xs
xsm
sm
md
lg

จีน-ฝรั่งเศสส่งดาวเทียมจับตาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จรวดลองมาร์ช-2ซี ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยในศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิวฉวน เพื่อนำส่งดาวเทียมซีเอฟโอแซท สำรวจอันตรายจากปรากฏการณ์ทางทะเลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  (STR / AFP)
จีนส่งดาวเทียมดวงแรกที่ร่วมสร้างกับฝรั่งเศส เพื่อยกระดับการพยากรณ์พายุไต้ฝุ่นอันตรายและปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยอาศัยการเฝ้าสังเกตลมเหนือพื้นผิวมหาสมุทรและคลื่นมหาสมุทร

เอเอฟพีอ้างตามการเปิดเผยจากสำนักงานบริหารจัดการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศของจีน (State Administration of Science, Technology and Industry for National Defence) ว่าจรวดลองมาร์ช 2ซี (Long March 2C) ได้ทะยานจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วฉวน (Jiuquan Satellite Launch Centre) ในทะเลทรายโกบี (Gobi Desert) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จรวดลองมาร์ชได้ขนส่งดาวเทียมซีเอฟโอแซท (CFOSAT) หรือดาวเทียมชิโน-ฟรานซืโอเชียโนกราฟี (China-France Oceanography Satellite) ซึ่งมีน้ำหนัก 650 กิโลกรัม เพื่อช่วยนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศได้ศึกษาอันตรกริยาระหว่างมหาสมุทรและบรรยากาศได้ดียิ่งขึ้น โดยนับเป็นดาวเทียมดวงแรกที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างจีนและฝรั่งเศส

ด้าวเทียมซีเอฟโอติดตั้งอุปกรณ์เรดาร์ 2 เครื่อง นั่งคือเครื่องวัดสเปกตรัม SWIM ที่ผลิตโดยฝรั่งเศส ซึ่งจะช่วยวัดทิศทางและความยาวคลื่นของคลื่นมหาสมุทร และเครื่องวัดการกระเจิงคลื่น SCAT ที่ผลิตโดยจีน ซึ่งช่วยในการวิเคราะห์แรงและทิศทางของลม โดยทั้งสองประเทศสามารถรับข้อมูลจากดาวเทียมนี้และนำไปวิเคราะห์ได้

หวัง ลีลี่ (Wang Lili) หัวหน้าทีมออกแบบดาวเทียมจากสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (China Academy of Space Technology) เผยผ่านสำนักข่าวซินฮวา ว่าอุปกรณ์ทั้งหลายบนดาวเทียมจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ เก็บข้อมูลลมและคลื่นทะเลจากจากจุดเดียวพร้อมๆ กันได้เป็นครั้งแรก

ขณะที่ เจา เจียน (Zhao Jian) เจ้าหน้าที่อาวุโส จากองค์การบริหารจัดการอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration) บอกว่า ดาวเทียมดวงนี้จะช่วยให้สังเกตและพยากรณ์สถานะทางทะเลที่จะเป็นมหันตภัย เช่น คลื่นยักษ์ และพายุแถบศูนย์สูตรได้มากขึ้น และยังจะสนับสนุนความปลอดภัยในกิจกรรมและวิศวกรรมชายฝั่ง การลาดตระเวณด้วยเรือ การประมง และการบริหารจัดการชายฝั่ง

ความสำเร็จในการส่งดาวเทียมขึ้นส่วงโคจรที่ความสูงจากพื้นโลก 520 กิโลเมตรนี้ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ผู้นำสูงสุดของจีน และ เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้แสดงความยินดีต่อกันผ่านทางโทรศัพท์ เอเอฟพีอ้างรายงานจากสื่อท้องถิ่น

ด้าน ฌ็องขอีฟ เลอ กัลล์ (Jean-Yves Le Gall) ประธานศูนย์การศึกษาอวกาศฝรั่งเศส (National Centre for Space Studies) กล่าวว่า ดาวเทียมดวงนี้เป็นประวัติศาสตร์ และยังเป็นดาวเทียมดวงแรกที่จีนได้สร้างขึ้นโดยความร่วมมือกับต่างชาติ โดยดาวเทียมจะช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้มากขึ้น

โครงการความร่วมมือของ 2 ชาตินี้เริ่มต้นเมื่อปี 2007 โดยจีนและฝรั่งเศสยังมีความร่วมมือกันในปฏิบัติการตรวจตราวัตถุอวกาศ SVOM ซึ่งจะส่งดาวเทียมขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในการตรวจวัดและศึกษาการระเบิดของรังสีแกมมาในปี 2021 อีกทั้งยังมีความร่วมมือในการพัฒนาอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ในสถานีอวกาศเทียนกง-2 ของจีน เพื่อใช้เฝ้าระวังหัวใจของลูกเรือบนสถานีอวกาศ สำหรับสถานีอวกาศดังกล่าวมีกำหนดตกจากวงโคจรหลังเดือน ก.ค.2019

เลอ กัลล์บอกอีกว่าฝรั่งเศสยังทำงานร่วมกับจีนเพื่อดำเนินการปฏิบัติการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารด้วย

แจคเกอลีน มีร์เร (Jacqueline Myrrhe) ผู้เชี่ยวชาญอวกาศจาก GoTaikonauts.com ซึ่งพุ่งความสนใจไปที่โครงการอวกาศของจีนมากเป็นพิเศษ กล่าวว่าการปล่อยดาวเทียมซีเอฟโอแซทนั้น แสดงให้เห็นว่าสังคมนานาชาตินั้นมองจีนเป็นชาติที่น่าร่วมมือทำงาน และยังจะช่วยให้ฝรั่งเศสมีโอกาสปล่อยจรวดและสิทธิพิเศษในความร่วมมือด้านอวกาศอื่นๆ กับจีน และอาจจะมีมนุษย์อวกาศชาวฝรั่งเศสขึ้นไปอยู่ในสถานีอวกาศของจีนในอนาคต
จรวดลองมาร์ช-2ซี ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยในศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิวฉวน เพื่อนำส่งดาวเทียมซีเอฟโอแซท สำรวจอันตรายจากปรากฏการณ์ทางทะเลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  (STR / AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น