ในเดือนกันยายนนี้ ดาวหาง (21P/Giacobini-Zinner) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ดาวหาง จี-แซด” จะปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณกลุ่มดาวสารถี จากนั้นกลางเดือนจะค่อยๆ เคลื่อนมาทางทิศตะวันออก เข้าสู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ซึ่งในช่วงวันที่ 10-11 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าดาวหางจะมีความสว่างมากที่สุด ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวหางโคจรเข้ามาใกล้โลกและใกล้ดวงอาทิตย์
เราได้เฝ้าติดตามถ่ายภาพดาวหางดวงนี้ แต่จากอุปสรรคสภาพท้องฟ้าของประเทศไทยมีเมฆฝนฟ้าคะนอง ไม่อำนวยต่อการถ่ายภาพ จึงเลือกใช้กล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเซียรารีโมท รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในการบันทึกภาพแทน แต่จะใช้กล้องอะไรถ่ายนั้น ยังไม่จำเป็นเท่ากับว่าเราจะหาดาวหางเจอได้อย่างไร คอลัมน์นี้จึงขออธิบายวิธีการค้นหาดาวหางแบบง่ายๆ มาเล่าให้ฟังครับ
ข้อมูลเกี่ยวกับดาวหาง จี-แซด (21P/Giacobini-Zinner)
ดาวหางจี-แซด เป็นดาวหางคาบสั้นที่มีคาบการโคจรประมาณ 6.5 ปี ครั้งล่าสุดโคจรมาใกล้โลกเมื่อปี 2555 และจะโคจรจรเข้าใกล้โลกอีกครั้งในปี 2568 แต่อาจมีความสว่างปรากฏลดลง เนื่องจากสูญเสียมวลสารจากการระเหิดเมื่อได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์จนมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ
ในช่วงเดือนกันยายนดาวหางจะปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า บริเวณกลุ่มดาวสารถี และจะค่อยๆ เคลื่อนมาทางทิศตะวันออก เข้าสู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ปรากฏให้สังเกตการณ์จนถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้ ดาวหาง จี-แซด มีค่าความสว่างปรากฏสูงสุดประมาณแมกนิจูด 7 จึงมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เพราะความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณแมกนิจูด 6 ลงไป หากใช้กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กกำลังขยายตั้งแต่ 7 เท่าขึ้นไปช่วยสังเกตการณ์จะเห็นชัดเจนขึ้น
สิ่งที่น่าติดตามคือดาวหางจะเคลื่อนเข้าใกล้กระจุกดาวเปิด M35 หลังเที่ยงคืนของวันที่ 15 กันยายน 2561 เวลาประมาณ 00.30 น. และในวันที่ 17 กันยายน นี้ดาวหางจะเคลื่อนที่ปรากฏอยู่ใกล้กับเนบิวลาแมงกระพรุน (Jellyfish Nebula) เหมาะแก่การถ่ายภาพดาวหางคู่กับเนบิวลาอีกด้วย
การสังเกตดาวหางด้วยตาเปล่า
ก่อนอื่นต้องอธิบายนิดนึงว่า ดาวฤกษ์ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่านั้น มีค่าความสว่างปรากฎต่ำสุดที่ แมกนิจูด 6 ซึ่งนั้นหมายถึงดาวที่สว่างเป็นจุดนะครับ แต่สำหรับดาวหางนั้น เราไม่ได้เห็นเป็นจุด แต่จะเห็นเป็นวัตถุที่มีลักษณะพล่ามัวหรือบางครั้งก็เห็นเป็นวัตถุสว่างที่มีหางยาว (ดังนั้นหากมีดาวหางที่มีค่าความสว่างปรากฎ แมกนิจูด 6 ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถ้าจะยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ลองเอากล้องส่องดูดาวฤกษ์ที่มีค่าความสว่าง 6 แล้วลองปรับให้ดาวหลุดโฟกัสเป็นดาวเบลอๆ พล่าๆ ก็จะเห็นประมาณนั้นแหล่ะครับ)
แต่สำหรับดาวหาง จี - แซด ดวงนี้มีค่าความสว่างเพียง 7 นั้นหมายความว่าความสว่างน้อยมาก จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาที่มีความสามารถในการรวมแสงวัตถุเท่านั้น จึงจะเห็นได้
เทคนิคการหาตำแหน่งดาวหาง
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าดาวหางดังกล่าว เราไม่ได้เห็นด้วยตาเปล่า แล้วเราจะหาตำแหน่งดาวหางเจอได้อย่างไร คำตอบคือการใช้โปรแกรมที่มีการอัพเดจข้อมูล พิกัดของดาวหางที่มีการเปลี่ยนตำแหน่งไปแต่ละวัน แต่ละชั่วโมง หรือแต่ละนาทีได้ครับ ซึ่งโปรแกรมง่ายๆ ที่เราสามารถนำมาใช้หาตำแหน่งดาวหางได้ คือ โปรแกรม Stellarium เวอร์ชั่นล่าสุดครับ
1. หลังจากดาวน์โหลดโปรแกรมและติดตั้งบนคอมพิวเตอร์แล้ว เปิดเมนู Configuration window และเลือกแถบเมนู Plugins ตามด้วยเมนู Solar System Editor
2. จากนั้นเลือกแถบเมนู Solar System และตามด้วยคลิ๊ก Import orbital elements in MPC
3. จะปรากฏหน้าต่าง Import data ดังภาพด้านล่าง ให้คลิ๊กเลือกเมนู Comet ตามด้วยการเลือก Source ที่ชื่อว่า MPC’s list of Observable Comets และตามด้วยการคลิ๊กแถบเมนู Get orbital elements
4. หลังจากปรากฏหน้าต่าง Import data ให้ทำการพิมพ์ชื่อดาวหางที่เราต้องการหาเข้าไปในช่องค้นหา เช่น 21P/Giacobini-Zinner ก็จะปรากฏชื่อดาวหางในฐานข้อมูลล่าสุดเข้ามา ให้ทำการคลิ๊กถูกที่หน้าชื่อดาวหางดังกล่าวด้วย สุดท้ายคลิ๊กคำสั่ง Add objects
5. หลังจากที่ทำการ Add objects ชื่อดาวหางที่เราต้องการเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถใช้คำสั่งค้นหาตำแหน่งของดาวหางตามที่เราต้องการได้เลย
6. ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 11 กันยายน เวลา 02.32 น. ดาวหางจะปรากฏในตำแหน่งใกล้กับกลุ่มดาวสารถีดังภาพ ซึ่งเราก็สามารถนำเอาพิกัดดังกล่าวไปใช้ค้นหาดาวหางที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างไม่ยากครับ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการง่ายๆ ที่สามารถนำเอาไปลองใช้ในการค้นหาดาวหางกันได้นะครับ ครั้งหน้าหากมีข่าวดาวหางเข้ามาใกล้โลกอีก เราก็จะใช้เทคนิคเดียวกันนี้ คือ ให้ดาวน์โหลดโปรแกรมตัวล่าสุด แล้วทำการ Add objects ดังวิธีการข้างต้น เพียงเท่านี้เราก็ออกไปค้นหาดาวหาง หรือถ่ายภาพกันได้แล้วครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน