xs
xsm
sm
md
lg

“น่าน 59” พันธุ์ข้าวเหนียว หอม ต้นเตี้ย ต้านทานโรค

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.
หาประโยชน์จากยีน ไบโอเทค-สวทช.พัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียว “น่าน59” ตอบโจทย์เกษตรกร ให้กลิ่นหอม ต้นเตี้ย ทนการหักล้ม ใช้รถเก็บเกี่ยวได้ และต้านทานโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สนับสนุนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในจังหวัดน่าน พัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์ “น่าน59” ซึ่งต่อยอดมาจากสายพันธุ์ กข6 ต้นเตี้ย ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง ซึ่งเกษตรกรนิยมปลูกกันมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ไบโอเทคยังพัฒนาให้ข้าวเหนียวพันธุ์น่าน 59 มีกลิ่นหอม ให้ผลผลิตสูง และยังคงต้นเตี้ย เพื่อให้เครื่องจักรกลเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งตอบโจทย์การผลิตในยุคแรงงานเกษตรหายาก และค่าจ้างแรงงานสูง โดยได้เปิดตัวในกิจกรรม “วันเกษตรกรระดับเครือข่าย (Field Day)” ประจำฤดูปลูก 2561 ณ แปลงสาธิตผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ กลุ่มชาวนาบ้านบุญเรือง ต.ไหล่น่าน อ.เวียงสา จ.น่าน

ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.กล่าวว่า หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และไบโอเทค ได้ใช้เทคโนโลยีชีวภาพโดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีด้านโมเลกุลเครื่องหมายในการคัดเลือกและจำแนกสายพันธุ์ข้าว โดยเน้นการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวของประเทศไทยให้มีคุณภาพดี ทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช ทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมในการเจริญเติบโต เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง ดินเค็ม ดินกรด

“ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา ได้มีการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวมาแล้วมากมาย อาทิ ข้าวหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วมฉับพลัน ข้าวพันธุ์กข51 ทนน้ำท่วมฉับพลัน ข้าวพันธุ์ กข18 ต้านทานโรคไหม้ ข้าวเหนียวพันธุ์ธัญสิริน ข้าวเหนียว กข6 ต้นเตี้ยต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง ซึ่งการพัฒนาพันธุ์ข้าวของหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าวนั้น ได้ทำงานร่วมกับกรมการข้าว และมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งทำงานร่วมกับชุมชนในแง่ของการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมเอง และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในแง่ของการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีไว้ใช้เอง”

นายสินธ์ พรหมพิชัย ประธานเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ พันธุ์ดีจังหวัดน่าน กล่าวว่า เครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ พันธุ์ดีจังหวัดน่าน เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในจังหวัดน่านทั้งหมด 11 เครือข่าย โดยมีมูลนิธิฮักเมืองน่านเป็นผู้ประสานงาน ซึ่งจุดเริ่มต้นของการได้มาทำงานร่วมกับ ไบโอเทค สวทช. คือ การระบาดของโรคใบไหม้อย่างรุนแรงที่น่าน ทำให้เกษตรกรต้องการข้าวที่มีความต้านทานต่อโรคใบไหม้

จนกระทั่งทางกลุ่มได้รับพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติในการต้านทานโรคไหม้ และมีคุณภาพการกิน เท่าเทียมกับพันธุ์ กข6 จาก ไบโอเทค สวทช. จำนวน 25 สายพันธุ์ และมีการนำมาทดลองปลูกและคัดเลือกพันธุ์โดยเกษตรกร จนกระทั่งเกิดเป็นพันธุ์ข้าว “ธัญสิริน” ซึ่งเป็นชื่อพันธุ์ที่ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และต่อมา สวทช. ได้สนับสนุนสายพันธุ์ข้าว กข6 ต้นเตี้ย ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง เพื่อยกระดับการผลิตและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มฯ ซึ่งจังหวัดน่านเป็นกลุ่มแรกๆ ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ กข6 ต้นเตี้ยฯ และได้นำไปปลูกอย่างแพร่หลายในหลายจังหวัดทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวให้ผลผลิตสูง คุณภาพดี ต้านทานโรคและไม่หักล้ม

“ในปี พ.ศ. 2559 กลุ่มฯ ได้รับสายพันธุ์ข้าวเหนียว กข6 ต้นเตี้ยฯ ใหม่ จำนวน 20 สายพันธุ์ไปปลูกทดสอบในพื้นที่ จ.น่าน เปรียบเทียบกับพันธุ์ข้าวในพื้นที่ คือ พันธุ์ซิวแดง พันธุ์ธัญสิริน พันธุ์หอมทอง พันธุ์ก่ำเหนียว พันธุ์ก่ำเจ้า พันธุ์แม่โจ้ กข6 และพันธุ์ กข18 โดยเกษตรกรดำเนินงานใน 10 พื้นที่ คัดเลือกได้ 3 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีอายุการออกดอกใกล้เคียงกับ กข6 ดั้งเดิม มีการจัดประเมินคุณภาพเมล็ดทางกายภาพ และการกิน โดยมีทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภคร่วมกันประเมิน คัดเลือกได้ 2 สายพันธุ์คือ เบอร์17 และ 18 และให้ชื่อว่า “น่าน59”

ทางกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ขยายผลการดำเนินงานดังกล่าวด้วยการจัดกิจกรรม “วันเกษตรกรระดับเครือข่าย (Field Day)” เพื่อเชิญชวนเกษตรกรบริเวณใกล้เคียง หน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันฯ ผู้ใหญ่บ้านฯ รวมไปถึงกลุ่มผู้ซื้อเมล็ดพันธุ์ ได้เยี่ยมชมและประเมินสายพันธุ์ข้าวใหม่ น่าน59”

ด้าน ดร.บุญรัตน์ จงดี หัวหน้าโครงการ การพัฒนาศักยภาพการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวทช.กล่าวเสริมว่า ข้าวเหนียวพันธุ์ “น่าน59” พัฒนามาจากข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 ต้นเตี้ย ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง เพื่อให้มีความต้านทานโรคไหม้กว้างขึ้นและมีความหอม โดยยังคงลักษณะต้นเตี้ยไว้ ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย

“ข้าวพันธุ์น่าน59 สามารถต้านทานโรคไหม้แบบกว้างกับเชื้อทุกกลุ่มในประเทศไทย ต้านทานเชื้อโรคขอบใบแห้งจำนวน 11 กลุ่ม จากทั้งหมด 13 กลุ่ม มีความสูงประมาณ 110 เซนติเมตร ลำต้นแข็ง ไม่หักล้ม สามารถทนทานต่อแรงลมเนื่องจากมีขนาดลำต้นเตี้ย สามารถใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวแทนการใช้แรงงานคน ข้าวแตกกอดี ให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 600-700 กิโลกรัมต่อไร่ และในพื้นที่ๆ มีความอุดมสมบูรณ์สามารถให้ผลผลิตกว่า 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ เมล็ดข้าวเรียว หลังขัดสีไม่แตกหัก มีคุณภาพการหุงต้มดีและมีความหอมและยังมีความเหนียวนุ่มคล้ายข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ จ.น่าน ได้ทดลองปลูกและได้ผลผลิตดี” ดร.บุญรัตน์ระบุ
ดร.บุญรัตน์ จงดี หัวหน้าโครงการ การพัฒนาศักยภาพการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน
 ข้าวเหนียวพันธุ์น่าน59
นายสินธ์ พรหมพิชัย



กำลังโหลดความคิดเห็น