xs
xsm
sm
md
lg

เวียน

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


“ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” หนึ่งในประโยคบนแผ่นคัตเอาท์ประกาศกำหนดการของงานชุมนุมงานหนึ่งที่สามารถรับรู้ได้เลยว่า “สืบ นาคะเสถียร” หรือที่ผมมักเรียกว่า “พี่สืบ” เป็นผู้เอ่ยกล่าว ถึงแม้ว่าจะน่าเสียดายที่ผมไม่เคยได้มีโอกาสได้ยินด้วยตัวเองแต่เมื่อไหร่ได้ฟังหรืออ่านก็รู้สึกถึงความจริงจังทรงพลังหนักแน่นอยู่เสมอไม่คลาย

“งานที่ห้วยฯ ปีนี้ได้ไปไหม” ประโยคคำถามจากรุ่นพี่ที่เคารพ โดยไม่ต้องเอ่ยถึงชื่องานหรือต้องมีคำถามกลับไปว่าหมายถึงงานใด ใครจัด หรือจัดเพื่ออะไร

“ปีนี้คงไม่ได้ไปครับพี่ ภาระงานช่วงนี้บีบบังคับมากครับ” ผมตอบด้วยเสียงอ่อนเบาผสมกับความรู้สึกผิดในใจ

ในช่วงท้ายของเดือนสิงหาคมต่อต้นเดือนกันยายน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี มีกำหนดจัดงานวันรำลึก สืบ นาคะเสถียร เป็นประจำทุกปี ซึ่งงานในปีนี้เป็นงานรำลึกครบรอบ 28 ปี จัดระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน ผู้ร่วมงานสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพียงแต่การพักแรมนั้นต้องนำอุปกรณ์พักแรมมาเองเนื่องจากทางเขตฯ ไม่สามารถรับรองผู้ร่วมงานได้หมดทุกคน แต่อย่างไรก็ตามน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้เดินทางมาร่วมงานต้องการอยู่แล้วเพื่อจะได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ภายในงานมีการบรรยาย การเสวนาเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ และการจัดนิทรรศการของทั้งหน่วยงานรัฐและองค์กร การเดินทางไปร่วมงานจึงเป็นการเพิ่มเสริมความรู้ ข้อมูล และยังเป็นการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ทำงานทางด้านนี้อีกด้วย การไม่ได้เดินทางไปร่วมงานในปีนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับผม

ผืนป่าตะวันตกซึ่งเป็นผืนป่าขนาดใหญ่มีพื้นที่อนุรักษ์มากมายเชื่อมต่อกัน อีกทั้งยังต่อเนื่องไปกับผืนป่าของประเทศใกล้เคียง ภายในปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้น เรื่องราวทั้งหลายคงจะถูกบรรจุอยู่อย่างเข้มข้นภายในงานส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้สดใหม่จากโครงการและงานวิจัยต่าง ๆ เรื่องความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผู้คอยดูแลรักษาน้ำและอากาศให้คนไทยทุกคน หรือจะเป็นเรื่องการจับกุมผู้กระทำความผิดในข้อหาลักลอบล่าสัตว์อันโด่งดังซึ่งเป็นที่รู้ดีทั่วกันว่าข้อกังขาหลังจากการถูกจับกุมและขั้นตอนในการดำเนินคดีโดยหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานนั้นโด่งดังยิ่งกว่า อย่างไรก็ตามจุดประสงค์ของการจัดงานรำลึกในทุกครั้งนั้นไม่ได้มีเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงโลกรอบตัวให้เป็นไปตามความต้องการของผู้คนในทันทีทันใดอย่างใจคิด แต่เป็นการรำลึกนึกถึงแนวความคิดและสิ่งที่พี่สืบได้หลงเหลือสืบทอดไว้ให้คนรุ่นหลังซึ่งผมอนุมานเรียกเอาเองว่าเป็น “อุดมการณ์ที่ส่งต่อ” ผมคิดว่าบทกลอน “สัตว์ป่า” ที่ประพันธ์โดยพี่สืบคงได้ผ่านหูผ่านตากันมาบ้างแล้วและในส่วนสุดท้ายของบทกลอนที่ว่า “ชีวิตใครใครก็รัก ท่านประจักษ์หรือไม่ไฉน โปรดเถิดจงเห็นใจ สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน” เรียกได้ว่ากินใจหลากหลายผู้คน ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับคำพูดถึงสัตว์ป่าอีกมากมายที่พี่สืบได้เคยกล่าวไว้นั้น ในมุมมองส่วนตัวผมคิดว่าส่วนนี้ได้เผยแนวความคิดของอุดมการณ์ในเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าของพี่สืบได้อย่างหนึ่ง

“ความเท่าเทียม”

สัตว์ป่าเป็นสิ่งมีชีวิต เป็นสัตว์ที่ดำรงชีวิต หากิน สืบทอดเผ่าพันธุ์ร่วมกัน แม้ว่าจะกระจายหรือรวมตัวอยู่ในระบบนิเวศอันหลากหลายแต่ก็อยู่บนดาวเคราะห์ดวงเดียวกัน มีความเกี่ยวเนื่องโยงใยสัมพันธ์ต่อกันกระทั่งมาถึงมนุษย์ไม่ว่าจะด้านดี ไม่ว่าจะด้านร้าย ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การที่เรามองสัตว์เหล่านั้นมีสิทธิ์ มีความเท่าเทียม มีความสำคัญจำเป็นไม่แพ้ตัวตนของพวกเราในการดำรงชีวิตบนโลกได้เมื่อไหร่นั้นนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและทำให้เราสามารถมองเห็นอนาคตอันสดใสที่จะเกิดขึ้นได้

แต่น่าเสียดายว่า ความเท่าเทียม เป็นสิ่งแสนอัตคัดในสังคมปัจจุบันของเราเสียเหลือเกินและหลายครั้งที่เหตุการณ์มากมายบอกกับเราว่าสิ่งที่คอยควบคุมให้เกิดความเท่าเทียมไม่ได้มีไว้ตามวัตถุประสงค์แท้จริงของมัน

คิดต่ออีกว่า ผมคงไม่ใช่คนเดียวที่คิดเช่นนั้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ


"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"



พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น