ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ท้องนาข้างถนนริมทางสัญจรเกิดความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ผืนดินเตียนโล่งและน้ำขังเป็นการปรับสภาพเพื่อเตรียมการเพาะปลูกรอบใหม่ ระบบนิเวศที่ถูกปรับสภาพแล้วนี้ช่างเหมาะกับการใช้เป็นพื้นที่หากินของเหล่านกน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งนกในกลุ่มนกน้ำและนกยางหลากชนิด และช่างเหมาะต่อการใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผมทั้งก่อนและหลังการทำงานเสียจริง แม้จะไม่ได้หยุดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากนักแต่มีหลายครั้งชนิดนกผ่านตาสร้างความแปลกใจให้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นนกช้อนหอยขาว นกกระแตหาด หรือนกนางนวลแกลบเคราขาว ถ้าช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาเยือนนี้มีเวลามากขึ้นหรือพอจะมีโอกาสได้หยุดดูแล้วความอภิรมย์ในใจจะน่าเพิ่มขึ้นได้อย่างมาก อาจจะเพราะจากความเครียดที่สะสมมานาน ความคิดผมชักจะวกลงหาด้านมืดของจิตใจ “หรือจะโดดงานเลยดี”
แต่การเดินทางกลับบ้านพักวันนี้ต้องชะลอหยุดไว้ก่อน ฝูงนกปากห่างริมท้องนาข้างทางมีความแตกต่างจากปกติคุ้น นกหลายตัวในฝูงนกปากห่างมีสีขนดำขลับต่างจากขนสีขาวและขนาดตัวค่อนข้างเล็กกว่า ความชัดเจนเพิ่มมากขึ้นเมื่อนกเหล่านั้นหยุดพักจากพฤติกรรมการหากินและยกหัวเงยขึ้นมา ปากที่โค้งลงและแนบสนิทต่างจากช่องว่างระหว่างจะงอยปากบนและล่างที่พบในนกปากห่าง
“นกช้อนหอยดำเหลือบนี่นา ใกล้แค่นี้เอง” ผมอุทานพร้อมกับดีใจในระยะที่ไม่มากนักระหว่างนกกับผม “ระยะพอจะได้ภาพอยู่นะ” ผมคิด
ครั้งแรกที่ได้พบนกช้อนหอยดำเหลือบต้องย้อนกลับไปจนถึงสมัยเมื่อเป็นนิสิตวัยละอ่อนระดับปริญญาตรีชั้นปีสาม การได้ลงเรียนวิชาปักษีวิทยาของภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ทำให้มีโอกาสได้นำตัวออกเดินทางจากเมืองหลวงเพื่อฝึกดูนกในพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ความรู้และประสบการณ์อันมีค่าเกิดขึ้นอยู่โดยตลอด ต้องขอขอบคุณสถานิวิจัยสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดสำหรับความช่วยเหลือและสนับสนุนการเดินทางในบึงน้ำเพื่อการศึกษาฝึกหัดการส่องดูนกของพวกเราเหล่ารุ่นน้องนิสิตวนศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้าตาดำ ๆ ในเวลานั้น
เป็นเรื่องปกติสำหรับการรับรู้ในความรู้สึกถึงการผ่านไปอย่างรวดเร็วของกระแสเวลาเมื่อเราได้ทำกิจกรรมหรือสิ่งอื่นใดที่รักหรือชอบ จนกระทั่งเย็นย่ำพระอาทิตย์คล้อยต่ำทอแสงสดส้มทั่วผืนท้องฟ้า สถานพักค้างถูกเรียกว่า แหลมตาเส็ง การพักแรมเป็นการกางเต็นท์พักแรมใกล้ริมบึง กิจกรรมต่าง ๆ การกางเต้น การประกอบอาหาร ธุระส่วนตัวดำเนินไปพร้อมกับกิจกรรมส่องดูนกจนกระทั่งความมืดทาบทาเต็มท้องฟ้า สภาพอากาศแตกต่างจากความร้อนระอุก่อนหน้า ลมกลางคืนปะทะแรงจนต้องวิ่งไปรวบจับเต็นท์ไม่ให้หมุนกลิ้งลงบึงจากความเลินเล่อไร้สมอบกยึดด้วยด้อยประสบการณ์ ซึ่งเวลานี้เองคำเตือนถึงความดุร้ายของยุงในบริเวณนี้ว่าดุกว่าเสือเหมือนจะไม่เกินเลยจากความเป็นจริง ร่างกายด้านปะทะลมดูจะสงบเรียบร้อยดี แต่อีกฝั่งอับลมด้านตรงข้ามเต็มไปด้วยฝูงยุงยุบยับบินส่งเสียงดังจนน่าขนลุกทำให้สมาชิกต้องรีบหลบเข้าเต็นท์ไม่อาจสามารถนั่งอยู่ชื่นชมความงามยามค่ำคืนได้นานนัก
โอกาสในการส่องดูนกเกิดอีกครั้งระหว่างล่องเรือกลับในช่วงเช้าของวันถัดมา ขณะที่เรือวิ่งผ่านร่องกอบัวสายก็มีคนเรียกให้มองไปยังจุดสีดำสี่ห้าจุดบริเวณน้ำตื้นริมบึง แม้ระยะห่างจะค่อนข้างมากแต่เห็นลักษณะของหัวและจะงอยปากโค้งยาวลงโคลนก้มเงยไซร้โคลนคล้ายหากินก็เห็นได้เด่นชัด “นกช้อนหอยดำเหลือบ” เสียงดังขึ้นให้ได้ยินและทันทีที่ผมยกกล้องส่องทางไกลแบบสองตาส่องดู ในช่วงเวลานั้นการพบเห็นนกชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก มีสถานที่ไม่กี่แห่งที่สามารถพบตัวได้และก็ไม่ง่ายว่าเมื่อไปแล้วจะได้พบเห็นตัว ความประทับใจที่เกิดขึ้นวันนั้นมากจนถึงวันนี้ก็ยังคงจำความรู้สึกได้อยู่
เมื่อรถจอดสนิทริมไหล่ทาง ผมเปิดประตูก้าวออกจากรถพร้อมอุปกรณ์ถ่ายรูปซึ่งถูกประกอบเตรียมไว้แล้วเสร็จสรรพพร้อมสำหรับการบันทึกภาพ ระยะห่างไม่มากนักพอที่สามารถจเก็บภาพให้ได้รายละเอียดตามต้องการ ความมุ่งมั่นว่าจะต้องได้รูปทำให้ต้องคอยระมัดระวังไม่ให้เกิดความเคลื่อนไหวอันอาจส่งผลให้นกช้อยหอยหรือแม้แต่นกปากห่างที่หากินอยู่ด้วยกันเกิดแตกตื่นและพากันบินหนีไปก่อนจะได้ทำการบันทึกภาพ
เมื่อได้ระยะและตำแหน่งที่พอเหมาะ ทิศทางของกล้องถ่ายภาพและเลนส์ถูกหันไปยังตัวแบบ ช่องมองภาพถูกใชเพื่อจัดองค์ประกอบของรูป ปลายนิ้ววางพร้อมอยู่ในตำแหน่งกดปุ่มบันทึกภาพ อย่างไม่คาดคิดในขณะออกแรงกดปลายนิ้วเป็นจังหวะเดียวกันกับรถยนต์คันหนึ่งวิ่งผ่าน ฝูงนกที่หากินกันอย่างระวังตัวอยู่แล้วก็พากันขึ้นบินหนี
อุปกรณ์ถูกลดระดับลงจากสายตา ฝูงนกปากห่างบินไปไม่ไกลนัก ผมเห็นพวกมันร่อนลงพื้นในริมท้องนาฝั่งตรงข้าม ฝูงนกช้อนหอยดำเหลือบนั้นต่างออกไป พวกมันไม่ร่อนลงในพื้นที่เดียวกันกับนกปากห่างแต่กลับบินหายลับไปกับยอดไม้ไกลออกไป น่าจะเป็นเพราะความระแวดระมัดระวังตัวที่มากกว่าทำให้มันบินหนีไกลกว่า ผมพยายามลองมองหาเหตุผลในพฤติกรรมของพวกมันให้กับตัวเอง
เพราะเชื่องช้าเอง เพราะอับโชค บุญมีแต่กรรมบัง เป็นเพียงเรื่องของโอกาส หรืออะไรก็ตามแต่ ความคิดวิ่งวนเวียนอยู่ในหัวเมื่อผมเปิดดูภาพที่บันทึกได้
เกี่ยวกับผู้เขียน
จองื้อที
แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ
"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"
พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน