xs
xsm
sm
md
lg

ยืนยัน “เคปเลอร์” ตายสนิทหลังล่าดาวเคราะห์ 9 ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจำลองกล้องเคปเลอร์ขณะปฏิบัติงานในอวกาศ (HO / NASA / AFP)
นาซายืนยัน “กล้องเคปเลอร์” หมดเชื้อเพลิงและหยุดทำงานอย่างถาวรแล้ว หลังรับใช้ภารกิจล่าดาวเคราะห์นานกว่า 9 ปีครึ่ง โดยสร้างผลงานค้นพบดาวเคราะห์มากกว่า 2,600 ดวง และบางดวงอาจจะมีสิ่งมีชีวิต

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler space telescope) ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรตั้งแต่ปี 2009 และเผยให้เห็นดาวเคราะห์ที่แอบซ่อนในอวกาศหลายล้านดวง โดยได้รับการยืนยันว่าเป็นดาวเคราะห์แล้วกว่า 2,600 ดวง อีกทั้งยังปฏิวัติความเข้าใจของมนุษย์ที่มีต่อเอกภพ

กล้องเคปเลอร์ช่วยนักดาราศาสตร์ค้นหาว่าที่ดาวเคราะห์โดยสอดส่องปรากฏการณ์ “ผ่านหน้า” (transits) ซึ่งเป็นชั่วขณะที่ดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์ของตัวเอง

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ซึ่งแถลงยืนยันว่ากล้องเคปเลอร์ได้เชื้อเพลิงและหยุดทำงานแล้ว ได้เผยด้วยว่า 20-50% ของดาวฤกษ์ที่เราเห็นนั้นน่าจะมีบริวารเป็นดาวเคราะห์หินที่มีขนาดเล็กใกล้เคียงกับโลก อีกทั้งยังอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่สิ่งมีชีวิตจะอาศัยอยู่ได้

ดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ของตัวเองในระยะที่เหมาะสมให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้นั้น จะมีน้ำในรูปของเหลวซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิต และอาจมีแหล่งน้ำอยู่บนพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงนั้นด้วย

พอล เฮิร์ตซ์ (Paul Hertz) ผู้อำนวยการแผนกดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่นาซาระบุว่า การตายของกล้องเคปเลอร์ไม่ใช่เรื่องที่คาดเดาไม่ได้ และครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์การสิ้นสุดการปฏิบัติการของยานอวกาศ

สัญญาณที่บอกว่าเชื้อเพลิงของกล้องใกล้จะหมดนั้นปรากฏให้เห็นก่อนหน้านี้ 2 สัปดาห์ ซึ่งตอนนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังสามารถดาวน์โหลดข้อมูลจากกล้องลงมายังโลกก่อนที่เชื้อเพลิงจะหมดไปจริงๆ โดยนาซาบอกว่าตัดสินใจปลดระวางกล้องโทรทรรศน์อวกาศนี้ขณะที่อยู่วงโคจรปัจจุบันซึ่งเป็นวงโคจรที่ปลอดภัยและห่างจากโลก

บิล โบรุกิ (Bill Borucki) ผู้สังเกตการณ์หลักการปลดระวางปฏิบัติการเคปเลอร์ของนาซา ระบุว่า กล้องเคปเลอร์เป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ และบอกว่าพวกเขาได้แสดงให้เห็นว่ามีดาวเคราะห์อยู่มากกว่าดาวฤกษ์ในระบบสุริยะของเรา

แม้ว่าเคปเลอร์จะหยุดทำงานแล้วแต่นาซาระบุว่า ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อศึกษาสิ่งที่กล้องเคปเลอร์ค้นพบ ส่วนกล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นใหม่ที่จะทำหน้าที่แทนกล้องเคปเลอร์คือกล้องโทรทรรศน์เทสส์ (TESS) ที่ส่งขึ้นไปตั้งแต่เดือน เม.ย. และจะสำรวจขอบเขตของอวกาศได้มากกว่ากล้องเคปเลอร์

ทั้งเคปเลอร์และเทสส์ใช้ระบบในการตรวจหา “การผ่านหน้า” ของดาวเคราะห์ระบบเดียวกัน โดยระบบจะตรวจหาเงาที่ฉายบนดาวฤกษ์ขณะดาวเคราะห์ผ่านหน้า แต่กล้องโทรทรรศน์ตัวใหม่นี้จะพุ่งเป้าไปที่ดาวเคราะห์นอกระบบสุรยะที่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 30-300 ปีแสง

สำหรับปฏิบัติการกล้องเคปเลอร์ในตอนนี้ได้ยืนยันดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะแล้ว 2,681 ดวง แต่ดาวเคราะห์เหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วอยู่ไกลมากและแสงค่อนข้างริบหรี่เกินกว่าจะศึกษาดาวเคราะห์เหล่านั้นเพิ่มเติมได้

นอกจากนี้ยังมีกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีทันสมัยกว่าอย่างกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ที่มีกำหนดส่งขึ้นสู่วงโคจรในปี 2021 ซึ่งกล้องตัวใหม่นี้จะเผยข้อมูลเกี่ยวกับมวล ความหนาแน่น และองค์ประกอบในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ได้มากขึ้น โดยข้อมูลเหล่านี้เป็นเบาะแสให้เราทราบถึงการเอื้อต่อการดำรงชีวิตของดาวเคราะห์นั้นๆ

เฮิร์ตซ์กล่าวว่า เพราะเคปเลอร์จึงทำให้เรามองตำแหน่งของโลกในเอกภพนี้เปลี่ยนไป โดยปฏิบัติการเคปเลอร์นั้นได้ปูทางสู่ปฏิบัติการศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบต่อไปในอนาคต
กล้องเคปเลอร์ภายในห้องทดสอบก่อนส่งขึ้นสู่วงโคจร (Tim Jacobs / NASA / AF)
กล้องเคปเลอร์ติดตั้งบนจรวดเดลตา-2 (Delta II) บนฐานปล่อยจรวด Complex 17-B ณ ฐานทัพอากาศเคปคานาวารัล เพื่อนำส่งขึ้นสู่วงโคจร (Kim SHIFLETT / NASA / AFP)
ตัวอย่างผลงานจากการค้นพบด้วยกล้องเคปเลอร์
ภาพจำลองดาวเคราะห์เคปเลอร์-16บี (Kepler-16b) ดาวเคราะห์ดวงแรกที่ค้นพบว่าโคจรรอบดาวฤกษ์ 2 ดวง (NASA / JPL-Caltech / T. Pyle / NASA/Ames/JPL-Caltech / AFP)
ภาพจำลองดาวเคราะห์เคปเลอร์-186เอฟ (Kepler-186f) ดาวเคราะห์ดวงแรกที่พบว่าอยู่ในขอบเขตที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต (NASA / JPL-Caltech / T. Pyle / NASA/Ames/JPL-Caltech / AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น