xs
xsm
sm
md
lg

“ดอนนา สตริคแลนด์” ผู้หญิงคนที่ 3 ของ “โนเบลฟิสิกส์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดอนนา สตริคแลนด์ มาถึงห้องปฏิบัติการของเธอที่มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู หลังทราบผลประกาศรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ (Cole Burston / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / AFP )
ผลประกาศรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปีล่าสุด “ดอนนา สตริคแลนด์” ฉายแสงเด่นกว่าใคร เพราะนักฟิสิกส์จากแคนาดาผู้มีผลงานบุกเบิกทางด้านเลเซอร์นี้ นับเป็นผู้หญิงคนแรกในรอบ 55 ปีที่ได้รางวัลในสาขาดังกล่าว

ราชบัณฑิตสภาวิทยาศาสตร์สวีเดน (Royal Swedish Academy of Sciences) ประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2018 เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2018 ให้แก่ 3 นักฟิสิกส์ ได้แก่ อาเธอร์ แอชกิน (Arthur Ashkin) เจอราร์ด มูรู (Gérard Mourou) และ ดอนนา สตริคแลนด์ (Donna Strickland) "สำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นการค้นพบใหม่ในสาขาฟิสิกส์เลเซอร์"

ทั้งนี้ สตริคแลนด์ นับเป็นผู้หญิงคนแรกในรอบ 55 ปี ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ นับแต่ มาเรีย จี เมเยอร์ (Maria G. Mayer) เคยได้รับรางวัลสาขาเดียวกันนี้เมื่อปี 1963 และนักฟิสิกส์หญิงผู้ได้รับรางวัลทรงเกียรติปีล่าสุดยังเป็นผู้หญิงคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขานี้

สตริคแลนด์ เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู (University of Waterloo) แคนาดา ซึ่งเธอได้แถลงข่าวที่มหาวิทยาลัยหลังทราบผลรางวัลโนเบลว่า เธออ้างอิงงานวิจัยของมาเรียในงานวิทยานิพนธ์ของเธอเองด้วย

“ฉันต้องยอมรับด้วยว่า ฉันเสียใจที่เรียกเธอว่า “เขา” ในงานวิทยานิพนธ์ของฉัน หากไม่มีคนอ่านวิทยานิพนธ์ของฉันมาพูดว่า “น่าอายจริงๆ ดอนนา” แล้วเปลี่ยนจากเขาเป็น “เธอ” ฉันก็คงไม่รู้ว่าเธอคือผู้หญิง” สตริคแลนด์ กล่าว

ย้อนไปเมื่อปี 1939 มาเรียได้พยากรณ์ว่า อะตอมสามารถดูดกลืนโฟตอนได้ 2 โฟตอน โดยสตริคแลนด์ที่เอ่ยถึงเรื่องนี้และได้อ้างอิงแนวคิดดังกล่าวในวิทยานิพนธ์ของเธอกล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวคิดได้โดยผู้หญิง และได้เปลี่ยนวิธีของเราที่มีต่อวิทยาศาสตร์

“แต่ก็ยังมีความคิดที่ว่า เธอแค่ตามหลังสามีเป็นงานๆ ไป ในขณะที่เขาได้กลายเป็นศาสตราจารย์และขึ้นไปอยู่แถวหน้าและย้ายไปหลายๆ มหาวิทยาลัยเพื่อทำงานในฐานะนักเคมี เห็นได้ชัดว่าผู้หญิงเรามาไกล ฉันรู้สึกมาตลอดเวลาที่ฉันได้รับการปฏิบัติ” สตริคแลนด์เล่า

สตริคแลนด์แบงรางวัลครึ่งหนึ่งจาก 50% ของเงินรางวัลกับ ดร.เจอราร์ด มูรูจากฝรั่งเศส จากผลงานในการสร้างเลเซอร์ความเข้มสูงที่มีความยาวคลื่นสั้นมากๆ ส่วนรางวัลอีก 50% เป็นของ อาเธอร์ แอชกิน จากผลงานคีมจับเชิงแสง (Optical Tweezers) และการประยุกต์ใช้กับระบบทางชีววิทยา


กำลังโหลดความคิดเห็น