xs
xsm
sm
md
lg

อาชีพแปลก...ผู้พิทักษ์ “ต้นเบาบับ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

อันนาห์ มูว์ฮะวี (ซ้าย) และเพื่อน เป็นหนึ่งในผู้หญิงราวพันคนของหมู่บ้านที่มีอาศัยดูแลและเก็บเกี่ยวผลเบาบับ ดังที่เห็นในมือของเธอทั้งสอง (MARCO LONGARI / AFP )
จากกระแสคลั่งไคล้ “เบาบับ” ที่ถูกยกให้เป็น “ซูเปอร์ฟรุต” สุดยอดผลไม้ เหมือน ลูกทับทิม, โกจิเบอร์รี หรืออาซาอิเบอร์รี ตอนนี้ที่แอฟริกาใต้จึงมีอาชีพ “ผู้พิทักษ์ต้นเบาบับ” ที่ให้ผู้หญิงคอยดูแลต้นไม้ยักษ์ดังกล่าวตั้งแต่ยังเป็นต้นอ่อน

ต้นเบาบับเป็นต้นไม้ที่พบในแอฟริกา ซึ่งมีกิ่งก้านเหมือนแขนงรากต้นไม้ และเป็นที่รู้จักอย่างว่า “ต้นไม้กลับหัว” โดยเม็ดของผลต้นเบาบับนั้นอุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ นักโภชนาการบางส่วนจึงยกให้ผลเบาบับเป็น “ซูเปอร์ฟรุต” (superfood) อีกชนิดหนึ่ง

ฌ็อง ฟรองซัวส์ โซบีคกี (Jean Francois Sobiecki) นักโภชนาการและนักพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน จากมหาวิทยาลัยโจฮันเนสเบิร์ก (University of Johannesburg) ในแอฟริกาใต้ บอกว่า เบาบับเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ มีวิตามินอี และมีสารประกอบจากพืชบางชนิดที่ออกฤทธิ์ต้านการติดเชื้อ และต้านอนุมูลอิสระ

“มันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวอย่างยิ่ง ระหว่างวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ โปรตีน และยังมีสารประกอบที่ช่วยบำบัดการเจ็บป่วย ซึ่งเมื่อเอามารวมกันแล้วก็ทำให้กลายซูเปอร์ฟรุตที่น่าทึ่งมาก” ฟรองซัวส์กล่าวถึงสรรพคุณของผลไม้จากแอฟริกาใต้

ความต้องการผลเบาบับเพิ่มสูงมากเรื่อยๆ โดย ซาราห์ เวนเตอร์ (Sarah Venter) นักนิเวศวิทยา ซึ่งเปิดบริษัทอีโคโปรดักส์ (Ecoproducts) ที่สนับสนุนให้หญิงแอฟริกาใต้มีรายได้จากการดูแลต้นเบาบับ หรือที่รู้จักกันว่า “ผู้พิทักษ์ต้นเบาบับ” นั้น เผยข้อมูลว่า ความต้องการผงเบาบับซึ่งได้จากเม็ดเบาบับนั้นเพิ่มมากขึ้นทุกปี มานับตั้งแต่ปี 2003 โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่ยุโรป สหรัฐฯ และแคนาดา

สมาพันธ์เบาบับแอฟริกา (African Baobab Alliance) เผยข้อมูลว่า ยอดการส่งออกผงเบาบับเมื่อปี 2017 นั้น สูงถึง 450 ต้น ขณะที่ เบาบับฟูดส์ (Baobab Foods) ผู้จัดจำหน่ายเบาบับรายใหญ่ เห็นความต้องการผลิตภัณฑ์จากเบาบับที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยยกตัวอย่างการนำเข้าผงเบาบับเมื่อปี 2018 ในสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว มีความต้องการมากขึ้นกว่า 2 เท่า

ผงแห้งๆ ในกะลาเม็ดเบาบับเป็นที่ต้องการสูง และถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่เติมกลิ่นในเครื่องดื่มอัดลม ไอศครีม ชอกโกแลต ไปจนถึงเหล้าจิน และเครื่องสำอาง

ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นนี้ส่งผลดีลงไปถึงผู้พิทักษ์ต้นเบาบับ ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนในการดูแลต้นไม้มหัศจรรย์นี้ตามความสูงของต้นไม้ที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับค่าตอบแทนเซ็นติเมตรละกว่า 600 บาท และพวกเธอจะได้รับค่าตอบแทนไปเรื่อยๆ จนกว่าต้นเบาบับจะสูงถึง 3 เมตร ซึ่งหลังจากนั้นต้นไม้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกนับ 1,000 ปี

อันนาห์ มูว์ฮะวี (Annah Muvhali) หญิงแอฟริกันใต้วัย 54 ปี ซึ่งเป็นยายของหลาน 5 คน มีอาชีพเป็นผู้ดูแลต้นเบาบับ และเก็บผลเบาบับเพื่อเข้าโรงงานกระเทาะผงเบาบับออกจากกะลามาตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งรายได้จากอาชีพนี้ช่วยให้เธอนำไปสร้างบ้านแก่ลูก 2 คนและหลานๆ ได้

“ก่อนที่ฉันจะรู้ว่าเบาบับมีราคานั้น ครอบครัวของฉันและฉันเองก็กินผลไม้นี้เป็นปกติอยู่แล้ว เพราะว่าเอาไปทำเป็นโจ๊กเนื้อสัมผัสคล้ายๆ โยเกิร์ตอันโอชะ ซึ่งให้สารอาหารและทำให้อิ่มท้องได้ ฉันยังใช้รักษาอาหารปวดท้องให้หลานบ่อย” มูว์ฮะวีบอกเอเอฟพี

ส่วน เอลิสา ฟาสวานา (Elisa Phaswana) หญิงวัย 59 ปี ซึ่งดูแลต้นเบาบับที่ตอนนี้สูงถึง 1 เมตรแล้ว และยังสร้างรั้วเพื่อป้องกันแพะมากินต้นไม้ด้วย บอกว่าโครงการดูแลต้นเบาบับนี้ช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้แก่ชุมชน ทั้งยังช่วยสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคนในหมู่บ้านและเด็กๆ ที่หารายได้ยากลำบาก
หญิงคนงานแบกถุงบรรจุเม็ดเบาบับ (MARCO LONGARI / AFP)
หญิงคนงานแบกถุงบรรจุเม็ดเบาบับภายในโรงงานบริษัทอีโคโปรดักส์ (MARCO LONGARI / AFP)
หญิงคนงานใช้เครื่องบีบอัดเพื่อกระเทาะเม็ดภายในผลเบาบับ (MARCO LONGARI / AFP)
เอลิสา ฟาสวานา หนึ่งในผู้ดูแลต้นเบาบับ (MARCO LONGARI / AFP)
ซาราห์ เวนเตอร์ ผู้ก่อตั้ง บริษัทอีโคโปรดักส์ (MARCO LONGARI / AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น