มนุษย์ได้มีจินตนาการจะใช้แสงที่มีความเข้มสูงในการสังหารศัตรูมาเป็นเวลานานแล้ว ดังตำนานที่กล่าวถึง Archimedes ว่า ได้นำความรู้ทัศนศาสตร์มาใช้ในการป้องกันบ้านเกิดเมื่อประมาณ 212 ปีก่อนคริสตกาล ด้วยการใช้กระจกโค้งเว้ารับแสงอาทิตย์ให้ไปรวมที่จุดโฟกัสของกระจก ทำให้ได้แสงที่มีความเข้มสูงจนสามารถเผาเรือรบชาวโรมันที่ยกทัพมาล้อมเมือง Syracuse ได้ ปราชญ์กรีก Diocles ผู้เคยมีชีวิตอยู่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 3 ได้ศึกษาสมบัติของกระจกโค้งเว้าแบบพาราโบลา และพบว่า เวลาแสงพุ่งออกจากจุดโฟกัสของกระจก หลังจากที่ตกกระทบกระจกแล้ว แสงจะพุ่งออกไปเป็นลำขนาน Diocles ได้บันทึกความรู้นี้ในบทความชื่อ “On Burning Mirrors” ว่า มนุษย์อาจใช้แสงที่มีความเข้มสูงมากฆ่าศัตรูได้
อีก 1,700 ปีต่อมา ความฝันที่จะมีแสงพิฆาตก็เริ่มเป็นความจริง เมื่อกลศาสตร์ควอนตัมถือกำเนิด และนักฟิสิกส์ได้ใช้ความรู้นี้ในการประดิษฐ์เลเซอร์ (laser) ซึ่งได้ปฏิรูปเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันอย่างมโหฬาร และกำลังจะเพิ่มบทบาทขึ้นอีกมากในอนาคต เมื่อโลกมีพลังงานฟิวชันใช้
Laser เป็นคำที่ได้จากการนำอักษรตัวแรกของบรรดาคำใน Light Amplification by Stimulation Emission of Radiation มาเรียงกัน เป็นแสงที่ได้มาจากกระบวนการเร้าให้เหล่าอิเล็กตรอนที่อยู่ในสถานะกระตุ้น (excited state) เดียวกัน ปล่อยแสงออกมา โดยใช้แสงจากภายนอกเป็นตัวเร้า ทำให้แสงที่เกิดขึ้นเป็นแสงอาพันธ์ (coherent light) คือ มีความยาวคลื่น ความถี่ ทิศของสนามไฟฟ้า (electric polarization) เฟส (phase) เดียวกันหมด และเคลื่อนที่ไปในทิศเดียวกันด้วย
บุคคลผู้เป็นต้นกำเนิดความคิดในการสร้างแสงเลเซอร์ คือ Albert Einstein ซึ่งในปี 1917 ได้พบวิธีการใหม่ในการทำให้อะตอมปล่อยแสงออกมาด้วยการเร้า (stimulated emission) นอกเหนือจากการปล่อยแสงแบบเดิมๆ ที่รู้จักกันดีคือ แบบเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (spontaneous emission) อันเป็นการปล่อยแสงออกมาจากอิเล็กตรอนที่อยู่ในสถานะกระตุ้น เพื่อกลับสู่สถานะเดิม โดยไม่ได้อาศัยการช่วยใดๆ จากแสงภายนอก
แต่ในการปล่อยแสงแบบเร้านั้น อิเล็กตรอนจะอยู่ในสถานะกระตุ้นก่อน จากนั้นถ้ามีแสงที่มีพลังงานเหมาะสม (คือพลังงานเท่ากับผลต่างของพลังงานในสถานะพื้นฐานกับสถานะกระตุ้น) ผ่านใกล้อิเล็กตรอนที่ถูกกระตุ้น แสงจะเร้าอิเล็กตรอนให้กลับลงสู่สถานะพื้น (ground state) ด้วยการปล่อยแสงออกมา ดังนั้นแสงที่เกิดขึ้นจะมีสองส่วน คือ แสงเริ่มต้นที่ผ่านเข้ามา กับแสงที่เกิดจากการเร้า
ความเข้มแสงจึงมีมากขึ้นเป็นสองเท่า และแสงทั้งสองเป็นแสงอาพันธ์กัน
เพราะเมื่อเริ่มต้นมีแสงเพียง 1 อนุภาค ในที่สุดได้แสง 2 อนุภาค ต่อจากนั้นถ้าให้แสงทั้งสองอนุภาคนี้ไป เร้าอิเล็กตรอนอื่นที่อยู่ในสถานะกระตุ้นต่อไป ก็จะได้แสง 4 อนุภาคเกิดขึ้น โดยอาศัยกระบวนการเร้าเช่นนี้ด้วยการทำซ้ำๆ กัน อนุภาคแสงจึงมีเพิ่มจาก 1 เป็น 2, 4, 8, 16 ... มีผลทำให้ได้ความเข้มแสงมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ จนในที่สุดได้แสง laser ซึ่งมีความยาวคลื่นต่างๆ ตามชนิดของวัสดุที่ใช้ ซึ่งได้แก่ ผลึก แก๊สผสม helium-neon, สารกึ่งตัวนำ ฯลฯ
ประเด็นที่น่าสังเกตคือ Einstein ใช้ตรรกะของฟิสิกส์ในการศึกษาอันตรกริยาระหว่างอิเล็กตรอนในอะตอมกับแสง จนพบวิธีการปลดปล่อยแสงรูปแบบใหม่ Einstein มิได้คิดจะสร้างแสงพิฆาต มิได้คิดจะสร้างอุปกรณ์อ่าน barcode หรือเล่นแผ่น CD ใดๆ Einstein เพียงต้องการจะหากระบวนการที่อะตอมใช้ในการปล่อยแสงเท่านั้น แล้วแนวคิดของ Einstein ก็ได้ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีที่สำคัญมากที่สุดชนิดหนึ่งของคริสต์ศตวรรษที่ 20
ความคิดของ Einstein ได้รับการต่อเติมให้เป็นจริงโดย Theodore Maiman ซึ่งประดิษฐ์เลเซอร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ปี 1960 โดยใช้ผลึกทับทิม หลังจากนั้นโลกก็นำเลเซอร์มาใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ เช่น ใช้ใน DVD, CD, อ่าน barcode, ทำ laser pointer, เชื่อมโลหะ ผ่าตัดตา, สำรวจระยะไกล ฆ่าเซลล์มะเร็ง ทำให้สสารมีอุณหภูมิต่ำ การสื่อสารสนเทศ และทำกล้องจุลทรรศน์เพื่อทดสอบหลักการพื้นฐานของกลศาสตร์ควอนตัม เป็นต้น
เพราะเลเซอร์เป็นแสงที่มีความเข้มสูงมาก ดังนั้น ประธานาธิบดี Ronald Reagan จึงเคยดำริจะให้นักวิทยาศาสตร์อเมริกันสร้างแสงเลเซอร์ที่มีความเข้มสูงเพื่อใช้ทำลายจรวดนำวิถีของศัตรู แต่โครงการ Star Wars ได้ถูกยับยั้งโดยรัฐสภาอเมริกัน เพราะต้องการงบประมาณที่สูงมาก และนักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของโครงการว่าจะทำได้อย่างสมบูรณ์ 100%
สำหรับคุณประโยชน์ด้านอื่นๆ ของเลเซอร์ ได้แก่การใช้วัดระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ ด้วยการฉายแสงเลเซอร์จากโลกไปกระทบกระจกที่มนุษย์อวกาศ Apollo ได้นำไปวางบนดวงจันทร์ แล้วจับเวลาที่แสงใช้ในการเดินทางไปและกลับ เมื่อรู้ความเร็วแสง นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถคำนวณระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ได้ ให้นักฟิสิกส์ใช้ข้อมูลนี้ในการทดสอบความถูกต้องของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป
แม้จะมีประโยชน์มากอย่างเป็นที่ประจักษ์แล้ว แต่ประโยชน์ที่โลกกำลังคาดหวังจากเลเซอร์มากที่สุด คือ การใช้เลเซอร์ผลิตพลังงานจากปฏิกิริยา fusion ซึ่งจะทำให้มนุษย์มีพลังงานสะอาด ที่ปราศจากมลพิษ และมีใช้อย่างไม่มีวันหมด อีกทั้งเป็นพลังงานที่ไม่ทำให้โลกร้อน เพราะไม่ปล่อยแก๊ส CO2 ออกมา และไม่มีขยะกัมมันตรังสีใดๆ ให้มนุษย์ต้องกำจัด
นักฟิสิกส์เริ่มเข้าใจปฏิกิริยา fusion เมื่อปี 1920 หลังจากที่ Francis William Aston สร้างอุปกรณ์วัดมวลอะตอม (mass spectrometer) และพบว่า นิวเคลียสของไฮโดรเจน (proton) 4 อนุภาคมีมวลรวมกันน้อยกว่านิวเคลียสของฮีเลียมหนึ่งนิวเคลียส โดยการใช้ข้อมูลนี้ Arthur Eddington (ซึ่งเคยพิสูจน์ว่า แสงเดินทางเป็นเส้นโค้งขณะผ่านใกล้ขอบของดวงอาทิตย์) จึงเสนอความคิดว่า ดวงอาทิตย์สามารถปลดปล่อยพลังงานออกมาได้โดยการเปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นฮีเลียม ตามสมการ E = mc2 ของ Einstein จากนั้น Hans Bethe ก็ได้พัฒนาแนวคิดนี้ต่อ จนพบกระบวนการผลิตพลังงานในดาวฤกษ์ที่เรียกวัฎจักร CNO (carbon-nitrogen-oxygen) ในปี 1939 และผลงานนี้ทำให้ Bethe ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1968
ดวงอาทิตย์ของเรามีไฮโดรเจนสะสมในตัวมากในปริมาณมหาศาล และไฮโดรเจนถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เพื่อปลดปล่อยพลังงานแสงและความร้อนออกมาตลอดเวลา เพราะที่แก่นกลางของดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิสูงถึงร้อยล้านองศาเซลเซียส และมีความดันมากเป็นแสนล้านบรรยากาศโลก การหลอมรวม (fusion) ของอนุภาคโปรตอนจึงสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งๆ ที่โปรตอนที่มีประจุบวก ซึ่งตามปกติจะผลักกัน
แต่เมื่อนักฟิสิกส์พยายามหลอมรวมอนุภาคโปรตอนในห้องปฏิบัติการบนโลกบ้าง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่สามารถสร้างสถานการณ์ที่มีอุณหภูมิสูง และมีความดันที่มากมหาศาลแบบเดียวกับที่บังเกิดบนดวงอาทิตย์ได้ แต่ถึงจะทำได้ การสร้างภาชนะที่จะควบคุมปฏิกิริยา fusion ก็ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาก เพราะถ้า plasma ซึ่งประกอบด้วยไอออนบวกของโปรตอนที่ร้อนจัดมากลอยไปสัมผัสผนังภาชนะๆ จะหลอมเหลวทันที และปฏิกริยา fusion ก็จะหยุด
เหล่านี้คืออุปสรรคหลักๆ ที่ทำให้ความฝันของนักฟิสิกส์ล่าช้ามา 60 ปี จนกระทั่งถึงวันนี้
นิวเคลียสของไฮโดรเจนนั้นมีโปรตอน 1 อนุภาค และธาตุไฮโดรเจนมี 2 ไอโซโทป คือ deuterium 2 1H ซึ่งนิวเคลียสมีโปรตอน 1 อนุภาคกับนิวตรอน 1 อนุภาค และ isotope ชนิดที่สองคือ tritium 3 1H ซึ่งนิวเคลียสมีโปรตอน 1 อนุภาคกับนิวตรอน 2 อนุภาค อนึ่งเวลา deuterium รวมตัวกับ tritium จะเกิดปฏิกิริยา
2 1H + 3 1H → 4 2He + 1 0n+ พลังงาน
ซึ่งให้ 4 2He คือ helium และ 1 0n คือ อนุภาคนิวตรอน
นักฟิสิกส์ยังได้พบอีกว่า ในปฏิกิริยานี้ถ้าใช้มวลเริ่มต้น 1 กรัม พลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นจะมากเท่ากับพลังงานที่ได้จากการเผาถ่านหินหนัก 10 ตัน ภายใต้เงื่อนไขว่า นิวเคลียสของ isotope ทั้งสอง จะต้องมีอุณหภูมิสูงถึง 100 ล้านองศาเซลเซียส นิวเคลียสจึงจะรวมกันได้
เพราะปฏิกิริยา fusion จะอุบัติได้ที่อุณหภูมิสูงมาก ดังนั้น ปัญหาที่จะต้องเอาชนะให้ได้คือ การกักขัง plasma อุณหภูมิสูงซึ่งประกอบด้วยนิวเคลียสที่มีประจุบวก (ไอออนบวก) ให้อยู่ใกล้กันเพื่อจะได้รวมกัน และได้พบว่า สามารถจะควบคุมได้โดยใช้สนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงมาก หรือใช้เลเซอร์อัด 2 1H ให้รวมกับ 3 1H
สำหรับวิธีแรกนั้น ณ วันนี้ที่เมือง Cadarache ในฝรั่งเศส มีโครงการ fusion ชื่อ ITER (อ่านว่า eater) มูลค่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งใช้แม่เหล็กที่ทำด้วยตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิสูง จำนวนมากในการสร้างสนามแม่เหล็กความเข้มสูง เพื่อกักขัง plasma ให้อยู่ในอุปกรณ์รูปท่อโดนัทกลวงเพื่อทำให้ plasma ซึ่งประกอบด้วย deuterium กับ tritium มีอุณหภูมิสูงโดยให้กระแสไฟฟ้าไหลในขดลวดที่ผ่านศูนย์กลางของท่อโดนัท ซึ่งจะให้ความร้อนจน plasma มีอุณหภูมิสูงถึง 150 ล้านองศาเซลเซียส และเมื่อเกิดปฏิกริยา fusion แล้ว ทุกคนก็คาดหวังว่าพลังงานที่เกิดขึ้นจะมีค่ามากกว่าพลังงานที่ให้เข้าไป
ความคิดนี้เกิดในปี 1950 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียชื่อ Andrei Sakharov ได้ออกแบบขวดแม่เหล็ก (magnetic bottle) หรือ tokamak ซึ่งเป็นภาชนะที่มีทรงรูปโดนัท โดยภายในท่อมี plasma อยู่ และมีแท่งแม่เหล็กรูปวงแหวนจำนวนมาก ซึ่งวางคร่อมอยู่ ณ ตำแหน่งต่างๆ รอบท่อ เพื่อทำหน้าที่สร้างสนามแม่เหล็กควบคุมการไหลวนของ plasma ในท่อ และพบว่า ขณะสนามแม่เหล็กพยายามกักขังให้ plasma เคลื่อนที่อย่างเป็นระเบียบ plasma เองซึ่งประกอบด้วยประจุที่เคลื่อนที่ได้ ก็สร้างสนามแม่เหล็กของมันเอง ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กภายในที่ต่อต้านสนามแม่เหล็กภายนอกมีผลทำให้ plasma ไร้เสถียรภาพ คือ จะทะลักไหลไปสู่ผนังของภาชนะ ซึ่งจะทำให้ปฏิกิริยา fusion หยุดทันที
นักฟิสิกส์ที่ MIT จึงคิดใช้สนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงมหาศาล ซึ่งจะได้จากการประยุกต์ใช้ตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิสูง โครงการนี้ได้ เปิดตัวเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมานี้ เมื่อทีมนักวิจัยจาก MIT และ Commonwealth Fusion Systems (CFS) มาทำงานร่วมกัน เพื่อให้อุปกรณ์มีขนาดเล็กลง มีราคาถูกลงและไม่มีปัญหามากในการสร้าง เหมือนโครงการ ITER ที่มีราคาแพงมาก และถึงวันนี้ก็ยังทำงานไม่ได้
โครงการ MIT ร่วมกับ CFS ได้รับทุนสนับสนุน 1,800 ล้านบาทจากรัฐบาลอิตาลีเป็นเวลานาน 3 ปี นี่เป็นเวลาที่หน่วยวิจัยใช้ในการติดตั้งแม่เหล็กที่ทำด้วยตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิสูง และหวังว่าถ้าปฏิกิริยา fusion จะเกิดขึ้น โดยอุปกรณ์จะสามารถให้ไฟฟ้ากำลัง 200 เมกะวัตต์ได้
ส่วนวิธีที่สองที่ใช้ในการทำให้เกิดปฏิกิริยา fusion คือ ใช้เลเซอร์มีชื่อโครงการว่า National Ignition Facility (NIF) ของอเมริกา ซึ่งจะยิงแสงเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่นระดับรังสีเอ็กซ์จำนวน 192 ลำเพื่ออัดเป้าที่เป็นเม็ดของแข็งลักษณะกลมซึ่งทำด้วยธาตุ deuterium กับ tritium และมีมวล 0.017 มิลลิกรัมและมีเส้นผ่านศูนย์กลางระดับมิลลิเมตร การระดมยิงด้วยแสงเลเซอร์พลังงานระดับ 106 จูลจาก “ทุก” ทิศทาง จะทำให้ปฏิกิริยา fusion เกิดขึ้นได้ เพราะห้วงแสงเลเซอร์ที่ใช้มีความยาว 4.5 เมตร และมีพลังงาน 1.9x106 จูล
ไม่ว่าปฏิกิริยา fusion จะเกิดโดยใช้ laser หรือใช้สนามแม่เหล็กก็ตาม หลังปฏิกริยาจะมีอนุภาคนิวตรอนเกิดขึ้นเสมอ เพราะมันเป็นอนุภาคที่ไม่มีประจุไฟฟ้า จึงไม่ถูกเบี่ยงเบนโดยสนามฟ้า และสนามแม่เหล็กใดๆ และจะพุ่งออกจากพลาสมาไปชนผนังของอุปกรณ์ที่ใช้กัก plasma ทำให้ผนังกลายสภาพเป็นวัสดุกัมมันตรังสีที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ดังนั้นการนำอุปกรณ์ tokamak ที่ใช้แล้วมาใช้อีก หรือซื้ออุปกรณ์ใหม่ จึงต้องมีการระมัดระวังในเรื่องนี้
ในเมื่อโรงงานไฟฟ้าพลังงาน fusion ทุกโรงงานจะต้องมีอนุภาคนิวตรอนพลังงานสูงเกิดขึ้นด้วยเสมอ นักเทคโนโลยีจึงประสงค์จะนำพลังงานของนิวตรอน (นอกเหนือจากพลังงาน fusion ที่ได้จาก E = mc2) ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย และพบว่าสามารถทำได้ โดยการล้อมอุปกรณ์ทั้งหมดด้วยแผ่นเหล็กที่หนาประมาณ 3 เมตร การพุ่งชนนิวเคลียสของเหล็กจำนวนมากจะทำให้นิวตรอนสูญเสียพลังงานไปจนหมด และแผ่นเหล็กจะร้อนมาก ซึ่งถ้าใช้สารละลายเกลือมาหล่อลื่น ความร้อนในสารละลายเกลือจะทำให้น้ำที่หล่อเลี้ยงเตาปฏิกรณ์เดือด กลายเป็นไอน้ำไปขับดันเครื่อง turbine ให้หมุน ทำให้ได้ไฟฟ้า
ปัญหาเรื่องการหาเชื้อเพลิง deuterium กับ tritium มาใช้อย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงมาก เพราะ deuterium นั้นมีในน้ำประมาณ 0.05% ดังนั้นเมื่อพิจารณาน้ำทั้งโลก ก็นับว่ามี deuterium อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์
แต่ tritium มีในปริมาณน้อยมาก จึงต้องมีการสร้างขึ้นเอง เพื่อนำมาใช้ในเตาปฏิกรณ์ fusion และตามปกติ นักฟิสิกส์สามารถสร้าง tritium ได้ตั้งแต่ 2-3 กิโลกรัม/ปี ด้วยทุนประมาณ 3,500 ล้านบาท/กิโลกรัม เพราะ tritium ที่ต้องใช้มีในธรรมชาติค่อนข้างน้อย ดังนั้น นักฟิสิกส์จึงคิดใช้นิวตรอนที่เล็ดรอดออกมาเพื่อสังเคราะห์ tritium ใหม่อย่างครบวงจร โดยให้มันทำปฏิกริยากับ 63 Li และ 7 3 Li ดังนี้คือ
นิวตรอนจากเตาปฏิกิริยา
10 n + 7 3 Li ---> 4 2He +3 1He 10 n
ได้ helium-4 กับ tritium และนิวตรอน
แล้วให้ 10 n ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยานี้เข้าทำปฏิกิริยากับ 6 3 Li ดังปฏิกิริยา
10 n + 6 3 Li ---> 4 2He +3 1H
ซึ่งจะให้ 3 1H (tritium)
แล้วนำ 3 1H ที่เกิดขึ้น กลับไปเป็นเชื้อเพลิงใหม่ นักฟิสิกส์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้ neutron ในการสร้าง tritium ทำนองนี้ต้องดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพให้ได้เกือบ 100% เพื่อให้ปฏิกิริยา fusion เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ความสำเร็จของ ITER และ NIF ที่ผ่านมา คือ ทำให้เกิดปฏิกิริยา fusion นานระดับวินาทีเท่านั้นเอง การจะให้ปฏิกริยาเกิดนานระดับวัน เดือน ปี จึงยังอยู่อีกไกล ดังนั้นไม่มีใครรู้ว่า โรงงานไฟฟ้าพลังงาน fusion จะเกิดขึ้นเมื่อใดในอนาคต
ในเวลาเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็กำลังพยายามหาแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ที่ไม่แพงมาก ไม่ไฮเทคมาก และให้พลังงานเร็ว ซึ่งจะทำให้พลังงาน fusion เป็นเพียงพลังงานทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง
อ่านเพิ่มเติมจาก Sun in a Bottle: The Strange History of Fusion and the Science of Wishful Thinking โดย Charles Sife จัดพิมพ์โดย Viking ปี 2008
เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์