โดยข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดเรดาร์เหล่านี้ จะถูกส่งกลับไปยังสถานีรับข้อมูลของจิสด้า ณ หน่วยปฏิบัติงานที่บางเขน และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อทำการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล ก่อนส่งให้กับผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องต่อไป”
ผอ.จิสด้า กล่าวอีกว่า ชุมชนจะได้รับประโยชน์จากข้อมูลเรดาร์ชายฝั่งแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มประมงพื้นบ้านจะใช้ดูทิศทางของลมและกระแสน้ำ รวมถึงความสูงของคลื่นในทะเล เพื่อดูความเหมาะสมของการออกเรือเพื่อจับปลาหรือสัตว์น้ำได้ไหม เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สำหรับด้านการบริหารจัดการทะเล เช่น ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอย่างเหตุการณ์คราบน้ำมัน ขยะทะเล หรือแม้แต่เรือล่ม ก็จะได้วางแผนดูที่มาที่ไปของเหตุการณ์ การวิเคราะห์สถานการณ์ ระดับความรุนแรง รวมถึงการเก็บกู้หรือการสลายได้ทันเวลา อีกทั้งคาดการณ์และประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากพายุ เช่น Storm surge ได้อีกด้วย