xs
xsm
sm
md
lg

วิธีอนุรักษ์ “ปูนา” จากสุรินทร์ จับมาแปรรูปเป็นอาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.นิภาศักดิ์ คงงาม (ขวา) และ น.ส.อุสุมา วรรณทอง ลูกศิษย์ผู้ร่วมวิจัย
คงเป็นเรื่องที่น่ากังวลหากเราจับสิ่งมีชีวิตที่เหลืออยู่น้อยในธรรมชาติมากินเป็นอาหาร แต่วิธีดังกล่าวกลับเป็นหนทางที่เราจะช่วยรักษา “ปูนา” ให้ยังคงอยู่ในทุ่งนาไทย ด้วยกุศโลบายจากอาจารย์ มรภ.สุรินทร์ที่ต้องชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของสัตว์มีกระดอง ก่อนที่จะร่วมใจให้ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์

ผงปรุงรสจากปูนา ปูนาอบกรอบรสบาบีคิว น้ำซอสปรุงรสปูนา น้ำพริกตาแดงปูนา และน้ำพริกเผาปูนา … เหล่านี้ดูเผินๆ เหมือนสินค้าจากร้านโอทอป แต่ความจริงคือผลพลอยได้จากงานวิจัยเพื่ออนุรักษ์ปูนาที่ผศ.ดร.นิภาศักดิ์ คงงาม จากสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ได้ศึกษามาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี

ผศ.ดร.นิภาศักดิ์บอกทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เริ่มศึกษาปูนามาตั้งแต่ปี 2545 โดยเริ่มจากโจทย์ว่า ปูนามีปรสิตหรือพยาธิอะไรบ้าง จากนั้นศึกษาสัณฐานของปูนา จนเริ่มหลงใหลในสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ และศึกษาเชิงลึกขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ จากจุดเริ่มต้นที่เพียงต้องการพิสูจน์ว่า ปูนาที่คนในท้องที่ชอบบริโภคนั้นมีพยาธิหรือเชื้อโรคอย่างที่หวาดวิตกกันหรือไม่

ในระยะหลังๆ ปูนาเริ่มหายไปจากท้องนา เพราะชาวนาใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจนปูนาอยู่ไม่ได้ และชาวนายังมีความเชื่อว่า ปูนานั้นเป็นศัตรูของต้นข้าวเพราะกัดกินข้าว ซึ่งจากการศึกษา ผศ.ดร.นิภาศักดิ์ พบว่าปูนาจะกัดกินต้นอ่อนของข้าวในนาดำที่มีอายุ 10 วันเท่านั้น หลังจากนั้นจะไม่กินอีก ปูนาจึงไม่ใช่ศัตรูในท้องนาที่น่ากังวล

“สิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดคือคนรักปูนามากขึ้น” ผศ.ดร.นิภาศักดิ์กล่าว และบอกกุศโลบายในการจูงใจให้ชาวนาช่วยอนุรักษ์ปูด้วยแนวคิดทำนาต้องได้ข้าวกิน พร้อมปลาและปูด้วย ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ชาวนาต้องลดการใช้สารเคมี จึงจะมีปลาและปูนาอาศัยอยู่ในทุ่งนาได้ 

ไม่เพียงแค่สนับสนุนให้ชาวนาดูแลรักษาปูนาไว้ในนาข้าว แต่ความหลงใหลในปูนาจนสร้างบ่อเลี้ยงปูนาในบ้านเพื่อศึกษาวงจรชีวิตของปู ทำให้ ผศ.ดร.นิภาศักดิ์ได้ข้อมูลมากพอที่จะสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นเพาะเลี้ยงปูนา ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางในการอนุรักษ์ให้ปูนาคงอยู่ จากที่เคยเลี้ยงบ่อซีเมนต์ก็พัฒนาสู่การจำลองสภาพในบ่อเลี้ยงให้ใกล้เคียงธรรมชาติ เช่น เติมดิน ปลูกหญ้า ปลูกต้นข้าว ใส่น้ำขัง ซึ่งพบว่าปูนาแข็งแรงกว่าเลี้ยงในบ่อซีเมนต์อย่างเดียว

“เราจำลองระบบนิเวศให้ปูนา เอาต้นข้าว เอาดิน เอาหญ้ามาใส่ เพราะตอนเช้าๆ ปูต้องรับน้ำค้างด้วย ถ้าเลี้ยงในบ่อซีเมนส์อย่างเดียวลำบาก ต้องประคมประหงม เพราะปูจะไม่แข็งแรง แต่ถ้าจำลองสภาพแวดล้อมด้วยจะทำให้ปูมีทางเลือกในการดำรงชีวิต” ผศ.ดร.นิภาศักดิ์ระบุ และให้ข้อมูลว่าได้รับทุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) เพื่อพัฒนาวิธีการเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์ และได้สร้างเครือข่ายเลี้ยงปูนาที่ทุ่งกุลาร้องไห้

ข้อดีของการสร้างเครือข่ายเลี้ยงปูนานั้นช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจในความสะอาด และกำหนดมาตรฐานการเลี้ยงได้ แต่การส่งเสริมให้เลี้ยงโดยไม่มีตลาดรองรับนั้นจะเป็นปัญหาแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงในภายหลัง ดังนั้นเมื่อปี พ.ศ.2559ผศ.ดร.นิภาศักดิ์ จึงเริ่มแปรรูปปูนาให้เป็นอาหาร โดยความร่วมมือกับอาจารย์ทางด้านเทคโนโลยีอาหาร และในปี พ.ศ.2560 จึงเริ่มมีข้อมูลว่า แปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง

ตัวอย่างการแปรรูปเป็นน้ำปูนานั้น ผศ.ดร.นิภาศักดิ์คล้ายกับน้ำปลา ต่างกันที่น้ำปลาเป็นการหมักกระดูกปลาหรือก้างปลา ส่วนน้ำปูนาคือการหมักกระดอง ส่วนผลิตภัณฑ์ที่น่าจะมีอนาคตไกลคือ “ผงปรุงรสปูนา” ซึ่งใช้ทดแทนเครื่องปรุงโดยไม่ใช้ผงชูรส นอกจากนี้ยังพัฒนา “ข้าวเกรียบปูนา” โดยต้องอาศัยความร่วมมือกับอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องข้าว เพื่อคัดสรรพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับทำข้าวเกรียบ รวมถึงอาจร่วมมือกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาหร่าย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์รสสาหร่ายด้วย

//////

สำหรับผู้ที่ต้องการอ่านเรื่องนิเวศวิทยาของปูนาผสมกับเรื่องราววัฒนธรรมอีสานใต้ อ่านเพิ่มเติมได้จากงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก หัวข้อ “นิเวศวิทยาวัฒนธรรมปูนาอาณาบริเวณพนมดงรักไทย-กัมพูชา” โดย นิภาศักดิ์ คงงาม

คลิก -->http://srruir.srru.ac.th:8080/xmlui/handle/123456789/100
 น้ำพริกเผาปูนา
ผงปรุงรสปูนา
ปูนาอบกรอบ
ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารจากปูนา


กำลังโหลดความคิดเห็น