xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าถ่ายภาพในปี 2019

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์


สำหรับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจในปี 2562 นี้ โดยส่วนมากจะเกี่ยวกับดวงจันทร์เสียส่วนใหญ่ แต่ก็เข้ากับธีมของดาราศาสตร์ ที่ถือเป็นปีที่ครบรอบ 50 ปี ของการไปเยือนดวงจันทร์ โดยปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเริ่มกันตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม คือปรากฏการณ์ Super Moon ติดต่อกันถึง 3 เดือน และตามด้วยจันทรุปราคาบางส่วน Micro Moon และสุริยุปราคาบางส่วน แต่สำหรับปรากฏการณ์ฝนดาวตกนั้นก็ยังมีให้ตามถ่ายภาพกันได้ แต่ฝนดาวตกใหญ่ๆ เช่น ลีโอนิดส์ เจมีนิดส์ นั้นในวันดังกล่าวมีดวงจันทร์รบกวน ช่างสมกับเป็นปีแห่งดวงจันทร์จริงๆ ครับ เอาหล่ะเรามาดูกันว่าปีนี้เราจะถ่ายอะไร ถ่ายยังไงกันบ้าง ติดต่อต่อในคอลัมน์ได้เลยครับ

ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก (Super Full Moon) : 21 มกราคม 2562
ภาพถ่าย Moon Illusion โดยการถ่ายดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ  (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 7D / Lens : Astrotech 5 Inch / Focal length : 1,200 mm. / Aperture : f/8 / ISO : 800 / Exposure : 1/800s)
สำหรับปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกในปีนี้ เกิดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ครั้งที่ 1 วันที่ 21 มกราคม ครั้งที่ 2 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ และครั้งสุดท้าย วันที่ 21 มีนาคม “โดยที่ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี จะตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์” ในวันดังกล่าวดวงจันทร์จะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลก ที่ระยะห่าง 365,836 กิโลเมตร ทำให้ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงจันทร์เต็มดวงปกติ ประมาณ 6.3 เปอร์เซนต์ สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 18.10 น. โดยประมาณ ทางทิศตะวันออกเป็นต้นไป


Super Full Moon หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงในตำแหน่งใกล้โลก ที่ทำให้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ สำหรับช่วงปกตินั้นดวงจันทร์จะมีระยะห่างเฉลี่ย 382,000 กิโลเมตร โดยเราให้คำกำจัดความของคำว่า Super Moon นั้นเมื่อดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 360,000 กิโลเมตรลงมา และ Micro Moon หรือดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เมื่อดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 400,000 กิโลเมตรขึ้นไป (รายละเอียดการถ่ายภาพ ตามลิงก์ : https://goo.gl/uAxJhz) ฝนดาวตก (Meteor shower) : 6 พฤษภาคม 2562





ฝนดาวตก (Meteor shower) : 6 พฤษภาคม 2562



ภาพถ่ายปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ โดยการตั้งกล้องถ่ายภาพแบบติดตามวัตถุท้องฟ้าด้วยขาตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบตามดาว โดยเริ่มต้นถ่ายตั้งแต่ช่วงเวลา 21.30 -01.30 น. ซึ่งปรากฏการณ์ฝนดาวตกดังกล่าวมีจำนวนฝนดาวตกมากที่สุดในช่วงเวลาใกล้เที่ยงคืนเป็นต้นไป (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 4000 / Exposure : 30 sec x 26 Images)

สำหรับปรากฏการณ์ฝนดาวตก ในปีนี้ก็มีให้ชมกันตลอดทั้งปี แต่ที่น่าจับตาได้แก่ ฝนดาวตกควอดรานติดส์ ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์ และฝนดาวตกเดลต้า- อควอริดส์ เนื่องจากช่วงวันที่ตรงกับปรากฏการณ์ฝนดาวตก ไม่มีแสงจันทร์รบกวน โดยมีช่วงเวลาในการสังเกตดังนี้


ฝนดาวตกควอดรานติดส์ : 3-4 มกราคม (เฉลี่ย 120 ดวงต่อชั่วโมง) สามารถสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.30 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 4 มกราคม ศูนย์กลางการกระจายอยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มดาวมังกร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ


ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์ : 6-7 พฤษภาคม (เฉลี่ย 50 ดวงต่อชั่วโมง) สามารถสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งมีอัตราการตก 50 ดวงต่อชั่วโมง ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ


ฝนดาวตกเดลต้า- อควอริดส์ : 30-31 กรกฎาคม (เฉลี่ย 25 ดวงต่อชั่วโมง) สามารถสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 21.00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 31 กรกฎาคม ซึ่งมีอัตราการตก 25 ดวงต่อชั่วโมง ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (รายละเอียดการถ่ายภาพ ตามลิงก์ : https://goo.gl/MRVuXN)





ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) : 17 กรกฎาคม 2562

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน เกิดขึ้นในวันที่ 17 กรกฎาคม สามารถสังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย ตั้งแต่เวลาประมาณ 01:44 - 06:00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) จะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงค่อย ๆ เว้าแหว่งไปทีละน้อย โดยเงาโลกบังมากที่สุดประมาณร้อยละ 65 ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ ในเวลาประมาณ 04.30 น.


ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ หากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามืดของโลกแค่บางส่วน เรียกว่า “จันทรุปราคาบางส่วน”


สำหรับปรากฏการณ์นี้นอกจากการถ่ายภาพแล้วเรายังสามารถนำเอาภาพถ่ายปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ไปใช้ในการหาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโลกได้อีกด้วย (รายละเอียดการถ่ายภาพ ตามลิงก์ : https://goo.gl/mey2zE)



ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลก (Micro Moon) : 14 กันยายน 2562



ปรากฏการณ์ไมโครมูน (Micro Moon) ซึ่งเป็นวันที่ดวงจันทร์ “เต็มดวงและโคจรอยู่ห่างจากโลกที่สุด” เกิดขึ้นในวันที่ 14 กันยายน 2562 ที่ระยะห่างประมาณ 406,365 กิโลเมตร ให้คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏเล็กที่สุดในรอบปี และหากเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์เต็มดวงขณะโคจรมาใกล้โลกกับไกลโลกที่สุด ช่วงไกลโลกที่สุดจะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าประมาณ 14% และมีความสว่างน้อยกว่าถึง 30% (รายละเอียดการถ่ายภาพ ตามลิงก์ : https://goo.gl/Swkm9u)


ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse) : 26 ธันวาคม 2562

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน 26 ธันวาคม สังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย ตั้งแต่เวลาประมาณ 10:18 - 13:57 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 81 ซึ่งการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้ถึงแม้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บังมากถึงร้อยละ 81 แต่แสงสว่างของดวงอาทิตย์ยังมีความเข้มสูง จึงจำเป็นต้องถ่ายภาพผ่านแผ่นกรองแสงดวงอาทิตย์ เช่น แผ่นไมล่า หรือ เป็นวัสดุโพลีเมอร์สีดำ ที่ให้แสงดวงอาทิตย์เป็นสีแดงอมส้ม (รายละเอียดการถ่ายภาพ ตามลิงก์ : https://goo.gl/PSWC9v)


นอกจากปรากฏการณ์ที่กล่าวในข้างต้นแล้ว ในปีนี้ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เราก็ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับใครที่ชื่นชอบการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ คือ “การถ่ายภาพดาราศาสตร์ มาราธอน Astrophotography Marathon 2019” โดยกิจกรรมนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 9-10 มีนาคม 2562 เริ่มรับสมัครกันได้ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ใครที่อยากไปร่วมทริปก็สมัครกันได้เลยครับ รายละเอียดตามลิงก์ : https://goo.gl/vLjsNz


เกี่ยวกับผู้เขียน ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย” “คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย” อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น