xs
xsm
sm
md
lg

ชี้อุตสาหกรรมชีวภาพเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจร่วมแสดงวิสัยทัศน์ความท้าทายและโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2019 ระบุความเหลื่อมล้ำในภาคเกษตรทำให้ปรับตัวได้ยากท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวน แต่ก็เป็นโอกาสสร้างอุตสาหกรรมชีวภาพ

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ภายในงาน Thailand Economic Challenges 2019 เมื่อวันที่ 7 ม.ค.62 ณ โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อกอร์

ดร.สมคิดเผยว่า เศรษฐกิจในปี พ.ศ.2562 อยู่ท่ามกลางความไม่นอน อึมครึม จากปัจจัยภายนอกที่สหรัฐฯ และจีนทำสงครามการค้า และปัจจัยภายในที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ทราบว่าใครจะเป็นรัฐบาล แล้วรัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะสานต่อนโยบายเดิมหรือไม่

ทว่าปัจจัยภายใน ดร.สมคิดระบุว่าเป็นสิ่งที่น่าจะควบคุมได้ แม้เราจะมองไปข้างหน้าได้ไม่ชัด แต่โอกาสยังมีเพราะไม่มียุคไหนที่เราจะรับมือจีนและญี่ปุ่นได้ดีเท่านี้ เมื่อจีนมีนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ไทยก็เป็นเป้าหมายแรกๆ ที่จีนเข้ามาเพื่อเชื่อมไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV แม้จะมีมาเลเซียและเวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญ

"หน้าที่ทีมเศรษฐกิจคือพยุงเศรษฐกิจและปฏิรูปประเทศ ซึ่งทำไม่ง่าย เพราะฐานรากของเราจน 20-30% ของประชากรเป็นเกษตรกร ที่ผลิตสินค้ามูลค่าน้อย มีการเชื่อมโยงต่อตลาดน้อย เราต้องหาผู้นำเกษตรกรที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้ในภาคเกษตร" ดร.สมคิดกล่าวระหว่างบรรยายพิเศษ

ทางด้าน ดร.อุตตม กล่าวถึง disrupt technology ว่าเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส แต่ความเหลื่อมล้ำทำให้การปรับตัวทำได้ยาก โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ความเหลื่อมล้ำสูง แต่อีกแง่หนึ่งภาคการเกษตรก็พลิกมาเป็นจุดแข็งได้ โดยการติดเครื่องยนต์ใหม่ให้เป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งเหมาะกับไทยมาก

"อุตสาหกรรมชีวภาพน่าสนุก เราจะเริ่มด้วยอ้อย ที่ผ่านมากฎหมายกำหนดให้น้ำอ้อยใช้ทำน้ำตาลได้เท่านั้น ตอนนี้เรากำลังแก้กฎหมายให้เอาน้ำอ้อยไปทำอย่างอื่นได้ เทคโนโลยีมีแล้ว รอแค่กฎหมายมาเปลี่ยน สร้างอุตสาหกรรมชีวภาพเอาน้ำอ้อยไปทำอาหารเฉพาะทาง ยา เครื่องสำอาง ต้องเร่งขับเคลื่อน โอกาสมาแล้ว เรากำลังให้เกิดในอีสานกับภาคกลางตอนล่าง" ดร.อุตตมกล่าว

นอกจากนี้ ดร.อุตตมยังกล่าวถึงการสร้างทักษะให้แก่คนรุ่นถัดไปเพื่อสร้างนวัตกรรม เนื่องจากเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่มีพลังมาก และเทคโนโลยีปัจจุบันราคาไม่แพง นับเป็นโอกาสสำหรับคนไทย เพราะคนไทยมีความสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มเพื่อสร้างทักษะให้คนรุ่นใหม่อยู่ที่ จ.จันทบุรี ที่มีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพ และมีภาคเอกชนร่วมลงทุน

ส่วน ดร.สุวิทย์ ได้กล่าวถึงการวางความพร้อมด้านต่างๆ เช่น ความพร้อมทางด้าน Big Data จากข้อมูลดาวเทียม ที่จะนำไปสู่การสร้างสวัสดิภาพส่วนบุคคลได้อนาคต หรือการส่งเสริมนักศึกษาอาชีวะ ซึ่งนับเป็น "เมกเกอร์" (maker) ที่มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจ พร้อมทั้งให้ข้อมูลถึงอันดัยความสามารถทางด้านนวัตกรรมของไทยว่าขยับขึ้นมาถึง 16 อันดับในเวลาเพียง 3 ปี โดยปี '58 อยู่ที่อันดับ 67 ของโลก แล้วขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 50 ในปี '61

สำหรับรูปแบบการจัดงาน Thailand Economic Challenges 2019 นั้นเป็นงานสัมมนาเพื่อชี้ทิศทาง คาดการณ์และวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี พ.ศ.2562 โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจอุตสหกรรมได้ทราบถึงสถานการณ์สำคัญต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถกำหนดแผนยุทธศาสตร์ เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันทั้งในประเทศ ตลอดจนพัฒนาสู่การแข่งขันในตลาดโลก




กำลังโหลดความคิดเห็น