นาซายืนยัน “วอยเอเจอร์ 2” ยานอวกาศที่มนุษย์สร้างขึ้น หลุดจาก “สุริยมณฑล” แล้ว นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งที่ 2 ของโลกที่สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ได้พ้นจากขอบเขตที่อนุภาคและสนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์ไปถึง แต่ยานอวกาศจะยังคงอยู่ในขอบเขตระบบสุริยะไปอีก 30,000 ปี
องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยว่ายาน “วอยเอเจอร์ 2” (Voyager 2) ได้หลุดจาก “สุริยมณฑล” หรือ “เฮลิโอสเฟียร์” (heliosphere) ซึ่งเป็นขอบเขตที่มีอนุภาคและสนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์ปกป้องอยู่ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ ได้ไปถึงขอบเขตระหว่างดวงอาทิตย์และดวงดาวดวงอื่นๆ
นาซาเผยว่าจากการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือหลายๆ ตัวที่ติดตั้งอยู่บนยานนั้น นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่ายานอวกาศรุ่นบุกเบิกนี้ได้หลุดไปจากสุริยะมณฑลเมื่อ 5 พ.ย.2018 โดยขอบเขตของสุริยมณฑลเรียกว่า “เฮลิโอพอส” (heliopause) ซึ่งเป็นบริเวณที่ลมสุริยะที่ร้อนแต่บางเบาได้ปะทะกับตัวกลางระหว่างดวงดาวที่หนาแน่นและหนาวเย็น
แม้วอยเอเจอร์ 2 ไม่ใช่ยานอวกาศลำแรกที่พ้นสุริยมณฑล เพราะวอยเอเจอร์ 1 ซึ่งเป็นยานแฝดอีกลำได้หลุดพ้นขอบเขตดังกล่าวไปตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 แต่เครื่องพีแอลเอส (Plasma Science Experiment: PLS) เครื่องมือวัดพลาสมาของยานได้หยุดทำงานไปตั้งแต่ปี 1980
การพ้นสุริยมณฑลของวอยเอเจอร์ 2 จึงเป็นครั้งแรกของมนุษย์ที่จะได้สังเกตธรรมชาติของประตูสู่เวิ้งอวกาศระหว่างดวงดาว โดยตอนนี้ยานอยู่ห่างจากโลกประมาณ 1.8 หมื่นล้านกิโลเมตร และผู้ปฏิบัติงานในภารกิจนี้ยังคงสื่อสารกับยานได้ ขณะที่ยานเข้าสู่บทเริ่มต้นใหม่ของการเดินทาง โดยข้อมูลจากยานอวกาศที่เดินทางด้วยความเร็วแสงนั้น ใช้เวลา 16.5 ชั่วโมงเดินทางมาถึงโลก ขณะที่แสงจากดวงอาทิตย์ใช้เวลา 8 นาที เดินทางมาถึงโลก
สำหรับหลักฐานหนักแน่นที่ยืนยันว่าวอยเอเจอร์พ้นขอบสุริยมณฑลแล้ว คือข้อมูลจากเครื่องพีแอลเอสที่ติดตั้งบนยาน โดยก่อนหน้านี้ไม่นานรอบๆ วอยเอเจอร์ 2 เต็มไปด้วยอิทธิพลของพลาสมาจากดวงอาทิตย์ พลาสมาที่ไหลออกมาจากดวงอาทิตย์นี้เรียกว่า “ลมสุริยะ” ได้ทำให้เป็นฟองพลาสมาขนาดใหญ่ที่เรียกว่าสุริยมณฑล ซึ่งโอบอุ้มดาวเคราะห์ต่างๆ ในระบบสุริยะ
เครื่องพีแอลเอสได้ใช้กระแสไฟฟ้าจากพลาสมาเพื่อวัดความเร็ว ความหนาแน่น อุณหภูมิ ความดันและการไหลหรือฟลักซ์ (flux) ของลมสุริยะ ซึ่งเครื่องพีแอลเอสบนยานวอยเอเจอร์ 2 ได้สังเกตพบว่าความเร็วของลมสุริยะลดลงแบบดิ่งเมื่อ 5 พ.ย.2018 และนับแต่วันนั้นเครื่องมือวัดพลาสมาก็ตรวจวัดไม่พบกระแสลมสุริยะรอบๆ ยานวอยเอเจอร์ 2 อีก จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์ประจำปฏิบัติการเชื่อมั่นว่ายานอวกาศได้ออกจากสุริยมณฑลแล้ว
ทว่า แม้จะพ้นสุริยมณฑลไปแล้ว แต่ทั้งวอยเอเจอร์ 1 และ 2 ยังคงอยู่ภายในระบบสุริยะ และจะไม่หลุดจากการควบคุมของดวงอาทิตย์ในเร็วๆ นี้ เพราะเป็นที่เข้าใจว่าขอบเขตของระบบสุริยะนั้นอยู่เลยขอบเมฆออร์ต (Oort Cloud) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการรวมตัวกันของวัตถุขนาดเล็กๆ แต่ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์
เมฆออร์ตกว้างเท่าไรนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ประเมินว่ามีอาณาเขตตั้งแต่ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ 1,000 หน่วยดาราศาสตร์ (astronomical units) หรือเอยู (AU) ไปจนถึง 100,000 เอยู โดย 1 เอยูคือระยะหว่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ซึ่งคาดว่าวอยเอเจอร์ 2 จะใช้เวลาประมาณ 300 ปีเพื่อถึงขอบด้านในของเมฆออร์ต และน่าจะใช้เวลาอีกราว 30,000 ปี เพื่อบินหลุดออกไป