xs
xsm
sm
md
lg

น่านไง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


เสียงเตือนข้อความเข้าดังขึ้นพร้อมสัญลักษณ์แสดงอยู่บนจอคอมพิวเตอร์แบบพกพา เบี่ยงดึงความสนใจของผมจากกิจกรรมการระรัวแป้นพิมพ์จากความเร่งของงานอันรีบด่วนให้เลื่อนลูกศรบนหน้าจอไปยังกล่องข้อความสีแดงสดใสแล้วกดเพื่อเข้าไปอ่าน

“สวัสดีครับ” คำทักทายจากมิตรแปลกหน้าบนโลกสังคมเสมือนที่ยังไม่เคยพบหน้ากัน “อยากจะทราบว่าเป็นชนิดไหนน่ะครับ?” ประโยคคำถามตัดตรงเข้าสู่ประเด็นสงสัยใครรู้

“อะไรล่ะเนี่ย?” เป็นคำแรกที่เกิดขึ้นเมื่อผมเห็นภาพสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งนั้น

งูตัวหนึ่ง ลำตัวยาว มีดวงตาขนาดใหญ่ ส่วนหัวด้านบนมีสีเขียวสดใส ส่วนหัวด้านล่างสีเหลืองอ่อน ครึ่งลำตัวตัวด้านหน้าสีเขียวเช่นเดียวกับส่วนหัว ลำตัวครึ่งด้านหลังมีสีน้ำตาลเข้มและมีจุดสีน้ำตาลอ่อนเรียงตามแนวขวาง ทำให้เห็นเหมือนมีขีดพาดขวางตั้งแต่ช่วงกลางลำตัวเรื่อยตลอดไปจนถึงส่วนหาง เกล็ดค่อนข้างมันเรียบแต่ไม่สะท้อนแสงมากนัก อีกทั้งจากภาพถูกส่งผ่านระบบมาทำให้การขยายดูการเรียงตัวของเกล็ดที่หัวและนับจำนวนเกล็ดบริเวณลำตัวเป็นไปได้ยากสำหรับผม

“อะไรล่ะเนี่ย?” ยังคงเป็นคำถามดังอยู่ในใจ ส่วนสมองก็คงยังพยายามเปรียบเทียบเข้ากับงูชนิดต่าง ๆ ที่พอจะรู้จักมักคุ้น “จะงูทางมะพร้าวเขียวก็ไม่ใช่ จะงูเขียวกาบหมากก็ยังไม่เหมือน” ผมคิด ไม่มีตัวไหนเลยที่มีสีสันและโดยเฉพาะลวดลายใกล้เคียงกับงูตัวนี้ หนังสือที่มักถูกหยิบใช้ประจำก็ไม่ได้อยู่ใกล้ตัวเพราะออกมาสำรวจเก็บข้อมูลต่างจังหวัด

“ไม่ทราบเหมือนกันครับ คงต้องรอให้ท่านอื่นมาช่วยพิจารณาแล้วล่ะครับ” ผมตอบกลับหลังจากการใช้ความคิดอยู่พักใหญ่เพื่อให้แน่ใจว่านิสัยการมักจะมองข้ามสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำจะไม่เกิดขึ้นในครั้งนี้ “แต่ว่าภาพถ่ายนี่ได้จากป่าไหนครับ?” ฉากหลังครึ้มทึบเขียว ตระไคร่กับมอสบนก้อนหิน และพื้นดินที่งูกำลังขดเลื้อยอยู่ทำให้ผมคิดว่าน่าจะเป็นภาพจากแหล่งพื้นที่ธรรมชาติ

“จังหวัดน่านครับ” คำตอบตอบกลับ

“น่านอีกแล้วเหรอ” ผมอุทานตอบกลับผ่านแป้นพิมพ์

ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก รายงานการพบชนิดของสัตว์เลื้อยคลานในประเทศไทยเกิดขึ้นที่จังหวัดน่านหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เลื้อยคลานในกลุ่มงู และตั้งแต่ช่วงต้นปีถ้าจำไม่ผิดผมนับรวมได้ 2 ชนิด คือ Protobothrops mucrosquamatus และ Liopeltis frenatus ทั้งสองชนิดนี้ยังไม่เคยมีรายงานการพบในไทยมาก่อนจึงยังไม่การตั้งชื่อภาษาไทยที่เป็นทางการ ถึงแม้จะไม่ใช่การค้นพบชนิดใหม่แต่การรายงานการพบและการแพร่กระจายใหม่ที่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนก็เป็นการเพิ่มความหลากชนิดของสิ่งมีชีวิตในประเทศไทยเช่นกันผมคิดเช่นนั้น

เสียงข้อความแจ้งเตือนดังพร้อมขึ้นข้อความ “ทราบแล้วครับ เป็นชนิด Cyclophiops multicinctus ครับ” ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ “ขอบคุณมากครับ” ผมตอบกลับก่อนสนทนาในอีกหลายประเด็น จากการสืบค้นข้อมูลการตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยงูชนิดนี้เคยมีรายงานการพบซากงูโดนทับตายบนท้องในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์มาก่อนแล้ว ถึงอย่างนั้นการพบและได้ภาพงูครั้งนี้ก็ช่วยยืนยันว่าจังหวัดน่านมีความหลากหลายของสัตว์ในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมา และอาจจะมีอีกมากชนิดน่าสนใจรอการถูกสำรวจพบ ไม่ใช่เพียงแต่การพบเจอหรือการถ่ายรูปเท่านั้น การเริ่มต้นสำรวจอย่างจริงจัง การทำรายงาน การนำข้อมูลมาใช้ในการการอนุรักษ์​และการจัดการอีกมากมายที่น่าสนใจลงมือและเฉพาะเพียงแค่สัตว์ในกลุ่มนี้กลุ่มเดียวเท่านั้น สัตว์ในกลุ่มอื่น ๆ ก็เช่นกัน

หลังคำกล่าวลาในโลกสังคมเสมือน ผมเปิดโปรแกรมเก็บภาพถ่ายเพื่อเปิดดูสภาพพื้นที่ของจังหวัดน่านที่เคยได้ไปเยือนเมื่อครั้งก่อน การปรากฏของภาพบนหน้าจอทำให้จิตใจห่อเหี่ยวลงเรียกได้ว่าค่อนข้างเยอะ พื้นที่ป่าถูกแผ้วถาง การใช้ไฟเผา ความแห้งแล้ง เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ และอีกมาก ผมได้แค่ถอนหายใจและกลับไปนั่งทำงานคั่งค้างต่อ

ความหวังยังมีแต่เพียงแค่ริบหรี่เหลือเกิน

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ


"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"



พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น