สกว.เผยมีงานวิจัยสำรวจและเก็บหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ภายในถ้ำและนอกถ้ำ บันทึกจากหินงอก หินย้อย และจัดทำคู่มือมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมประเภทถ้ำแล้ว และขณะนี้นักวิจัยได้เขียนคู่มือการตรวจวัดระบบถ้ำ นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบติดตามและประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อบริหารจัดการถ้ำภายในอุทยานธรณีโลกสตูล
รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยถึงการสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับถ้ำในประเทศไทย ว่าขณะนี้หลักๆ มีสองงาน งานแรกสืบเนื่องจากงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้ความร่วมมือการวิจัยไทย-จีน ซึ่งพยายามหาหลักฐานย้อนหลังเชื่อมโยงไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น โดยมีการสำรวจและเก็บหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ภายในถ้ำและนอกถ้ำ บันทึกจากหินงอก หินย้อยอายุ 500-1,000 ปีภายในถ้ำ และวงปีไม้ มาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับข้อมูลน้ำฝน เพื่อย้อนดูหลักฐานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด
"ขณะนี้นักวิจัยได้เขียนคู่มือการตรวจวัดระบบถ้ำ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมให้ข้อเสนอแนะ หลังจากที่นักวิจัยเคยได้ทำคู่มือมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมประเภทถ้ำให้กับทาง สผ. มาแล้ว"
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานให้ทุนฝ่ายต่างๆ ภายใน สกว. เกี่ยวกับอุทยานธรณีโลกสตูล โดยจะพัฒนาระบบติดตามและประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อบริหารจัดการถ้ำอย่างยั่งยืน ป้องกันผลกระทบของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะมีต่อความสมบูรณ์ของถ้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อวิเคราะห์ตัวแปรที่มีแนวโน้มส่งผลต่อทรัพยากร เช่น อุณหภูมิ น้ำและอากาศ รวมถึงจุดเสี่ยงของถ้ำ พื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่อ่อนไหว ที่มีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนข้อเสนอในการบริหารจัดการความเสี่ยง จากการจัดทำฐานข้อมูลที่พัฒนาขึ้น