xs
xsm
sm
md
lg

นกแสกกับบทบาทในการควบคุมศัตรูพืช

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพนกแสกโดย Peter K Burian
เมื่อ 30 ปีก่อน สวนสัตว์แห่งมหาวิทยาลัย Tel Aviv ในอิสราเอลได้จัดให้มีพิธีมอบนกแสก (barn owl) จำนวน 15 ตัวให้แก่ Yossi Leshem ซึ่งเคยแจ้งความประสงค์ต่อสวนสัตว์ว่า ต้องการจะใช้นกแสกให้เป็นประโยชน์ นอกเหนือจากการเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งทางสวนสัตว์ก็ยินดี เพราะในเวลานั้นจำนวนนกแสกมีมากเกินไป

Leshem จึงนำนกใส่กรงเพื่อนำไปเลี้ยงที่สถานเกษตรกรรม kibbutz ในหุบเขา Hula ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกหนูนาบุกรุกทำลายผลิตผลทางการเกษตรอย่างแหลกราญ จนในบางเวลาเกษตรกรจะได้ยินเสียงหนูร้องอย่างอึงมี่ Leshem เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสมาคมปกป้องธรรมชาติแห่งอิสราเอลซึ่งมีจุดมุ่งหมายจะกำจัดและควบคุมสัตว์ที่เป็นศัตรูพืช มีความตั้งใจจะใช้นกแสก (tylo alba) ที่ชอบกินหนูนาเป็นอาหาร จึงคิดใช้นกแสกเป็นอาวุธในการกำจัดหนู ยิ่งเมื่อได้ประจักษ์ว่าสารเคมีที่เกษตรกรอิสราเอลใช้ในการฆ่าหนูนา อันได้แก่ สารเคมี sodium fluoroacetate ทำงานไม่ได้ผล และสารเคมีดังกล่าวได้ถูกองค์การอาหารและยา Food and Drugs Administration ของอเมริกาห้ามใช้ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน เพราะได้พบว่า สารนี้เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตเช่น หมี เหยี่ยว นกอินทรีย์ ฯลฯ ในอเมริกา และเมื่อเกษตรกรอิสราเอลนำสารนี้มาใช้ในอิสราเอลบ้างก็พบว่า นกกระยาง และบรรดานกที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในอิสราเอลในฤดูหนาวได้ล้มตายเป็นเบือ

แต่พอดีเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับเลบานอน และ Leshem ถูกเกณฑ์เป็นทหาร โครงการจะเลี้ยงนกแสกเพื่อฆ่าหนูจึงถูกยกเลิกไปชั่วคราว จนกระทั่งสงครามยุติ Leshem จึงสานต่อปณิธานเดิมที่ kibbutz ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมือง Beit Shean ผลปรากฎว่าโครงการประสบความสำเร็จมาก เพราะหนูถูกกำจัดไปมาก และเกษตรกรจากสามประเทศ คือ อิสราเอล ปาเลสไตน์ และจอร์แดน ซึ่งตามปกติไม่เป็นมิตรกันนักได้หันมาร่วมมือกันเลี้ยงนกแสกเพื่อใช้ในการควบคุมจำนวนหนู

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ คณะนักปักษีวิทยาจากบรรดาประเทศในตะวันออกกลางแถบเมดิเตอเรเนียน และแอฟริกาเหนือได้มาประชุมกันที่ทะเลสาบ Dead Sea ในเขตปกครองของ Jordan เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้าน biocontrol ที่ได้จากโครงการ และที่ประชุมได้ตกลงวางแผนจะขยายพื้นที่การเลี้ยงนกแสกไปถึงดินแดน Egypt, Cyprus, Greece, Tunisia และ Morocco ด้วย

ความจริงโครงการเลี้ยงนกแสกก็ใช่ว่าจะดีไม่มีที่ติ แต่มีปัญหาในการดำเนินงานบ้าง เช่น ลูกนกที่เกิดใหม่มักเสียชีวิตง่าย เพราะประเทศอิสราเอลตั้งอยู่ในเขตร้อน ดังนั้นกรงที่จะเลี้ยงนกจึงต้องได้รับการออกแบบให้สามารถควบคุมอุณหภูมิได้อย่างเหมาะสม ถึงวันนี้พื้นที่เลี้ยงนกแสกจึงได้ขยายออกไปเป็นวงกว้างมากขึ้น

ในส่วนของผลอินทผลัมนั้นก็มีการพบว่า ผลบนต้นมักถูกหนูปีนป่ายขึ้นไปกิน แล้วถ่ายมูลใส่ ทำให้เกษตรกรจำหน่ายขายผลไม่ได้ แต่เมื่อมีการใช้นกแสก ทั้งไร่อินทผลัม ไร่ข้าวสาลี ไร่มะกอกฝรั่ง และไร่ทับทิม ก็ปรากฏว่าพื้นที่มีสภาพปลอดหนู 100% แต่ถ้านกแสกอาศัยอยู่ในพื้นที่ๆ เกษตรกรยังใช้ยาฆ่าหนู เมื่อถึงเวลาหนูตาย และหนูถูกนกแสกกิน นกแสกก็จะตายตาม

เมื่อโครงการประสบความสำเร็จดีมากเช่นนี้ Leshem จึงได้จัดการพัฒนาโครงการต่อ โดยการฝึกอบรมเกษตรกรให้มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของนกแสก แล้วเผยแผ่ความรู้นี้ให้แก่ชาวบ้านอื่นๆ ต่อไป ว่านกแสกไม่ใช่นกยมทูตตามที่เคยเชื่อกันอีกต่อไป และเมื่อผลผลิตกับรายได้ของเกษตรกรได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นชัด หลายคนก็ได้เปลี่ยนความเชื่อที่ได้ฝังอยู่ในใจมาเป็นเวลานาน จากเดิมที่มักซื้อยาฆ่าหนู ตามปริมาณของหนูที่มารบกวนก็ได้ใช้นกแสกในการฆ่าหนูแทน ได้พบว่าปริมาณการใช้ยาฆ่าหนูได้ลดลงตั้งแต่ 40-60% อีกทั้งทำให้เกษตรกรมีกำไรจากการขายผลิตผลได้มากขึ้น

นอกเหนือจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว คุณประโยชน์ทางวิชาการของนกแสกก็มีเช่นกัน เพราะเวลานกแสกบินล่าเหยื่อ นักปักษีวิทยาได้ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณวิทยุที่ตัวนกซึ่งแสดงให้เห็นว่า มันมีรัศมีการบินล่าเหยื่อหาอาหารเป็นระยะทางตั้งแต่ 4-7 กิโลเมตรจากรัง อนึ่งเวลาล่าเหยื่อในเวลากลางคืน ขนสีขาวของมันได้ช่วยให้มันจับเหยื่อได้ง่าย ทั้งนี้เพราะหนูนาไม่ชอบความสว่าง ดังนั้นเวลามันเห็นขนสีขาวของนกแสกปรากฏ มันจะหยุดยืนนิ่งเสมือนถูกสาบ ให้นกแสกใช้กรงเล็บตะปบตัวได้อย่างดุษฎีภาพ

ดังนั้น นกแสกจึงกำลังเป็นสัตว์เพชรฆาตที่เกษตรกรชาวอิสราเอล จอร์แดน และปาเลสไตน์กำลังนิยมใช้ในการกำจัดหนูนา และความนิยมนี้กำลังขยับขยายไปสู่ประเทศอื่น เช่น Cyprus และ South Africa ด้วย ในบทบาทดังกล่าวนี้ นกแสกจึงกลายสภาพเป็นนกสันติภาพ ที่ทำให้ชนหลายชาติที่เป็นศัตรูกันมาทำกิจกรรมร่วมกัน แลกเปลี่ยนวิธีคิดกัน อีกทั้งได้ล้มเลิกความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า มันคือสัญลักษณ์ของความตาย ดังที่ชาวอียิปต์โบราณได้เคยแกะสลักรูปนกแสกเป็นอักษรภาพ hieroglyph บนผนังพีระมิด และในกรุง Athens ของชาวกรีกโบราณก็นิยมเลี้ยงนกแสก เพราะเชื่อว่า เทพธิดา Athena ทรงใช้นกแสกเป็นนกสื่อสารในการพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในกรุง Athens หรือในไอร์แลนด์ซึ่งเป็นเกาะกลางทะเล เวลามีพายุและคลื่นรุนแรง ชาวไอริชโบราณเชื่อว่า ถ้าใครได้ยินเสียงนกแสกร้อง นั่นเป็นลางบอกว่ากษัตริย์ใกล้จะสิ้นพระชนม์ คนไทยเราก็เคยเชื่อว่า นกแสกจะบินมาเหนือบ้าน คนที่ใกล้จะเสียชีวิตเช่นกัน ในคัมภีร์ไบเบิล Lilith ผู้เป็นภรรยาของ Adam (คนละคนกับ Adam ที่พระเจ้าสร้าง) ได้เลี้ยงนกแสกเพื่อใช้เตือนชาว Hebrew ว่า กำลังมีศัตรูจะมาฆ่า ดังนั้นชาวยิวจึงฝังใจเชื่อว่า นกแสกจึงเป็นนกปีศาจจริงๆ

แต่ในปัจจุบันนกแสกได้กลายเป็นนกปีศาจสำหรับหนูแล้ว มิใช่สำหรับคน

นกแสก (Tyto alba) อยู่ในวงศ์ Tytonidae เป็นสัตว์ปีกที่มีพบทั่วไปทั้งในยุโรปและเอเชีย เมื่อถึงฤดูหนาวที่อากาศเย็น นกแสกจะบินอพยพไปพำนักในบริเวณที่อากาศอบอุ่นกว่า แม้สถานที่นั้นเป็นเกาะกลางทะเล มันก็ยังบินถึง เมื่อถึงปลายทาง มันจะบุกโจมตีนกและสัตว์ท้องถิ่น จนชาวเกาะ Seychelles ได้ตั้งค่าหัวไว้สำหรับนกแสกทุกตัวที่ถูกฆ่าตาย

แสกเป็นนกที่มีจะงอยปากและกรงเล็บแหลมคมเหมือนเหยี่ยว ลำตัวมีขนปกคลุมเต็ม นกแสกที่อาศัยในอังกฤษมักมีขนสีเหลือง เทา และขาว ส่วนนกแสกในยุโรปมีขนสีเทาบนหลัง นกแสกในอเมริกาเหนือมีขนที่หน้าอกสีขาว และนกแสกในแอฟริกามีขนตรงส่วนท้องสีดำ

อาหารโปรดของนกแสก คือ สัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่า เช่น หนูนา กบ กิ้งก่า และแมลง ตามปกติมันจะออกล่าเหยื่อในเวลากลางคืน แต่ในฤดูหนาวที่อาหารขาดแคลน หรือในฤดูร้อนที่มันกำลังมีลูกอ่อนที่ต้องเลี้ยงดูเป็นจำนวนมาก นกแสกจะออกหาอาหารกลางวันแสกๆ ด้วย ตามปกติมันวางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง และจะฟักไข่เรียงกันครั้งละฟอง ดังนั้นไข่จะฟักออกลูกเป็นตัวไม่พร้อมกัน ลูกนกแสกจึงมีขนาดต่างๆ กัน ตัวที่มีอายุมากที่สุดจะมีขนาดใหญ่ที่สุด และตัวที่อายุน้อยที่สุดก็จะเล็กที่สุด ถ้ามีอาหารอุดมสมบูรณ์ ลูกนกทุกตัวจะมีโอกาสรอดชีวิต แต่ถ้าอาหารขาดแคลน ลูกนกตัวพี่จะรอด และจะ “ผลัก” ลูกนกตัวน้องให้ตกจากรัง ซึ่งจะอดอาหาร จนตายไปในที่สุด

ดังนั้นใครที่คิดจะเลี้ยงนกแสก จึงต้องคำนึงเรื่องธรรมชาติของมันและความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร ด้านนกแสกเองก็มีวิธีเอาตัวรอดของมันเอง เช่น ในยามที่ประสบปัญหา มันจะพยายามหาอาหารเพิ่ม หรือใช้วิธีอพยพ

พฤติกรรมประหลาดอีกประการหนึ่งของนกแสก คือ มันมักจมน้ำตายง่าย คงเพราะชอบดื่มน้ำ และเวลาอยู่ในน้ำลึก ขนของมันจะอุ้มน้ำจนทำให้บินขึ้นจากน้ำไม่ได้ และจมน้ำตายไปในที่สุด

นกแสกก็เช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆ คือ ในบางเวลาจะรู้สึกเครียด เช่น เวลาเห็นศัตรู หรือเวลามันถูกรบกวนด้วยเสียงดังมากๆ มันจะหลั่งฮอร์โมนความเครียด corticosterone ออกมา ซึ่งมีผลทำให้ชีพจรของมันเต้นแรง และการหลั่งฮอร์โมนนี้ในกรณีตัวเมียจะทำให้มันตั้งครรภ์ยาก อีกทั้งมีภูมิต้านทานโรคน้อย อาการเหล่านี้เป็นอาการเบื้องต้นที่จะนำมันไปสู่การสูญพันธุ์ในที่สุด

ดังนั้นเพื่อจะทำให้นกแสกไม่สูญพันธุ์ คนเลี้ยงจึงต้องหาทางป้องกันมิให้มันเครียด โดยวัดปริมาณ corticosterone ที่มันหลั่งออกมาพร้อมมูล และก็ได้พบว่า นกแสกที่ทำรังอยู่ในป่าที่มีการลอบตัดไม้มาก จะมีอาการเครียดมากกว่านกที่อาศัยอยู่ในป่าที่ถูกชาวบ้านรบกวนน้อย ดังนั้นเพื่อจะอนุรักษ์นกแสก บรรดานักอนุรักษ์จึงได้พยายามชักจูงรัฐบาลให้ออกกฎหมายห้ามการตัดไม้ทำลายป่าในฤดูที่นกแสกจะสืบพันธุ์ เพราะเสียงรบกวนจะบั่นทอนจิตใจ จนมันวางไข่ไม่ได้

ด้าน S. Redpatch แห่งสถาบันนิเวศและอุทกวิทยาในอังกฤษ ได้เคยรายงานพฤติกรรมของนกแสกสีเหลืองน้ำตาล (tawny owl) ว่า เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ นกตัวผู้จะส่งเสียงร้องเซ็งแซ่ ซึ่งนอกจากเสียงจะแสดงอารมณ์ที่เบิกบานของผู้ร้องแล้ว เสียงยังเป็นสัญญาณบอกนกตัวเมียว่า เจ้าของเสียงมีร่างกายที่สมบูรณ์ และเหมาะสำหรับการสืบพันธุ์เพียงใด โดย Redpatch ได้เปิดเทปบันทึกเสียงของนกแสกตัวผู้ที่มีพยาธิ และพบว่า นักตัวเมียต้องใช้เวลานานถึง 15 นาที จึงจะส่งเสียงตอบรับ ในขณะที่เสียงจากนกที่สภาพร่างกายสมบูรณ์พร้อม จะได้รับการตอบสนองจากนกตัวเมียภายในเวลา 6.30 นาทีเท่านั้นเอง

ด้าน Jose Luis Rena แห่ง California Institute of Technology ในอเมริกา ซึ่งสนใจการทำงานของสมองนกแสกก็ได้พบว่า แม้ในคืนที่มืดสนิทและเงียบสงัด การเคลื่อนไหวของหนูแม้จะน้อยนิด แต่ก็มากพอที่จะทำให้นกแสกรู้ตำแหน่งของหนู โดยใช้สมองส่วนที่เรียกว่า interior colliculus ซึ่งสามารถบอกระยะทางที่เหยื่ออยู่ห่างจากมันได้ เช่น เวลาเหยื่ออยู่ทางขวาของตัวมัน หูข้างขวาจะได้ยินเสียงดังกว่าหูข้างซ้ายเล็กน้อย ความแตกต่างของความดังจะทำให้เซลล์ประสาทในหูรู้ตำแหน่งของเหยื่อในทันที และเพื่อให้การจับเหยื่อสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสียงรบกวนที่เกิดจากการบินของนกแสกเองก็จะต้องมีน้อยนิดด้วย และธรรมชาติก็ได้ช่วยให้มันสามารถทำได้ เพราะขนของนกแสกอ่อนนุ่ม (แต่ขนของนกอื่นหยาบ) ดังนั้นเวลาอากาศไหลผ่านขนของนกแสก เราแทบไม่ได้ยินเสียงมันบิน Geoffrey Lilley แห่งมหาวิทยาลัย Southhampton ในอังกฤษ จึงเสนอแนะว่า ปีกเครื่องบิน ถ้ามีขนปกคลุมเหมือนขนนกฮูก ชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้สนามบินคงจะยกมือโมทนาสาธุ

ในขณะที่ 3 ใน 4 ของพื้นที่ผิวของโลกได้ถูกมนุษย์ใช้หรือปรับเปลี่ยนไปเรียบร้อยแล้ว และกิจกรรมต่างๆ ที่มนุษย์ทำได้เปลี่ยนแปลงสภาพของป่าจนสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อยู่ในป่าต้องปรับวิถีชีวิตของมัน

เท่าที่ผ่านมา มนุษย์ได้ให้ความสนใจต่อพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์พอสมควรแล้ว แต่ยังไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องการปรับตัวของสัตว์ป่ายามถูกมนุษย์รบกวน ซึ่งคาดว่าคงรู้สึกเหมือนๆ กับการกำลังถูกมนุษย์ “ล่า” และมันคงเปลี่ยนพฤติกรรมการออกหาอาหารในเวลากลางวันให้น้อยลง และเพิ่มเวลาหากินในเวลากลางคืนให้มากขึ้น รวมถึงเปลี่ยนพฤติกรรมหาคู่ และการเลี้ยงลูกอ่อน หรือแม้แต่การอพยพรังหนีคนที่มารบกวน

แต่เมื่อป่าทั่วโลกกำลังถูกบุกรุกอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นโอกาสการหนี “รอด” ของสัตว์ก็จะมีได้น้อยลงๆ การต่อสู้ระหว่างเหยื่อกับนักล่า ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ จะสิ้นสุดลง เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งซึ่งในที่นี้คือสัตว์ ต้องสูญพันธุ์ไป

อ่านเพิ่มเติมจาก Eco-evolutionary Dynamics โดย A.P. Hendry จัดพิมพ์โดย Princeton University Press, Princeton ปี 2016

เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น