xs
xsm
sm
md
lg

“กาแล็กซีทางช้างเผือก” กำเนิดจากการชนครั้งใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Galaxy - ภาพกาแล็กซีทางช้างเผือกทั้งท้องฟ้า พร้อมกาแล็กซีเพื่อนบ้าน คำนวณแล้วมีดวงดาวประมาณ 1.7 พันล้านดวง เผยแพร่โดยองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) ที่บันทึกเมื่อ 25 เม.ย.2018  (EUROPEAN SPACE AGENCY / AFP)
“กาแล็กซีทางช้างเผือก” กำเนิดจากการชนครั้งใหญ่ โดยเคยชนกาแล็กซีอื่นเมื่อ 1 หมื่นล้านปีก่อน แล้วหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว

ข้อมูลที่เผยแพร่ลงวารสารวิชาการเนเจอร์ (Nature) ระบุว่า เมื่อ 1 หมื่นล้านปีก่อน กาแล็กซีทางช้างเผือกของเราได้ค่อยๆ เคลื่อนไปปะทะอย่างช้าๆ กับกาแล็กซีไกอา-เอ็นเซลาดัส (Gaia-Enceladus) ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามเทพเจ้ากรีกที่เกิดจากดินและฟ้า

การชนกันครั้งนั้นทำให้เกิดวัตถุดิบในปริมาณเทียบเท่าดวงอาทิตย์ 600 ล้านดวง ซึ่งวัตถุดิบดังกล่าวได้กลายเป็น “ฮาโล” (halo) ที่เป็นลักษณะเฉพาะของทางช้างเผือกเท่านั้น แต่ไม่เพียงเท่านั้นยังขยายขนาด “จาน” (disk) ของกาแล็กซีของเราให้ใหญ่ขึ้นด้วย

อะมินา เฮลมิ (Amina Helmi) นักดาราศาสตร์จากสถาบันดาราศาสตร์กัปไตน์ (Kapteyn Astronomical Institute) มหาวิทยาลัยโกรนิงเกน (University of Groningen) เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นนักวิจัยหลักในการศึกษาเรื่องนี้ บอกว่าทีมวิจัยได้ไขปมการก่อตัวของทางช้างเผือก

“การรวมกันของกาแล็กซีทำให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า ฮาโลของกาแล็กซี และยังเพิ่มขนาดจานของกาแล็กซีที่มีอยู่ตั้งแต่ยุคนั้น แต่เราไม่คาดว่าจะได้ค้นพบว่าดาวฤกษ์ในฮาโลส่วนใหญ่มีกำเนิดร่วมกัน” เฮลมิกล่าว

ทั้งนี้ กาแล็กซีขนาดใหญ่นั้นมักจะกลืนกินกาแล็กซีที่มีขนาดเล็กกว่าเสมอ ซึ่งนักดาราศาสตร์ก็ถกเถียงกันว่า ทางช้างเผือกของเรานั้นใหญ่ขึ้นจากการกลืนกินกระจุกดาวเกิดใหม่ หรือว่ารวมตัวเข้ากับกาแล็กซีที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้การสนับสนุนทฤษฎีต่างๆ มีเพียงการอนุมานด้วยหลักฐานที่ไม่หนักแน่น

กระทั่งเดือน เม.ย.เป็นต้นมา ดาวเทียมไกอา (Gaia) ได้ให้ข้อมูลปริมาณมากที่นำไปสู่การค้นพบครั้งนี้ ซึ่งดาวเทียมไกอาที่ส่งขึ้นไปสู่วงโคจรตั้งแต่ปี ค.ศ.2013 โดยองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) หรืออีซา และดาวเทียมไกอาได้สร้างแผนที่สามมิติของดาวฤกษ์มากกว่า 1.7 พันล้านดวง ในจำนวนนั้นเป็นดาวฤกษ์ของทางช้างเผือกประมาณ 1% หรือประมาณ 100 ล้านดวง

การค้นหาร่องรอยการรวมกันของกาแล็กซีโดยอาศัยฮาโลของทางช้างผือกนั้น นักวิจัยพบความประหลาดใจว่า ดาวฤกษ์จากกาแล็กซีที่ชนกับทางช้างเผือกนั้นเป็นดาวฤกษ์ในตระกูลเดียวกัน โดยองค์ประกอบทางเคมีนั้นชัดเจนว่า แตกต่างจากดาวฤกษ์ของทางช้างเผือกอย่างชัดเจน

เฮลมิและคณะคำนวณว่า การรวมกันของกาแล็กซีนี้เกิดขึ้นหลังบิกแบง (Big Bang) ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของเอกภพประมาณ 3.8 พันล้านปี

สำหรับดาวเทียมไกอาได้รวบรวมข้อมูลดาวฤกษนาทีละ 100,000 ดวง และมีการวัดประมาณ 500 ล้านครั้งต่อวัน และได้เผยแพร่ภาพแผนที่ดวงดาวครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ย.2016 โดยอาศัยการสังเกตดวงดาว 1.15 พันล้านดวงตลอดทั้งปี ดาวบางดวงก็ถูกตรวจวัดมากกว่า 70 ครั้งระหว่างที่ดาวเทียมโคจรรอบดวงอาทิตย์ไปพร้อมๆ กับการโคจรรอบโลก ซึ่งเป็นการกวาดสำรวจกาแล็กซีอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น