เพิ่งจะนับถอยหลังกันไม่นาน ก็วนมาถึงวาระส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่กันอีกแล้ว ตลอดปี 2018 มีเหตุการณ์สำคัญ การค้นและการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจไม่น้อย ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์คัด 5 เรื่องในรอบปีมานำเสนอ
- “สตีเฟน ฮอว์กิง” อัจฉริยะแห่งศตวรรษ 21 จากลาชั่วนิรันดร์ -
เดิมทีวันที่ 14 มี.ค.เป็นวันที่โลกจดจำว่าเป็นคล้ายวันเกิดของ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” นักฟิสิกส์ผู้โด่งดัง แต่หลังจากปี ค.ศ.2018 เราจะได้จดจำว่ายังเป็นวันที่ ศ.สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) ได้เสียชีวิตลง หลังจากมีชีวิตอยู่เย้ยคำวินิจฉัยของแพทย์มากว่า 50 ปี
ฮอว์กิงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม (motor neurone disease) เมื่อปี 1963 โดยแพทย์ระบุว่าเขามีโอกาสมีชีวิตอยู่ต่อได้เพียง 2 ปี แต่เขาก็มีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 76 ปี แม้จะต้องนั่งติดรถเข็นเนื่องจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (amyotrophic lateral sclerosis: ALS) ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคที่โจมตีเซลล์ประสาทสั่งการที่ควบคุมการเคลื่อนไหว
ฮอว์กิงเคยบอกถึงเป้าหมายของตัวเองว่า มีเป้าหมายที่เรียบง่ายนั่นคือทำความเข้าใจเอกภพได้อย่างหมดจด งานส่วนใหญ่ของเขาจะพุ่งไปที่การรวมสัมพัทธภาพต่างๆ ทั้งธรรมชาติของอวกาศและเวลา ทฤษฎีควอนตัม และพฤติกรรมของอนุภาคเล็กที่สุดในเอกภพ เพื่ออธิบายการกำเนิดของเอกภพ และการวางระเบียบของเอกภพ
นอกจากงานวิชาการแล้ว เขายังเข้าถึงมวลชนด้วยการเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์เพื่อคนทั่วไป และหนังสือที่เล่าเรื่องทฤษฎีพื้นฐานของเอกภพ A Brief History of Time ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 1988 ก็ทำให้เขาดังเป็นพลุแตก และเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อีกทั้งเขายังปรากฏตัวในภาพยนตร์ "Star Trek: The Next Generation" กับ "The Simpsons" และยังมีภาพยนตร์เล่าถึงชีวิตรักของเขากับภรรยาคนแรกเรื่อง The Theory of Everything ที่ส่งผลให้นักแสดงนำชายคว้ารางวัลออสการ์ไปครอง
- โลกได้ยินเสียงลมดาวอังคารครั้งแรก -
องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ยังคงเดินหน้าสำรวจดาวอังคารอย่างต่อเนื่อง และยานลำล่าสุดอินไซต์ (InSight) ซึ่งลงจอดดาวอังคารเมื่อ 26 พ.ย.2018 ก็สร้างสถิติให้ตัวเองและชาวโลก ด้วยการบันทึกการสั่นไหวของสายลมหนาวที่กรรโชกบนดาวอังคาร โดยได้บันทึกสายลมที่มีความเร็ว 5-7 เมตรต่อวินาที ขณะพัดผ่านแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของยาน กลายเป็นเสียงจากดาวอังคารเสียงแรกที่มนุษย์ได้ยิน
แม้ว่าก่อนหน้านั้นยานลงจอดของนาซา 2 ลำ คือยานไวกิง 1 และ ยานไวกิง 2 เคยจับสัญญาณของลมบนดาวอังคารได้เมื่อลงจอดในปี ค.ศ.1976 แต่เสียงที่บันทึกนั้นทุ้มในระดับความถี่ที่มนุษย์ฟังไม่ได้ อีกทั้งยานรุ่นบุกเบิกทั้งสองก็ไม่ได้ส่งเสียงที่มนุษย์สามารถได้ยินได้กลับมา
ฟังเสียงลมของดาวอังคาร ได้ที่ http://www.nasa.gov/insightmarswind
- ผู้หญิงคว้าโนเบลฟิสิกส์ครั้งแรกใน 55 ปี -
นานๆ ครั้งกว่าเราได้จะเห็นผู้หญิงสักคนหนึ่ง ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์และปี ค.ศ.2018 นี้ก็เป็นปีแรกในรอบ 55 ปีที่มีผู้หญิงได้รับรางวัลในสาขานี้ เธอผู้นั้นคือ “ดอนนา สตริคแลนด์” (Donna Strickland) จากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู (University of Waterloo) แคนาดา ที่ได้รับรางวัลร่วมกับอาเธอร์ แอชกิน (Arthur Ashkin) เจอราร์ด มูรู (Gérard Mourou) จากผลงานบุกเบิกทางด้านเลเซอร์
สตริคแลนด์นั้นได้รับรางวัลร่วมกับ ดร.เจอราร์ด มูรู จากฝรั่งเศส ด้วยผลงานในการสร้างเลเซอร์ความเข้มสูงที่มีความยาวคลื่นสั้นมากๆ โดยแบ่งเงินรางวัล 50% ของทั้งหมดกันคนละครึ่ง ส่วนรางวัลอีก 50% ที่เหลือเป็นของ อาเธอร์ แอชกิน จากผลงานคีมจับเชิงแสง (Optical Tweezers) และการประยุกต์ใช้กับระบบทางชีววิทยา
ผู้หญิงที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ก่อนหน้านี้คือ มาเรีย จี เมเยอร์ (Maria G. Mayer) ซึ่งได้รับรางวัลเมื่อปี ค.ศ.1963 โดยเธอได้พยากรณ์ว่า อะตอมสามารถดูดกลืนโฟตอนได้ 2 โฟตอน และสตริคแลนด์ก็ได้อ้างอิงแนวคิดดังกล่าวในงานวิทยานิพนธ์ของเธอด้วย
- วอยเอเจอร์หลุดอิทธิพลสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์ -
นาซาเผยว่ายาน “วอยเอเจอร์ 2” (Voyager 2) ได้หลุดจาก “สุริยมณฑล” หรือ “เฮลิโอสเฟียร์” (heliosphere) ซึ่งเป็นขอบเขตที่มีอนุภาคและสนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์ปกป้องอยู่ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ ได้ไปถึงขอบเขตระหว่างดวงอาทิตย์และดวงดาวดวงอื่นๆ ซึ่งจากการเปรียบเทียบเครื่องมือวัดหลายๆ ตัวที่ติดตั้งบนยาน จึงได้ข้อสรุปว่ายานหลุดไปจากสุริยะมณฑลเมื่อ 5 พ.ย.2018
ขอบเขตของสุริยมณฑลเรียกว่า “เฮลิโอพอส” (heliopause) ซึ่งเป็นบริเวณที่ลมสุริยะที่ร้อนแต่บางเบา ได้ปะทะกับตัวกลางระหว่างดวงดาวที่หนาแน่นและหนาวเย็น แต่ยานวอยเอเจอร์ 2 ยังไม่หลุดจากการควบคุมของดวงอาทิตย์ จนกว่าจะพ้นจากขอบเขตเมฆออร์ต (Oort Cloud) ที่เชื่อว่าเป็นสุดขอบของระบบสุริยะ โดยคาดว่ายานต้องใช้เวลาอีกราว 30,000 ปี เพื่อบินหลุดออกไป
- ภูเขาไฟอินโดปะทุก่อสึนามิส่งท้าย 2018 -
นับเป็นข่าวเศร้าส่งท้ายปีเมื่อภูเขาไฟอานัก กรากาตัว (Anak Krakato) ในอินโดนีเซียได้ปะทุ และส่งผลให้เกิดสึนามิซัดชายฝั่งและคร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยคนเมื่อคืนวันที่ 22 ธ.ค. สึนามิที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีสัญญาณบ่งบอก เพราะระบบเตือนภัยไม่สามารถตรวจวัดการสั่นสะเทือนหรือแผ่นดินไหว ที่มักเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าจะเกิดสึนามิตามมา
อานัก กรากาตัว มีความหมายว่า “ลูกของกรากาตัว” โดยเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1928 จากปล่องภูเขาไฟกรากาตัวที่เคยระเบิดรุนแรงเมื่อ 27 ส.ค.1883 และได้ก่อสึนามิที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 36,000 คน กรากาตัวยังปล่อยเถ้าภูเขาไฟสู่บรรยากาศสูงถึง 20 กิโลเมตร และเสียงระเบิดได้ยินถึงออสเตรเลีย รวมถึงบริเวณใกล้ประเทศมอริเชียสในคาบสมุทรอินเดียที่อยู่ไกลออกไปถึง 4,500 กิโลเมตร
สำหรับอานักกรากาตัวนั้นปะทุมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.แล้ว แล้วได้ปลดปล่อยเถ้าปริมาณมหาศาลขึ้นสู่ท้องฟ้า และเมื่อเดือน ต.ค.ก็พ่นลาวาที่เกือบเฉียวไปถูกเรือนักท่องเที่ยว แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการปะทุของอานัก กรากาตัวนั้นไม่จัดว่ารุนแรงนั้นเมื่อเทียบกับระดับการระเบิดของภูเขาไฟ