xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียนทันใจเรียนรู้ “วิทยาศาสตร์ติดถ้ำ” ที่มหกรรมวิทย์ '61

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มหกรรมวิทย์ '61 ถอดบทเรียนทันใจ “เรียนรู้วิทยาศาสตร์ติดถ้ำ” พร้อมโชว์เทคโนโลยีกู้ชีพ “ทีมหมูป่าฯ” สัมผัสชุดนักบินรบนวัตกรรมที่เป็นมากกว่าชุดแต่ช่วยกู้ชีพ รู้จักความหัศจรรย์ของพืชสกุลไทร รวมทั้งทำความเข้าใจยุคข้อมูลครองโลก

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2561 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ

สำหรับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2561 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-26 ส.ค.61 ณ ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เวลา 09-00-19.00 น. ซึ่งถภายในงานแถลงข่าวได้เผยชิ้นงานไฮไลต์ที่จะจัดแสดงภายในมหกรรมฯ เช่น ชุดนักบินรบ (Warrior Pilot Flight Suits) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิรวงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ชุดนักบินรบนั้นมีประกอบไปด้วยอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยกู้ชีพนักบิน เช่น หมวกบิน ที่น้ำหนักเบา ขนาดพอดีศรีษะนักบิน มีแผ่นโฟมและฟองน้ำรองรับด้านใน มีสายรัดคางป้องกันหลุด มีอุปกรณ์ป้องกันแดด และมีหน้ากากออกซิเจน ป้องกันภาวะพร่องออกซิเจนที่ทำให้ร่างกายและสมองทำงานบกพร่อง จนหมดสติ ชุดบิน ที่ใช้ผ้าพิเศษชุบน้ำยากันไฟ มีกระเป๋าหลายใบเพื่อใส่อุปกรณ์ประจำตัว และมีถุงมือนักบินเพื่อการจับอุปกรณ์ต่างๆ ได้ถนัด รองเท้านักบิน ผลิตจากหนังที่กันกระแทกและกันลื่น คล้ายรองเท้าคอมแบตสำหรับเดินป่าแต่มีน้ำหนักเบากว่า และ ร่มชูชีพ ที่นักบินใส่ไว้ข้างหลัง เพื่อช่วยชีวิตในเหตุการณ์ฉุกเฉินเมื่อต้องสละเครื่อง

อีกไฮไลท์คือนวัตกรรมทั้งที่ได้ใช้และไม่ได้ใช้ในภารกิจกู้ชีพทีมฟุตบอลเยาวชน “หมูป่าอะคาเดมี” (ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.61 ซึ่งภายหลังช่วยเหลือทุกคนออกมาได้) ได้แก่ เรือดำน้ำจิ๋ว หรือ เรือดำน้ำหมูป่า ที่พัฒนาโดย อีลอน มัสก์ (Elon Musk) จากสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และ ผ้าห่มฟอยล์ฉุกเฉิน หรือไมลาร์แบลงเก็ตที่พัฒนาโดยองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่ใช้สำหรับมนุษย์อวกาศ เพื่อป้องกันการเป็นไข้เฉียบพลันเนื่องจากอุณหภูมิร่างกายเย็นจัด

ทั้งนี้ นิทรรศการวิทยาศาสตร์ติดถ้ำ (Science in the Cave) เป็น 1 ใน 9 นิทรรศการหลักที่จัดแสดงภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ โดยนำเสนอเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของถ้ำคือด้านภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา เทคโนโลยีกู้ภัยเกี่ยวกับนวัตกรรมช่วยชีวิตมนุษย์ รวมถึงสภาพร่างกายเมื่ออยู่ในถ้ำ ซึ่งนำเสนอเกี่ยวกับชีววิทยาที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และสุดท้ายคือการเตรียมตัวเมื่อจะไปท่องเที่ยวในถ้ำ

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอีก เช่น นิทรรศการหอยจากมหาวิทยาลัยบูรพาที่มีเปลือกหอยสวยงามทั้งหอยทะเล หอยน้ำจืด หอยทากบก และหอยจิ๋วที่มีขนาดเท่าเม็ดทราย นิทรรศการเทศกาลไทรสุขสันต์ ซึ่งนำเสนอความมหัศจรรย์ของพืชสกุลไทร ที่มีความสำคัญและโดดเด่นทั้งต่อมนุษย์และระบบนิเวศ เป็นแหล่งผลิตอาหารและขับเคลื่อนระบบนิเวศให้ดำรงอยู่ได้ และคนทั่วดลกได้ใช้ประโยชน์เป็นทั้งอาหารและยาสมุนไพร พืชประดับ ตลอดจนด้านความเชื่อและวัฒนธรรม

อีกนิทรรศการที่จำเป็นต้องเรียนรู้ในยุคนี้คือนิทรรศการยุคข้อมูลครองโลก (Data Sphere) ที่จะทำให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ และการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยให้ความรู้เรื่องภาษาเป็นตัวกลางของข้อมูล การอ่านออกเสียงได้เชิงข้อมูล (Ability to Argue with Data) รวมถึงการสร้างทักษาะด้าน Data Literacy

มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปี 2561 นี้ยังจัดขึ้นเพื่อฉลองวาระสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ไทย “การครบรอบ 150 ปี ของการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา ณ หว้ากอ พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ที่ทรงทำนายการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2411 ได้อย่างแม่นยำ

สำหรับปีนี้ยังมี “เจมส์ จิรายุ ตั้งศรีสุข” เป็นพรีเซนเตอร์งาน และเพื่อกระจายโอกาสการเรียนรู้แก่เยาวชนไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้นำนิทรรศการเด่นๆ และกิจกรรเด่นๆ ที่จะจัดแสดงภายในมหกรรมฯ ไปจัดแสดงก่อนล่วงหน้าใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ในชื่องาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค” ที่ จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น จ.สงขลา เมื่อช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา และจะปดท้ายด้วยงานระดับภูมิภาคที่อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ









กำลังโหลดความคิดเห็น