xs
xsm
sm
md
lg

10-11 ก.ย. “ดาวหางจี-แซด” เข้าใกล้โลก คาดสว่างสุด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 ภาพถ่ายดาวหางจี-แซด เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 (ภาพ : Michael Jaeger)
สดร.ชวนจับตา “ดาวหางจี-แซด” โคจรเข้ามาใกล้โลกและใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด 10-11 กันยายนนี้ สังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แนะดูด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กจะเห็นชัดเจน

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 - 11 กันยายน 2561 “ดาวหางจี-แซด” (21P/Giacobini-Zinner หรือ G-Z) จะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด และยังเป็นช่วงที่ดาวหางดวงนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดอีกด้วย สามารถสังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 10 กันยายน หรือเวลาประมาณ 00.15 น. ของวันที่ 11 กันยายน ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณกลุ่มดาวสารถี คาดว่าจะมีค่าความสว่างปรากฏสูงสุดประมาณ 7 (ความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6) ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากใช้กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก กำลังขยายตั้งแต่ 7 เท่าขึ้นไป จะเห็นดาวหางดวงนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงต้นเดือนกันยายน ดาวหางจี-แซด จะปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณกลุ่มดาวสารถี จากนั้นกลางเดือนจะค่อย ๆ เคลื่อนมาทางทิศตะวันออก เข้าสู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการสังเกตการณ์ คือวันที่ 10-11 กันยายน 2561 ซึ่งคาดการณ์ว่าดาวหางจะมีความสว่างมากที่สุด ทั้งนี้ ช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 10 กันยายน เวลาประมาณ 0:15 น. เป็นต้นไป ดาวหางจี-แซดจะเคลื่อนที่เข้าใกล้กระจุกดาวเปิด M37 ในคืนดังกล่าวไม่มีแสงจันทร์รบกวน สามารถสังเกตการณ์ได้จนถึงรุ่งเช้า หลังจากนั้น ในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 15 กันยายน 2561 เวลาประมาณ 0:30 น. เป็นต้นไป ดาวหางจี-แซด จะเคลื่อนเข้าใกล้กระจุกดาวเปิด M35 สามารถสังเกตการณ์ได้จนถึงรุ่งเช้าเช่นเดียวกัน

ดาวหางจี-แซด (21P/Giacobini-Zinner หรือ G-Z) เป็นดาวหางคาบสั้น มีคาบการโคจรประมาณ 6.5 ปี ครั้งล่าสุดโคจรมาใกล้โลกเมื่อปี 2555 และจะโคจรจรเข้าใกล้โลกอีกครั้งในปี 2568 แต่อาจมีความสว่างปรากฏลดลง เนื่องจากสูญเสียมวลสารจากการระเหิดเมื่อได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์จนมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ
ภาพจำลองแสดงตำแหน่งดาวหางจี-แซด ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เวลา 02:00 น. ตั้งแต่วันที่ 2-30 กันยายน 2561  จะเห็นว่าดาวหางเคลื่อนที่จากกลุ่มดาวสารถีไปยังกลุ่มดาวคนคู่ และกลุ่มดาวนายพรานตามลำดับ


กำลังโหลดความคิดเห็น