xs
xsm
sm
md
lg

เพราะ?

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


ยามเช้าวันนั้นแตกต่างจากวันวาน เสียงเม็ดฝนกระทบหลังคายามเช้าดังขึ้นแทนเสียงร้องประกาศอาณาเขตของชะนีมือขาว เหล่านกหลากชนิดก็พากันเงียบหลบในวันที่ท้องฟ้าสลัวมัวอึมครึม เสียงจากครัวด้านล่างของอาคารสำนักงานร้องเรียกให้ลงไปดื่มกาแฟแก้ความง่วงเหงา เม็ดฝนเริ่มเพิ่มความหนักหน่วง ร่มพับคันเล็กถูกกางใช้ระหว่างเดิน ความเฉอะแฉะยวบลื่นของดินอิ่มน้ำทำให้การก้าวย่างต้องเพิ่มความระมัดระวังไม่ใช่เพราะความเปรอะเปื้อนแต่เพื่อไม่ให้ล้มหัวคะมำทิ่มบาดเจ็บอันจะเป็นภาระที่ไม่ควรจะเกิดแก่เพื่อนร่วมทางและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยฯ

“ตรงหน่วยฯ นี่เหมือนจะเป็นจุดน้ำซับน่ะครับ รอบๆ เป็นภูเขา จุดนี้เป็นร่องที่ราบพอดี น้ำเลยไหลมารวมกันเจิ่งนองเละเทะไปหมด” พี่เหน่ง หัวหน้าหน่วยเอ่ยขึ้นขณะที่ผมกำลังพยายามถอดรองเท้าเปื้อนหนาด้วยโคลนออก หน่วยพิทักษ์ป่าอุตะคี หนึ่งในหน่วยพิทักษ์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เดิมเคยทำหน้าที่เป็นสำนักงานใหญ่ของเขตฯ แต่เนื่องจากการเดินทางเข้าออกเพื่อติดต่องานราชการมียากความลำบากจึงมีการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และปรับให้สถานที่นี้เป็นหน่วยพิทักษ์ป่าในปัจจุบันซึ่งคณะวิจัยความหลากหลายของกล้วยไม้ใช้เป็นสถานที่พักพิงกว่าสองคืนมาแล้ว

กาแฟสดเพิ่งบดต้ม อาหารเช้า บทสนทนาสัพเพเหระล้วนผ่านไปอย่างรวดเร็ว กว่าจะรู้ตัวก็เกือบถึงเวลาออกเดินทางกลับไปยังสำนักงานเขตฯ เสียแล้ว สัมภาระถูกนำมาจัดวางบนแผ่นกระดานด้านหลังรถไถและยึดรัดด้วยเชือกเพื่อความมั่นคง เสียงเครื่องยนต์ดังควบคู่กับเสียงคำล่ำระหว่างคณะวิจัยและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยฯ ระยะทางทุลักทุเลผ่านป่า ทุ่งหญ้า เนินเขาชัน ดินโคลน และสายฝนกว่าอีก 14 กิโลเมตรที่ต้องฟันฝ่าก่อนถึงจุดหมาย

“กล้วยไม้ดิน จอดก่อนค่ะ!” หัวหน้าคณะวิจัยร้องทักระหว่างเดินทาง ความง่วงงัวเงียเกือบทำให้ผมหล่นลงจากรถไถที่หยุดนิ่งกระทันหัน เสียงม่านชัตเตอร์ของกล้องถ่ายภาพดังต่อเนื่องเมื่อได้รับทราบข้อมูลว่าเป็นกล้วยไม้ที่พบได้ไม่ง่ายนัก แต่เมื่อเงยมองออกไปเบื้องหน้าจำนวนช่อดอกยางเรียงเป็นแถวยาวไปสุดของทุ่งช่างขัดกับข้อมูลที่ได้รับมา “สงสัยจะเป็น locally common species” ผมคิดในใจ

เอื้องตีนกบ หรืออาจรู้จักอีกในชื่อ นางอั้ว นางกราย ฯลฯ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pecteilis susannae (L.) Raf. โดยชื่อชนิดตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ Mrs. Susanna ภรรยาของ G. E. Rumphius นักพฤกษศาสตร์ผู้เขียนและเรียบเรียงหนังสือ Herbarium Amboinense ในศตวรรษที่ 17 เป็นกล้วยไม้ที่มีหัวอยู่ใต้ดิน ออกดอกในช่วงฤดูฝน ดอกมีลักษณะเป็นช่อบริเวณยอด แต่ละช่อมี 3-8 ดอก ดอกมีสีขาวสะอาด กลีบปากดอกมี 3 แฉก แฉกด้านข้างขนาดใหญ่มีรอยหยักลึกทำให้ดูคล้ายตีนหลังของกบอันเป็นที่มาของชื่อภาษาไทย มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศอินเดียลงผ่านมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงหมู่เกาะชวาของประเทศอินโดนีเซีย ในประเทศไทยสามารถพบได้แทบทั่วทุกภาค มักพบในพื้นที่เปิดโล่ง ป่าผลัดใบ หรือริมทางถนนที่มีแสงแดดบริมาณมากซึ่งตรงกับลักษณะพื้นที่ที่พบในการสำรวจครั้งนี้ที่เป็นทุ่งปิดโล่งริมทางสัญจรระหว่างหน่วยพิทักษ์ป่า

“ถ้าเป็นนอกพื้นที่อนุรักษ์คงถูกขโมยขุดไปขายหมดแล้ว” เป็นประโยคที่ฟังแล้วรู้สึกเหมือนใครเอาเหล็กลนไฟมาแนบกับผิวหนัง

เพราะคนเฝ้าดูแล เพราะคนขโมยขุด เพราะคนขาย เพราะคนซื้อ หรือเพราะใคร

ความคิดวนวกดังในหัวของผมตลอดการเดินทางที่เหลืออยู่

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ


"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"



พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น