นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปข้อถกเถียงข้ามศตวรรษเกี่ยวกับ “นกยักษ์” ที่สูญพันธุ์ไปนานกว่า 1,000 ปี ว่าแท้จริงเป็นสปีชีส์ใดกันแน่ และยังได้ข้อมูลอีกว่านกยักษ์ดังกล่าวตัวโตกว่าที่คิด มีขนาดเท่ากับยีราฟในปัจจุบัน
นกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเคยอาศัยและท่องไปตามทุ่งหญ้าสวันนาห์และป่าฝนของมาดากัสการ์มานานกว่า 60 ล้านปี จนกระทั่งประมาณ 1,000 ปีก่อน เมื่อมนุษย์อพยพเข้าไปในดินแดนดังกล่าวก็ได้ล่านกยักษ์จนสูญพันธุ์ไปหมด
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 19 มีความพยายามหาคำตอบว่านกขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยอาศัยอยู่บนโลกนั้นคือสปีชีส์ใด บางส่วนเชื่อว่าเป็น เอพีออร์นิส ไททัน (Aepyornis titan) แต่บางส่วนแย้งว่าเป็นแค่นกยักษ์เอพีออร์นิส แมกซิมัส (Aepyornis maximus) ที่ตัวโตเท่านั้น
ข้อถกเถียงที่ค้างคามาเป็นร้อยปีเพิ่งได้ข้อสรุปเมื่อ เจมส์ ฮันส์ฟอร์ด (James Hansford) จากสมาคมสัตววิทยาลอนดอน (Zoological Society of London) นำข้อสงสัยดังกล่าวมาปัดฝุ่นและหาคำตอบ
ฮันส์ฟอร์ดพบว่านกยักษ์ดังกล่าวแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากนกยักษ์อีพีออร์นิสแมกซ์มัส และยังจัดให้เป็นนกยักษ์สกุลใหม่คือสกุลวอรอมเบ (Vorombe) ซึ่งเป็นภาษามาดากัสการ์ที่มีความหมายว่า “นกขนาดใหญ่” และยังพบว่านกยักษ์ดังกล่าวตัวใหญ่ที่เคยคิดกันไว้มาก
จากตัวอย่างที่มีเขาสามารถประเมินได้ว่า นกยักษ์ดังกล่าวหนักได้ถึง 860 กิโลกรัม ซึ่งหนักเท่าๆ กับยีราฟที่โตเต็มวัย ซึ่งสูงใหญ่กว่าคน และบินไม่ได้อย่างแน่นอน
รายงานวิชาการเรื่องนี้ของฮันส์ฟอร์ดได้ตีพิมพ์ลงวารสารรอยัลโซไซตีโอเพนไซน์ (Royal Society Open Science) โดยในการศึกษานั้นเขาได้นำตัวอย่างกระดูกนกยักษ์จากทั่วโลกมาศึกษา และใช้อัลกอริทึมของปัญญาประดิษฐ์ประมวลข้อมูลสามมิติของตัวอย่างกระดูกเหล่านั้นเพื่อหาขนาดนกยักษ์
ครั้งสุดท้ายที่มีคำอธิบายเกี่ยวกับนกยักษ์คือเมื่อปี 1894 โดย ซีดับเบิลยู แอนดรูวส์ (C.W. Andrews) นักวิทยาศาสตร์อังกฤษ ที่ระบุว่า นกขนาดใหญ่ ที่สุดคือ เอพีออร์นิส ไททัน ซึ่งเป็นสปีชีส์ที่ตัวโตกว่า เอพีออร์นิส แมกซิมัส แต่นักวิทยาศาสตร์คู่แข่งจากฝรั่งเศสยืนกรานว่า ตัวอย่างที่เห็นนั้นเป็นนกยักษ์เอพีออร์นิส แมกซิมัส ที่ตัวโตเท่านั้น
นอกจากฮันส์ฟอร์ดจะพบว่า นกยักษ์ดังกล่าวเป็นสปีชีส์ใหม่แล้ว ยังพบว่า กระดูกของนกยักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนี้ แตกต่างจากตัวอย่างกระดูกนกยักษ์สปีชีส์อื่นๆ อย่างสิ้นเชิง จึงจัดให้เป็นนกยักษ์สกุลใหม่ที่แยกออกมา
วอรอมเบไททัน นกยักษ์สปีชีใหม่และสกุลใหม่นี้ สูงได้ถึง 3 เมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 650 กิโลกรัม จึงจัดว่าเป็นสกุลนกยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบด้วย และการพบตัวอย่างที่หนักถึง 860 กิโลกรัมนี้ ฮันส์ฟอร์ดบอกว่า เป็นสิ่งที่ทำลายกำแพงความเข้าใจเกี่ยวกับขนาดของนกที่เรามีอยู่ในปัจจุบันด้วย
นกยักษ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนี้เป็นญาติใกล้ชิดกับนกโมอา ในนิวซีแลนด์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และยังเป็นนกวงศ์เดียวกับนกบินไม่ได้อย่าง นกกีวี นกอีมู และนกกระจอกเทศ
มาดากัสการ์นั้นเป็นดินแดนที่แยกขาดจากแผ่นดินทวีปแอฟริกาอื่นๆ ทำให้สิ่งมีชีวิตบนเกาะพัฒนาและวิวัฒนาการจนมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากดินแดนอื่นๆ และคงรักษาสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ได้ยาวนาน ทว่าเมื่อมนุษย์เริ่มเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ประมาณ 1,000 ปีก่อน นกยักษ์ก็สูญพันธุ์ไปหมด
ฮันส์ฟอร์ดแสดงความวิตกว่า ตอนนี้เราเริ่มเห็นการทำเกษตรปริมาณมหาศาล และถิ่นอาศัยได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากการเผาป่า ซึ่งนั่นดูเหมือนจะยิ่งขับให้สัตว์จำเพาะถิ่นขนาดใหญ่ในมาดากัสการ์ รวมถึงนกยักษ์ต้องสูญพันธุ์ และเขายังเชื่อด้วยว่า นกยักษ์ที่สูญพันธุ์ไปนับพันปีนี้จะกุมความลับล้ำค่าที่จะเผยว่าเราจะบริหารจัดการระบบนิเวศในอนาคตของมาดากัสการืได้อย่างไร
“นกยักษ์อาจจะแสดงบทบาทสำคัญที่สุดในการคงรักษาและพัฒนาภูมิทัศน์ที่เป็นธรรมชาติให้แก่มาดากัสการ์ ก่อนที่มนุษย์จะไปถึง เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงบทบาทของสัตว์เหล่านี้ที่มีต่อภูมิทัศน์ เพื่อที่เราจะเริ่มต้นใหม่ในการรักษาสิ่งที่เรายังหลงเหลืออยู่” ฮันส์ฟอร์ดระบุ