xs
xsm
sm
md
lg

ผ่านกฎหมายให้สิทธิ์นักวิจัยเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมของตัวเองได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ครม.ผ่านกฎหมายให้สิทธิ์นักวิจัยเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมของตัวเองได้ หลังรอมา 10 ปี ชี้ทำให้กระบวนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์รวดเร็ว คล่องตัวสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน นวัตกรรมไม่ล้าสมัย

เมื่อวันที่ 5 ก.ย.61 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม (Bayh-Dole Act) แล้ว สาระสำคัญ คือ การให้สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุน โดยใช้งบประมาณของรัฐเป็นของผู้รับทุนหรือให้นักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานวิจัยและนวัตกรรมของตัวเองได้เลย หรือ หากผู้รับทุนไม่ประสงค์เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถแจ้งความประสงค์ให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นของผู้ให้ทุน ซึ่งผู้รับทุนสามารถทำความตกลงกับผู้ให้ทุนในการขอใช้ประโยชน์ได้

นอกจากนี้ หากผู้รับทุนไม่ได้ใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายใน 2 ปี และมีผู้ต้องการขอใช้สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้น คณะกรรมการซึ่งจัดตั้งโดย วท. จะพิจารณาให้ผู้รับทุนทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิไปยังผู้ต้องการใช้สิทธินั้นได้หรือหากผู้รับทุนไม่ได้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายใน 2 ปี ผู้ให้ทุนมีสิทธิเรียกเอาผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นคืนมาเป็นของผู้ให้ทุนได้

"ที่สำคัญรัฐสามารถสงวนสิทธิในการใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นได้ ในกรณีใช้เพื่อการศึกษา ค้นคว้า ทดลองและวิจัย หรือในภาวะสงครามหรือในภาวะฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเพื่อการเยียวยาด้านสาธารณสุข ความมั่นคง"

รมว.วท.กล่าวต่อว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ประเทศไทยรอมา 10 ปีเพื่อปลดล็อกอุปสรรคสำคัญในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของผลงานที่เกิดจากการสนับสนุนทุนจากหน่วยงานให้ทุนของรัฐ คือ สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าวยังคงอยู่ที่หน่วยงานให้ทุนหรือถือครองสิทธิร่วมระหว่างหน่วยงานให้ทุนกับหน่วยงานรับทุน

"เช่น สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย ต้องการนำผลงานที่เกิดขึ้นจากการรับทุนนั้นไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จะต้องใช้เวลาและความพยายามในการเจรจาและประสานกับหน่วยงานให้ทุนซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีพันธกิจที่จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยตรง จึงทำให้ไม่สามารถถ่ายทอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้แก่ภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กระบวนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ติดขัด ไม่คล่องตัว ล่าช้า ไม่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจปัจจุบันที่ต้องการความคล่องตัวสูง เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมบางอย่างล้าสมัย"

ดร.สุวิทย์ กล่าววว่า พ.ร.บ.นี้ จะช่วยให้เกิดความคล่องตัว เพราะนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานวิจัยและนวัตกรรมของตัวเองได้เลย ซึ่งจะส่งผลในการบริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรม ทำให้เกิดโอกาสเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังภาคเอกชนเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะประโยชน์เพิ่มมากขึ้น

"อีกทั้งยังสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้รับทุนในการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการของตลาด เกิดธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมและสตาร์ทอัพขึ้นในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ สร้างงาน สร้างเงิน สร้างรายได้ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีรายได้กลับคืนสู่รัฐในรูปภาษี ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดบริษัทธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่แยกตัวออกจากมหาวิทยาลัยและมีนักวิจัยเข้าร่วม"


กำลังโหลดความคิดเห็น