สดร. เผยภาพ “ดาวหาง 46 พี เวอร์ทาเนน”
เคียงคู่ กระจุกดาวลูกไก่ ในกลุ่มดาววัว (Taurus) บันทึกเมื่อ 16 ธ.ค 61
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพ ดาวหาง 46 พี เวอร์ทาเนน ปรากฏเคียงข้างกระจุกดาวลูกไก่ บริเวณกลุ่มดาววัว บันทึกช่วงก่อนรุ่งเช้าของวันที่ 16 ธันวาคม 2561 บริเวณอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ สามารถสังเกตดาวหางนี้ได้ด้วยกล้องสองตา และจะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในคืนนี้ คาดว่าจะมีค่าความสว่างมากขึ้นจนอาจสังเกตได้ด้วยตาเปล่าในที่มืดสนิท ในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันออก เชิญชวนผู้สนใจติดตามปรากฏการณ์ดังกล่าวตลอดเดือนธันวาคมนี้
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ดาวหาง 46พี เวอร์ทาเนน (46/P Wirtanen) โคจรเข้าใกล้โลกที่สุดคืนวันที่ 16 ธันวาคม 2561 ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 11.5 ล้านกิโลเมตร นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีค่าความสว่างสูงสุดประมาณแมกนิจูด 3 อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
สำหรับค่าความสว่างที่ตาคนเราสามารถสังเกตเห็นได้อยู่ที่แมกนิจูด 6 ยิ่งค่าน้อยยิ่งมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น โดยขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้าควรมืดสนิทปราศจากแสงและเมฆรบกวน สำหรับประเทศไทยสังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ เวลาประมาณหนึ่งทุ่มถึงตีสี่ บริเวณกลุ่มดาววัว สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า หรือกล้องสองตาที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 7-10 เท่าขึ้นไป หรือกล้องโทรทรรศน์
หากต้องการถ่ายภาพ ควรเลือกช่วงเวลาที่ดาวหางอยู่ในตำแหน่งสูงจากขอบฟ้ามากที่สุด เพื่อหลีกหนีมวลอากาศที่บริเวณขอบฟ้า สิ่งสำคัญคือต้องถ่ายภาพในบริเวณ ที่มืดสนิท ไม่มีแสงไฟ แสงดวงจันทร์หรือเมฆหมอกรบกวน
สำหรับภาพดาวหาง 46พี เวอร์ทาเนน นี้ ได้บันทึกไว้ก่อนรุ่งเช้าของวันที่ 16 ธันวาคม 2561 เวลาประมาณ 02.00น. ดาวหาง 46พี เวอร์ทาเนน ปรากฏทางทิศตะวันออก เคียงข้างกระจุกดาวลูกไก่ บริเวณกลุ่มดาวตาวัว สังเกตเห็น ดาวอัลดิบาแรน หรือที่คนไทยเรียกว่าดาวตาวัว เป็นสีส้มสว่างอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามบริเวณที่บันทึกภาพ ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เมือง มีแสงเมืองรบกวนค่อนข้างมาก แต่หากสังเกตการณ์หรือบันทึกภาพในพื้นที่ที่มืดสนิท ไม่มีแสงเมืองรบกวนจะสังเกตได้ชัดเจนกว่านี้มาก
ดาวหาง 46พี เวอร์ทาเนน (46P/Wirtanen) เป็นดาวหางคาบสั้นขนาดเล็ก มีแหล่งกำเนิดจากบริเวณแถบไคเปอร์ ถัดจากวงโคจรของดาวเนปจูน ค้นพบโดย คาร์ล เอ. เวอร์ทาเนน นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.2 กิโลเมตร จะโคจรมาใกล้โลกประมาณทุก 5 ปี แต่สำหรับปีนี้ นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีความสว่างมากที่สุด และมีโอกาสสังเกตเห็นด้วยตาเปล่า จึงเป็นดาวหางที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง