2 ยานโรเวอร์ญี่ปุ่นลงจอดพร้อมลุยสำรวจดาวเคราะห์น้อย หลังปล่อยตัวออกจากยานอวกาศ ตั้งเป้าฉายปมกำเนิดระบบสุริยะ โดยยานจะนำตัวอย่างกลับมายังโลกในปี 2020
ยานโรเวอร์รูปร่างกลมเหมือนหุ่นยนต์ดูดฝุ่น 2 ลำขององค์การการบินสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency) หรือแจกซา (JAXA) ลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยริวกู (Ryugu) เรียบร้อย หลังถูกปล่อยออกจากยานฮายาบูซะ 2 (Hayabusa2)
ยานโรเวอร์มิเนอร์วา-2 (Minerva-II) ได้ลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยรูปไข่เมื่อ 21 ก.ย.2018 โดยแจกซาแถลงว่า ยานโรเวอร์ทั้งสองลำปฏิบัติการได้ปกติ และเริ่มต้นสำรวจพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยริวกุแล้ว
รายงานยังระบุด้วยว่า ยานโรเวอร์ทั้งสองอาศัยข้อดีของดาวเคราะห์น้อยที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำ เพื่อกระโดดไปรอบๆ พื้นผิวดาวเคราะห์น้อย โดยจะกระโดดได้สูง 15 เมตร และจะค้างอยู่กลางอากาศนาน 15 นาที เพื่อสำรวจลักษณะทางกายภาพของดาวเคราะห์น้อย
ด้าน ยูอิชิ สึดะ (Yuichi Tsuda) ผู้จัดการโครงการของแจกซากล่าวว่า เขารู้สึกภูมิใจที่พวกเขาได้สร้างวิธีใหม่ๆ ในการสำรวจอวกาศบนวัตถุอวกาศขนาดเล็ก
ทั้งนี้ เมื่อปี 2005 แจกซา ล้มเหลวในความพยายามปล่อยยานโรเวอร์ลงจอดบนดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป็นความพยายามในปฏิบัติการเดียวกันนี้
เดือนหน้ายานฮายาบูซะ 2 จะปล่อย “อิมแพคเตอร์” (impactor) ที่จะระเบิดเหนือดาวเคราะห์น้อยริวกุ และยิงวัตถุทองแดงหนัก 2 กิโลกรัม ให้ระเบิดสร้างหลุมอุกกาบาตบนพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย
หลุมอุกกาบาตดังกล่าวจะให้ “ตัวอย่างสด” ที่เผยร่องรอยลมและการแผ่รังสีอายุพันปี โดยคาดหวังว่าจะได้คำตอบเรื่องคำถามพื้นฐานบางประการเกี่ยวกับชีวิตและเอกภพ รวมถึงไขคำตอบว่าธาตุใดจากอวกาศที่ก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตบนโลก
ตัวอย่างจากหลุมอุกกาบาตจะถูกเก็บโดยหัววัดจากยานลงจอดของฝรั่งเศส-เยอรมนีชื่อยานมาสคอต (Mobile Asteroid Surface Scout: MASCOT)
ยานฮายาบุซะ2 มีขนาดประมาณตู้เย็นหลังใหญ่ๆ และมีแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และเป็นทายาทของยานสำรวจดาวเคราะห์น้อยลำแรกของแจกซาคือยานฮายาบุซะ (Hayabusa)
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2010 ยานฮายาบุซะได้เดินทางกลับจากดาวเคราะห์น้อยรูปร่างเหมือนมันฝรั่ง ที่มีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์น้อยริวกุ พร้อมทั้งนำตัวอย่างอันประเมินค่าไม่ได้กลับมายังโลกด้วย หลังการเดินทางท่องอวกาศนาน 7 ปี ซึ่งนับเป็นการฉลองความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์
ส่วนยานฮายาบุซะ2 นั้น ถูกส่งจากโลกออกไปเมื่อเดือน ธ.ค.2014 และจะกลับโลกมาพร้อมตัวอย่างดาวเคราะห์น่อยในปี 2020