xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหม? มีดาวเทียมกระป๋องแฝดติดหลัง "อินไซต์" ไปดาวอังคาร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดาวเทียมมาร์โคก่อนถูกส่งขึ้นไปดาวอังคาร (นาซา)
นอกจากส่งยาน "อินไซต์" ลงจอดดาวอังคารแล้ว นาซายังได้ทดสอบความอึดของดาวเทียมกระป๋องแฝด "มาร์โค" ซึ่งร่วมเดินทางไปพร้อมยานแลนเดอร์ และได้ถ่ายทอดสัญญาณระหว่างยานลงดาวอังคาร

การเดินทางของยานอินไซต์ (Interior Exploration using Seismic Investigations, Geodesy and Heat Transport : InSight) ขององค์การบริหาร
การบินและอวกาศ (นาซา) ที่เพิ่งลงจอดดาวอังคารเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2018 เวลา 02.52 น. ตามเวลาประเทศไทย ยังหอบหิ้วดาวเทียมกระป๋องแฝดไปพร้อมกับการเดินทางครั้งนี้ด้วย

อินไซต์ออกเดินทางจากโลกเมื่อ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีดาวเทียมกระป๋องมาร์คิวบ์วันหรือมาร์โค (Mars Cube One: MarCO) 2 ลำ ร่วมออกเดินทางไปพร้อมๆ ด้วยจรวดลำเดียวกัน จากนั้นตามหลังยานอินไซต์ไปถึงดาวอังคาร ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ดาวเทียมขนาดเล็กนี้ได้เดินทางไปในอวกาศไกลๆ

ข้อมูลจากนาซาระบุว่า ดาวเทียมกระป๋องเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก ที่สามารถยัดลงกระเป๋าสะพายหลังได้ และมีราคาประหยัด ซึ่งเป็นที่นิยมตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีอวกาศรุ่นจิ๋วนี้ เป็นสื่อการสอน มานับ 20 ปีแล้ว และยังทำให้บริษัทเอกชนกับหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์เข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศได้ง่ายขึ้น

หลังประสบความสำเร็จในการสื่อสารและการทดลองนำทางอยู่หลายครั้ง ดาวเทียมมาร์โคทั้งสองลำก็ถูกจัดตำแหน่งให้พร้อมรับสัญญาณขณะยานอินไซต์ทะลวงชั้นบรรยากาศและลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร ซึ่งดาวเทียมกระป๋องนี้ก็ได้ถ่ายทอดสัญญาณการลงจอดกลับมาห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ของนาซาในพาซาดีนา แคลิฟอร์เนีย

ภารกิจย่อยของดาวเทียมกระป๋องรุ่นใหม่นี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ายานอวกาศขนาดเล็กประเภทนี้สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมของอวกาศลึกๆ ได้ และภารกิจล่าสุดก็เป็นการทดสอบเทคโนโลยีสื่อสารย่อส่วนของดาวเทียมที่ถ่ายทอดสัญญาณขณะยานอินไซต์ทะลวงสู่ชั้นบรรยากาศดาวอังคาร ซึ่งปกติเป็นภารกิจของยานโคจรหรือออบิเตอร์ที่โคจรอยู่รอบๆ ความสำเร็จนี้จะนำไปสู่การใช้งานยานขนาดเล็กเพื่อถ่ายทอดสัญญาณต่อไปในอนาคต

ดาวเทียมแฝดมาร์โคนั้นมีเสาสื่อสารความละเอียดสูงและเครื่องส่งสัญญาณวิทยุขนาดเล็ก ซึ่งสามารถสื่อสารกับโลกที่ระยะทางไกลประมาณ 150 ล้านกิโลเมตรได้ นอกจากนี้ยังมีระบบขับเคลื่อนที่สามารถขับดันเข้าหาดาวอังคารได้ และยังมีกล้องบันทึกภาพสี โดยภาพแรกจากดาวเทียมนี้คือภาพที่เห็นทั้งโลกและดวงจันทร์ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่วันนี้ไปไกลมาก

อย่างไรก็ตามดาวเทียมมมาร์โคยังคงเป็นเพียงการทดลอง ที่มีเป้าหมายเพื่อสาธิตให้เห็นว่า เทคโนโลยีอวกาศสามารถถูกย่อส่วนให้อยู่ภายในกล่องเล็กๆ และยังคงทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ในอวกาศลึกๆ ได้ อีกทั้งยังนับเป็นการบุกเบิกของหุ่นยนต์สำรวจรุ่นใหม่ด้วย
โครงสร้างดาวเทียมมาร์โค (นาซา)


กำลังโหลดความคิดเห็น