xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.เผยทำผลงานสร้างผลกระทบเศรษฐกิจและสังคม 4.5 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล แถลงผลงาน
สวทช.เผยปี 2561 ถ่านทอดผลงาน 261 โครงการ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท พร้อมเปิดกลยุทธ์ปี 2562 ด้วยรหัส 6-6-10 ขับเคลื่อนงานวิจัย สลายการเป็นศูนย์แห่งชาติสู่เสาหลักเพื่อสร้างงานวิจัยแถวหน้าที่สร้าง 10 เทคโนโลยีในอนาคต

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมผู้บริหารแถลงผลงานปี 2561 พร้อมเปิดกลยุทธ์ขับเคลื่อนงานวิจัยปี 2562 ภายใต้แนวคิด NSTDA Beyond Limits : 6-6-10 ติดปีอุตสาหกรรมนำนวัตกรรมไทยสู่สากล เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.61 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล

ดร.ณรงค์เผยว่า ตลอดปี 2561 สวทช.ได้ถ่ายทอดผลงาน 261 โครงการ ให้แก่หน่วยงานต่างๆ รวม 335 หน่วยงาน ซึ่งสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 45,000 ล้านบาท และผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของภาคการผลิตและบริการ เป็นมูลค่าเกือบ 14,000 ล้านบาท พร้อมทั้งยกตัวอย่างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เช่น

ผลิตภัณฑ์ดูดจับสารพิษจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารสัตว์ จากเอนไซม์โปรติเอส (Enzyme Protease) ที่พัฒนาโดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.ร่วมกับผู้ประกอบการไทย ซึ่งได้ถ่ายทอดให้แก่บริษัทในสิงคโปร์ โดยได้รับการประเมินเป็นมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญามากกว่า 6,000 ล้านบาท ผลิตดังกล่าวช่วยลดความเสียในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง ป้องกันสัตว์ตายก่อนเจริญเติบโต

สารยับยั้งแบคทีเรียหรือสารกันบูดจากโปรตีนไข่ขาว “ไลโซไซม์” (Lysozyme) ที่พัฒนาโดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัทเบลเยียมคือ บริษัท ดีเอ็มเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โว่ ฟู้ดเทค จำกัด บริษัทสัญชาติไทย เพื่อผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ โดยกำลังติดตั้งเครื่องจักรและทดลองผลิตสารยับยั้งดังกล่าวในประเทศไทยเร็วๆ นี้

เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย สวทช.ยังได้ร่วมกมือกับญี่ปุ่นพัฒนาข้อเข่าเทียมที่มีโครงสร้างเหมาะสำหรับชาวไทยและญี่ปุ่น เนื่องจากปัจจุบันข้อเข่าเทียมที่ใช้กันอยู่นั้นพัฒนาและออกแบบมาจากยุโรปและอเมริกา ซึ่งอนาคตคนไทยจะได้ใช้ข้อเข่าที่เหมาะสมต่อสรีระชาวไทย

ขณะเดียวกัน สวทช.โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ร่วมมือกับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ พัฒนาระบบบริการถ่ายทอดการสื่อสาร สำหรับคนพิการทางการได้ยิน และคนพิการทางการพูด และมีศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (Thai Telecommunication Relay Service) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการทางการได้ยิน โดยเฉพาะกรณีที่ผู้พิการเหล่านี้ประสบอุบัติเหตุและต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน ปัจจุบันมีแพทย์และโรงพยาบาลใช้งานศุนย์ดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือผู้พิการกลุ่มนี้ที่มีส่วนสำหรับต่อเศรษฐกิจและสังคมเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยสนับสนุนการใช้งานยางพาราเพื่อผลิตถนน โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ได้พัฒนาสารช่วยการคงตัวของยางพารา ที่ช่วยลดการใช้แอมโมเนียในกระบวนการผลิตยางพารา
เนื่องจากกระบวนการผลิตยางพาราให้เป็นสารที่มีคุณสมบัติคล้ายยางมะตอยนั้น ต้องใช้อุณหภูมิสูงทำให้แอมโมเนียที่เกษตรนิยมใส่เพื่อรักษาสภาพยางพารานั้น ระเหยออกมาระหว่างกระบวนการผลิตดังกล่าว และกลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันมีถนนที่ผลิตจากยางพาราแล้ว 400 กิโลเมตร

สำหรับกลยุทธ์ 6-6-10 คือ 6 Research Pillars, 6 Frontier Research, 10 Technology Development Groups โดย 6 ตัวแรกหมายถึง สวทช.จะเปลี่ยนจากการทำงานที่เน้น “ศูนย์แห่งชาติ” เป็น “สาหลัก” ที่แต่ละศูนย์บูรณาการเพื่อตอบโจทย์ต่างๆ ในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีจะไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าการแก้ปัญหา การหาคำตอบ 6 ต่อมาคือ 6 สาขาวิจัยขั้นแนวหน้า เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้แก่ Quantum Computing, Bionics} Nano Robotic, Terahertz, DNA Data Storage และ Atomic Precision Bioimaging & Plant Electric Circuits

ส่วน 10 หมายถึงกลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมาย ได้แก่ สารออกฤทธิ์ชีวภาพ, สารสกัดสำหรับทำเครื่องสำอาง โดยเฉพาะกลุ่มสมุนไพร, ยาแบบใหม่ที่ใช้กระบวนการสังเคราะห์ทางชีวภาพ, การทำวิจัยการแพทย์แบบแม่นยำ, งานวิจัยเกี่ยวกับระบบดิจิทัล, อาหารฟังก์ชันสำหรับคนและสัตว์ และอาหารเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย, เกษตรแม่นยำ, การขนส่ง, พลังงาน และเทคโนโลยีป้องกันตนเอง
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล แถลงกลยุทธ์ 6-6-10


กำลังโหลดความคิดเห็น