xs
xsm
sm
md
lg

เสียดาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


“น่าเสียดายนะครับที่บ้านเราหนังสือแบบนี้ไม่ค่อยจะมีซักเท่าไหร่ หาซื้อได้ยาก แล้วร้านจำหน่ายก็ไม่ค่อยมี” คำรำเพยรำพันแนวตัดพ้อถูกบรรยายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของระบบสื่อสังคมออนไลน์ปรากฏแสดงเป็นตัวอักษรอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ตรงหน้าพร้อมๆ กับเอกสารหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีตามที่ถูกระบุในขั้นตอนการสั่งซื้อ

“ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่ครับ แต่จะทำอย่างไรได้เพราะการทำหนังสือในจำพวกนี้ซักเล่มหนึ่งค่อนข้างสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งเงิน เวลา และความเอาใจใส่ ส่วนข้อมูลก็มีการเปลี่ยนแปลงอัพเดตอยู่เรื่อยๆ ถ้าเกิดผิดพลาดพิมพ์ออกมาการแก้ไขมันเป็นเรื่องยุ่งยากมากครับ” ผมตอบ “แค่ขั้นตอนกระบวนการตรวจเอกสารรวบรวมข้อมูลก็เรียกได้ว่าหืดขึ้นคอแล้วครับ นี่ก็เป็นเรื่องดีว่าหนังสือเล่มนี้ร่วมกันเขียนหลายท่าน ภาระหลายเรื่องเลยสามารถแบ่งกันรับผิดชอบได้น่ะครับ” ผมเสริม ก่อนคำถามและคำตอบถูกรับส่งกันไปมาอีกมากเรื่อง

“ครับผม จะพยายามครับ” คำกล่าวตอบรับสำหรับคำขอจากคู่สนทนาเกี่ยวกับการทำหนังสือเล่มอื่นออกมาเพิ่ม ก่อนแยกย้ายอำลาไปจัดการภาระชีวิตของแต่ละฝ่าย

หนังสือถูกนำใส่ซองพัสดุไปรษณีย์แบบกันกระแทก ชื่อที่อยู่รับและผู้ส่งถูกระบุลงบนซองด้านหน้าและด้านหลังก่อนถูกปิดผนึก “ช่วงบ่ายมีเวลาว่างพอดี” เป็นแวบหนึ่งของความคิดเมื่อมองไปยังกองพัสดุไปรษณีย์ตรงหน้า ผมคว้าเอาหนังสือเล่มหนึ่งที่ใกล้ตัวขึ้นมาดู

หนังสือเล่มเล็กขนาดครึ่งกระดาษ A4 ความหนาประมาณ 90 หน้า ปกขึ้นรูปงูกะปะบนพื้นหลังยามค่ำคืนดำสนิท มีตัวพิมพ์สีสว่างปรากฏเป็นชื่อหนังสือว่า “A Field Guide to The Venomous Snakes of Mainland ASEAN Nations” หนังสือรวบรวมชนิดของงูพิษจำนวน 62 ชนิด ที่มีรายงานกระแพร่กระจายและสามารถพบได้บนแผ่นดินใหญ่ของประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบไปด้วย เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซียฝั่งตะวันตก และสิงคโปร์ ทั้งหมดเป็นงูพิษที่พิษมีความรุนแรงและอันตรายต่อผู้ได้รับพิษเข้าสู่ร่างกาย เนื้อหาในหนังสือกล่าวถึงชนิด การจัดจำแนก การแพร่กระจาย สถานที่พบ และชีววิทยาบางประการของงูพิษเหล่านั้น รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อถูกฉกกัด ผู้เขียน 4 ท่านลำดับตามอาวุโส ได้แก่ Merel J. Cox กำธร ธีรคุปต์ Mark F. Hoover ลาวัณย์ จันทร์โฮม ซึ่งล้วนเป็นผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง และสำหรับผมนี่เป็นโอกาสที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ ถึงแม้จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับงูพิษแต่จุดประสงค์ไม่ได้เพื่อก่อให้เกิดความวิตก หวาดกลัว หรือเข้าถลำห้ำหั่นสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เมื่อพบเจอ แต่เพื่อให้เกิดความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องอันเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับจัดการกับความกลัวที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้ไม่เข้าใจ อันมักจะเป็นเหตุนำให้ชีวิตของทั้งงูพิษและตัวมนุษย์เองเข้าไปสู่อันตรายที่ไม่ควรจะเกิด

“สวัสดีครับ” ผมรับสายโทรศัพท์ที่ดังขึ้นหลังจากวางหนังสือในมือลงบนโต๊ะทำงาน หลังจบบทสนทนา เสียงลมเฮือกยาวถูกพ่นลอยออกมากจากระบบทางเดินหายใจหลังวางสาย “มันช่างริบหรี่เสียจริง” ผมถอนหายใจอีกครั้ง “ไม่น่าแปลกใจถ้าจะใช้เวลาอีกนานสำหรับหนังสือเล่มใหม่และคงน่าเสียดายถ้าจะเป็นจริงได้แค่ในความคิด” ถึงคราวผมรำพึงรำพันกับตัวเอง

สติของผมเปลี่ยนย้ายกลับมาเพื่อสานงานคั่งค้างต่อให้เรียบร้อยเสร็จสิ้นพร้อมกับไม่แน่ใจว่าความรู้สึกที่เริ่มก่อตัวในใจนั้นคืออะไร แต่อย่างน้อยภาพงูกะปะที่บันทึกมาได้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ตรงหน้าก็ช่วยลดความขุ่นมัวไปได้บ้าง

“น่าจะถ่ายรูปมาให้เยอะกว่านี้” ผมรำพึงรำพันอีกครั้ง...จนได้

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ


"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"



พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น