xs
xsm
sm
md
lg

ต้นกำเนิดของนวนิยาย Frankenstein กับอิทธิพลที่มีสังคมในอีก 200 ปีต่อมา

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพประกอบนวนิยาย Frankenstein โดย Mary Shelley ฉบับปี 1831
A piece of literature
Is meant for millennia.
But its ups and downs,
Only known in the author’s heart.
กวีจีน Tao – Fu

เดือนมกราคม ปี 1818 เป็นช่วงเวลาที่ภูเขาไฟ Tambora ในอินโดนีเซียกำลังระเบิดอย่างรุนแรง เถ้าถ่าน ลาวา และฝุ่นที่ถูกพ่นออกมาจากปล่องภูเขา ได้ทำให้ดินฟ้าอากาศทั่วโลกปั่นป่วน บางแห่งมีฝนตกหนัก บางแห่งในเวลากลางวันท้องฟ้ามืดครึ้ม เพราะไม่มีแดด และหลายประเทศในยุโรปไม่มีฤดูร้อน

ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1816 หนุ่มสาว 4 คน ซึ่งประกอบด้วย Mary Wollstonecraft Godwin วัย 18 ปี Percy Bysshe Shelley กวีหนุ่มผู้เป็นสามีของเธอ นักเขียน John Polidori และพี่สาวต่างมารดาของ Mary ชื่อ Claire คนทั้งสี่กำลังเยือนครอบครัวของท่านกวี Lord Byron ที่ปราสาท Diodati ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ทะเลสาบ Geneva คืนวันนั้นฝนตกหนัก ฟ้าคะนอง และเสียงฟ้าร้องคำรามน่ากลัว

เพราะทุกคนเป็นนักเขียนดังนั้น Lord Byron จึงเสนอให้ทุกคนเขียนนวนิยายผี เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศนอกปราสาท และในคืนนั้นเอง Mary ก็ฝันร้าย เห็นศพเดินได้ มีใบหน้าน่าเกลียด ตาสีเหลือง และเดินตัวแข็ง แขนแกว่งไปมาเหมือนท่อนไม้ เมื่อถึงเวลาเช้าของวันต่อมา Mary ได้บอกทุกคนว่า เธอได้แรงดลใจในการเขียนเรื่องแล้ว และนี่ก็คือที่มาของนวนิยายเรื่อง Frankenstein

อีก 2 ปีต่อมาคือ ในเดือนมกราคม ค.ศ.1818 หนังสือ Frankenstein; or the Modern Prometheus ก็ปรากฏในบรรณโลก โดยไม่มีชื่อผู้ประพันธ์ แต่มีชื่อของ Percy Shelley เป็นคนเขียนคำนำ ทันทีที่อ่านนวนิยายจบ ผู้อ่านทุกคนก็รู้สึกตื่นกลัวในความเดือดร้อนและความหายนะที่จะเกิดขึ้นถ้ามีการนำวิทยาศาสตร์ที่มีคนเข้าใจน้อยมาใช้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะแพทย์ในนวนิยายชื่อ Victor Frankenstein ได้สร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาจากศพ แล้วตัดขาดให้มันไม่มีเพื่อน คือให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะถูกสังคมรังเกียจ ปฏิเสธการเป็นมิตร และความเข้าใจใดๆ

เมื่อถึงที่สุด ความอ้างว้างเพราะถูกปฏิเสธไม่ให้มีที่ยืนในสังคม ได้ทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นกลายเป็นอสุรกายที่จิตใจมีแต่ความแค้น จึงได้ออกล่าฆ่าคน เป็นการตอบแทนบุรุษผู้สร้างมันให้ถูกสังคมประนามกลับ นี่เป็นการแก้แค้นเอาคืน ความเหงาที่ขาดคนเข้าใจ และการขาดความรักทำให้ผู้สร้างชื่อ Victor Frankenstein และผู้ถูกสร้างชื่อ Frankenstein เป็นอสุรกายไปด้วยกันอย่างเลือดเย็น

ในโลกของความจริง หลังจากที่ทุกคนได้อ่านนวนิยายแล้ว ก็ได้ตั้งคำถามว่า ใครคือคนเขียน และ Shelley ได้ตอบว่า เด็กสาววัย 18 ปี คือคนเขียนเรื่องนี้ คำถามต่อมาคือ ด้วยตนเอง หรือมีใครช่วย

ในการตอบคำถามนี้ นักวรรณคดีวิเคราะห์ได้ศึกษาผลงานต้นฉบับของ Mary Godwin และงานในอดีตของ Shelley จนพบว่า เนื้อเรื่องและเนื้อหาหลักๆ เป็นของ Mary Shelley (เธอได้แต่งงานกับ Percy Shelley แล้ว) และสามีได้ช่วยปรับแก้สำนวนไปประมาณ 5% เพราะคำที่ Mary ใช้ไม่สละสลวย เช่น ในต้นฉบับเดิม Mary เขียนว่า เวลาอสุรกายขอให้แพทย์ Victor รักมันบ้างและโปรดอย่าทอดทิ้งมัน Percy ได้เขียนในฉบับพิมพ์ใหม่ว่า เพราะ Victor เป็นพระเจ้า และมันคือ Adam ในเมื่อพระเจ้าทรงไม่ทิ้ง Adam หมอ Victor ก็ไม่ควรทิ้งอสุรกายเช่นกัน

Mary Shelley เองรู้ดีว่าเวลาถูกทอดทิ้งและถูกตัดขาดให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ความรู้สึกและจิตใจของผู้ถูกกระทำเป็นเช่นไร เพราะหลังจากที่เธอลืมตามาดูโลกได้ 11 วัน มารดาของเธอ ซึ่งเป็นนักเขียนเช่นกัน ได้เสียชีวิตลง และเธอต้องอยู่ในความดูแลของแม่เลี้ยงใจร้าย เมื่ออายุ 16 ปี เธอได้ตกหลุมรักกับกวีหนุ่ม Percy Shelley ซึ่งเป็นผู้ดีที่มีฐานะในสังคม และเป็นนักเคลื่อนไหวที่ชอบต่อต้านสังคมในแทบทุกเรื่อง ทั้งๆ ที่ในเวลานั้น Percy Shelley มีภรรยาแล้ว และมีลูก 1 คน ทั้งสองจึงพากันหนีไปสวิสเซอร์แลนด์ สำหรับเธอเพื่อไปแต่งงานกับเขา และสำหรับเขาเพื่อหนีเจ้าหนี้

ขณะเขียนนวนิยาย Frankenstein ชีวิตของ Mary มีความว้าวุ่นมาก เพราะ Claire ซึ่งเป็นพี่สาวต่างมารดาของ Mary กำลังตั้งท้องกับ Lord Byron และเขากำลังจะสลัดรักเธอ ซึ่งเธอก็ได้ปรับทุกข์ให้ Mary ฟังโดยตลอด ด้านพี่สาวต่างมารดาอีกคนหนึ่งของ Mary ก็ฆ่าตัวตายในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1818 และอีกหนึ่งเดือนต่อมาภรรยาคนแรกของ Percy Shelley ก็จมน้ำตาย ลุถึงเดือนธันวาคม Mary จึงได้เข้าพิธีสมรสกับ Percy อย่างถูกกฎหมาย ความอลหม่านและประสบการณ์ถูกประนามและทอดทิ้งโดยผู้คนรอบข้าง คงมีผลในการวางพล็อตเรื่อง Frankenstein ไม่มากก็น้อย

ในเวลาเดียวกันเรา ณ วันนี้ก็รู้ว่า Mary สนใจวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะในนวนิยาย Frankenstein ที่ตีพิมพ์ซ้ำในปี 1831 เธอได้เขียนคำนำใหม่ว่า เธอได้ร่วมวงสนทนากับ Percy, Byron และ Polidori เกี่ยวกับเรื่องการทดลองของ Luigi Galvani นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลียนในปี 1780 ที่ได้ทดลองปล่อยกระแสไฟฟ้าจากเซลล์ไฟฟ้าเข้ากบที่ตายไปแล้ว และเห็นขากบกระตุก ซึ่งเป็นอาการของสิ่งมีชีวิต Mary คงได้แนวคิดการชุบชีวิตด้วยกระแสไฟฟ้านี้มาใช้ในการสร้างนวนิยาย ในด้านชีวิตส่วนตัว บิดาของ Mary เป็นเพื่อนสนิทของ Humphrey Davy ซึ่งเป็นนักเคมีผู้ประสบความสำเร็จในการแยกน้ำด้วยกระแสไฟฟ้า และแยกสารประกอบเป็นธาตุโดยใช้ไฟฟ้าเช่นกัน ดังนั้น Mary จึงมั่นใจว่า ไฟฟ้าสามารถชุบชีวิตได้ ยิ่งเมื่อรู้เพิ่มเติมว่า ในปี 1803 Giovanni Aldini ซึ่งเป็นหลานของ Galvani ได้พยายามทำศพคนที่จมน้ำตายให้ฟื้น และคนที่เสียสติให้กลับมาเป็นคนสติดี Mary ก็ยิ่งมั่นใจในความสามารถของไฟฟ้ามาก และคงภาวนาให้ฝันเป็นจริง เพราะถ้าเป็นไปได้ เธอเองก็เพิ่งเสียบุตรไปจากคลอด จึงมีความปราถนาลึกๆ จะเห็นลูกกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

ในส่วนของชื่อ Frankenstein นั้น นักประวัติวรรณคดีชื่อ Roseanne Montillo ได้พบว่าในสมุดบันทึกของ Mary Shelley มีตอนหนึ่งที่เธอเขียนเกี่ยวกับการเดินทางไปประเทศเยอรมนีกับสามี และได้ไปที่เมือง Nieder-Beerbach กับ Burg Frankenstein เธออาจได้ยิน ได้ฟังประวัติความเป็นมาของปราสาท Frankenstein รวมถึงเจ้าของปราสาทและผู้คนในแถบนั้น โดยเฉพาะ Johann Konrad Dipple ซึ่งเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุที่อ้างว่าตนมีศิลานักปรัชญา (philosopher’s stone) ที่สามารถยืดอายุขัยของเจ้าของ และเปลี่ยนตะกั่วเป็นทองคำได้ เพราะ Dipple ไม่มีความรู้ทางเคมี ดังนั้นในการทดลองแปลงธาตุ จึงเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้หมู่บ้าน ในนวนิยาย Frankenstein ทั้งอสุรกายและผู้สร้างมันได้เสียชีวิตในกองเพลิงเช่นกัน

ตามปกตินวนิยายที่ดีนอกจากจะมีจุดประสงค์เพื่อให้คนอ่านได้ความสนุกสนานและความสุขแล้ว นวนิยายควรเตือนสติให้คิดในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงด้วย Mary Shelley ได้ทำให้ผู้อ่านนวนิยายของเธอประหวั่นกลัวในการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามสร้าง และดัดแปลงสิ่งต่างๆ อย่างไม่ตระหนักในผลกระทบทั้งหลายที่จะติดตามมา เสมือนกับว่า นักวิทยาศาสตร์คือพระเจ้าผู้สามารถเนรมิตสิ่งต่างๆ ได้ตามอำเภอใจ แต่ไม่สามารถควบคุมจิตสำนึก จิตวิญญาณ ความรับผิดชอบชั่วดี และจริยธรรมของสิ่งมีชีวิตที่ตนสร้าง

หนังสือ Frankenstein ได้กลายมาเป็นวรรณกรรมคลาสสิก ที่ได้ทำให้ Mary Shelley เป็นนักเขียนสตรีที่เขียนนวนิยายไซ-ไฟเล่มแรกของโลกที่ใครๆ ก็รู้จัก และชื่นชม ซึ่งความสำเร็จนี้น่าจะทำให้เธอมีความสุข แต่เมื่อเธออายุ 25 ปี ลูกของเธอ 3 คนจาก 4 คน ได้เสียชีวิต แล้วสามี Percy ก็ตายตาม Mary มิได้แต่งงานใหม่ และจบชีวิตในปี 1851 สิริอายุ 54 ปี

แม้นวนิยายที่เธอเขียนจะมีอายุร่วม 2 ศตวรรษ แต่ข้อคิดที่คนอ่านได้จากการอ่านไม่ได้ตกยุค กลับทันสมัย และล้ำสมัยมาก เพราะเทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีกายภาพ ได้ทำให้ทุกสิ่งประดิษฐ์มีคำ Franken นำหน้า จนทุกคนรู้ในทันทีว่า นี่เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่อาจเป็นอันตราย

เช่น Frankenforest คือ ป่าที่ประกอบด้วยต้นไม้ซึ่งได้รับการตัดต่อทางพันธุกรรม จนสามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็วอย่างผิดปรกติ โดยไม่ต้องใช้สารเคมี อีกทั้งให้เนื้อไม้มาก และหายใจแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปเพื่อใช้ในการสังเคราะห์อาหารด้วยแสงได้ในปริมาณมากกว่าต้นไม้ปรกติ

Frankenmouse คือ หนูที่ได้รับการตัดต่อทางพันธุกรรม ซึ่งอาจได้รับการพัฒนาต่อไปเป็น oncomouse ซึ่งเป็นหนูที่มีโอกาสสูงในการเป็นมะเร็ง

Frankomum คือ แม่ที่นำไข่ในร่างกายของตนไปแช่แข็ง เพื่อให้ลูกสาวที่เป็นหมันสามารถใช้ไข่ใบนั้นในการให้กำเนิดทายาทของลูกสาวเอง

Frankencat หมายถึง แมวที่ไม่ทำให้คนเลี้ยงเป็นโรคภูมิแพ้

Frankenpine คือ อาคารที่สร้างสูงเหมือนต้นสน เพื่อใช้ในการโทรคมนาคม

Frankenspud คือ มันฝรั่งที่ได้รับการตัดต่อทางพันธุกรรม จึงมีภูมิต้านทานโรคใบไหม้

Frankenstorm คือ มหาพายุที่เกิดจากการรวบรวมพายุย่อยๆ หลายลูก ทำให้มีพลังในการทำลายล้างสูง

Frankencell คือ เซลล์ประดิษฐ์ที่นักวิทยาศาสตร์ (เช่น J. Craig Venter) ใช้ในการสร้างจุลินทรีย์ โดยมีรหัสพันธุกรรม (genome) จำนวนน้อยที่สุด

Frankenmosquito หมายถึง ยุงตัวผู้ที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมให้สามารถถ่ายโอนยีน (gene) อันตรายไปให้ยุงตัวเมีย มีผลทำให้ลูกยุง ที่เกิดตามมาไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน จำนวนยุงที่เป็นพาหะโรคอันตรายจึงลดลงๆ

นอกจากนี้ก็มีคำ Frankenfood, Frankendrug และ Frankenwine ฯลฯ ซึ่งกำลังทำให้คนที่บริโภคต้องยั้งคิดและตระหนักในภัยของเทคโนโลยีปัจจุบันที่อาจเปลี่ยนโลกไปในทางร้าย จนใครก็ควบคุมไม่ได้

การอภิปรายโต้แย้งเกี่ยวกับเทคโนโลยีใดๆ ที่กำลังอุบัติในปัจจุบัน เช่น biotech, nanotech, synthetic biology และ artificial intelligence คงต้องระลึกถึงบทเรียนที่ได้จากนวนิยาย Frankenstein ของ Mary Shelley ว่า นักวิทยาศาสตร์จะสร้างอะไรก็สร้างได้ แต่ต้องดูแลสิ่งที่สร้าง เหมือนพ่อแม่ที่ต้องดูแลลูกของตน ไม่ทิ้งขว้างอย่างไม่รับผิดชอบ เพราะคนที่ถูกสร้างขึ้นมาจะแสวงหามิตรภาพจากผู้อื่น ซึ่งถ้าถูกปฏิเสธแล้ว ปฏิเสธเล่า คนนั้นก็อาจกลายเป็นอสูรได้ นั่นหมายความว่านักวิจัยทุกวันนี้ ถ้าจะเนรมิตสิ่งมีชีวิตอะไรขึ้นมา ต้องยินดี และเต็มใจรับผิดชอบผลที่ตามมาทุกรูปแบบ และต้องช่วยให้สิ่งประดิษฐ์นั้นมีที่ยืนอย่างเหมาะสมในสังคมด้วย และต้องติดตามความเป็นไปของสิ่งมีชีวิต Franken เหล่านั้นอย่างใกล้ชิด เสมือน “ลูก” เพราะถ้าไม่ดูแลสิ่งมีชีวิต Franken ก็อาจสร้างอันตราย จนสังคมล่มสลาย ดังนั้น นักเทคโนโลยี Franken ควรทำงานในลักษณะเปิดกว้างให้สังคมร่วมรู้ และร่วมรับผิดชอบด้วย โดยการร่วมกันฟังความคิดเห็นต่างๆ ที่จริงใจอย่างจริงใจ

ถ้า Mary Shelley ยังมีชีวิตอยู่ เธอคงดีใจมากที่หนังสือของเธอได้ทำให้โลกตระหนักในภัยของเทคโนโลยี ว่าถ้าทำไปอย่างคึกคะนอง เช่น George Church ที่พยายามจะสร้างมนุษย์ Neanderthal แล้วผู้หญิงคนใดจะอุ้มบุญตัวอ่อน Neanderthal และถ้าทารก Neanderthal ถูกคลอดออกมา ทารกนั้นจะอยู่อย่างไรในสังคมที่มีแต่ Homo Sapiens

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมนี้ นักวิทยาศาสตร์จีนในสังกัด Chinese Academy of Sciences Center for Excellence in Molecular Plant Sciences และ Institute of Plant Physiology ได้ประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์โมเลกุล DNA ของยีสต์เป็นครั้งแรก

ในงานที่เผยแพร่ในวารสาร Nature ทีมวิจัยได้พบว่า ยีสต์ซึ่งตามธรรมชาติมี 16 Chromosomes แต่โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ นักวิจัยทำให้สามารถสร้าง Chromosome ทั้ง 16 สายให้เป็นสายเดียวได้ โดยยีสต์ประดิษฐ์นี้สามารถทำหน้าที่ด้าน recombination, replication และ segregation ได้เหมือนยีสต์ธรรมชาติทุกประการ

โลกจึงกำลังมี Frankenyeast แล้ว

อ่านเพิ่มเติมจาก The Lady and Her Monsters: A Tale of Dissection, Real-Life Dr. Frankensteins and the Creation of Mary Shelley’s Masterpiece โดย Roseanne Montella จัดพิมพ์โดย Harper Collins, New York ปี 2013



กำลังโหลดความคิดเห็น