xs
xsm
sm
md
lg

“จระเข้สีส้ม” ในถ้ำใต้ดินแอฟริกากระตุกความสงสัยนักวิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิทยาศาสตร์แบกจระเข้สีส้มที่จับได้จากถ้ำอะบานดา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ว่า จระเข้สีส้มนี้อาศัยอยู่ในถ้ำอะบานดา (Olivier TESTA / AFP)
ในถ้ำใต้ดินที่ประเทศกาบองในแอฟริกาตะวันตกมี “จระเข้สีส้ม” สิ่งมีชีวิตที่พบได้เฉพาะถิ่น และได้สร้างความน่าสงสัยให้แก่นักวิทยาศาสตร์ เพราะไม่ใช่ทุกตัวที่มีสีส้ม แล้วสีส้มนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

ณ ถ้ำอะบานดา (Abanda cave) อันห่างไกลทางตอนใต้ของสาธารณรัฐกาบอง (Gabon) ในแอฟริกาตะวันตกมีจระเข้ออสทีโอเลมัสเตตราสปิส (Osteolaemus tetraspis) ซึ่งเป็นสปีชีส์ของจระเข้แคระที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาอย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว แต่จระเข้สปีชีส์เดียวกันที่พบในถ้ำดังกล่าวกลับมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่าง ซึ่งคาดว่าเป็นลักษณะที่ปรับไปตามถิ่นที่อยู่

จระเข้แคระออสทีโอเลมัสเตตราสปิสที่พบในอุโมงค์ถ้ำ มีลักษณะที่แปลกไปจากเพื่อนร่วมสปีชีส์ที่พบที่อื่น ตรงที่จระเข้ในถ้ำบางตัวมีสีส้ม และลักษณะภายนอกนี้ยังถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้อีกด้วย โดยรายงานจากเอเอฟพีระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ได้พบลักษณะที่ผิดแผกไปนี้เมื่อราว 10 ปีก่อนระหว่างที่นักวิทยาศาสตร์ได้ออกสำรวจหาร่องรอยมนุษย์ดึกดำบรรพ์ แต่ได้พบจระเข้ดังกล่าวแทน

ริชาร์ด ออสลิสลี (Richard Oslisly) นักโบราณคดีภูมิศาสตร์ สบกับดวงตาสีแดงก่ำของจระเข้ในถ้ำ ระหว่างที่สำรวจถ้ำเพื่อหาร่องรอยมนุษย์โบราณเมื่อสิบปีก่อน และ 2 ปีหลังจากนั้นเมื่อทีมสำรวจได้จับจระเข้ออกมาเจอแสงปกติก็ได้เห็นชัดว่า จระเข้ในอุโมงค์ถ้ำที่พบนั้นตัวสีส้ม

ออสลิสลีบอกว่าตอนแรกพวกเขาเข้าใจว่าสีของจระเข้นั้นเกิดจากอาหารที่กิน เนื่องจากพวกเขาเห็นจระเข้กินค้างคาวส้ม แต่พวกเขาก็ตัดทฤษฎีต่างๆ ออกไปและสันนิษฐานว่า ภายในถ้ำอะบานดาที่ขาดแสงนั้นอาจเป็นสาเหตุให้จระเข้มีสีซีดลง และยูเรียจากของเสียที่ค้างคาวปล่อยออกมาก็เหนี่ยวนำให้จระเข้มีสีส้ม

ด้าน โอลิเวียร์ เทสตา (Olivier Testa) นักถ้ำวิทยา และสมาชิกทีมสำรวจวิจัยอธิบายถึงทฤษฎีดังกล่าวว่า ของเสียจากค้างคาวปะทะหนังของจระเข้ และเปลี่ยนแปลงสีหนังของจระเข้

ในทีมสำรวจยังมี แมทธิว ไชร์ลีย์ (Matthew Shirley) นักวิจัยอเมริกันที่ร่วมกันออกเดินทางสำรวจเพื่อศึกษาวิจัยจระเข้ที่ไม่ธรรมดานี้หลายครั้ง โดยจระเข้สีส้มนี้สามารถโตได้ถึง 1.7 เมตร และทีมวิจัยก็คาดว่าน่าจะมีจระเข้ชนิดนี้อาศัยอยู่ในถ้ำอะบานดามาประมาณ 3,000 ปีแล้ว

ระหว่างทำแผนที่ระบบถ้ำอะบานดานั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้พบตัวอย่างจระเข้สีส้ม 4 ตัว ท่ามกลางกลุ่มประชากรจระเข้สายพันธุ์เดียวกันที่มีอยู่ 40 ตัว แต่จระเข้ที่มีลักษณะปกตินั้นพบในถ้ำที่มีส่วนเชื่อมต่อกับพื้นดินด้านบน แต่จระเข้ที่มีสีส้มนั้นพบในอุโมงค์ถ้ำใต้ดินที่เข้าได้จากแนวดิ่งเท่านั้น แต่ก็ยังมีส่วนเชื่อมต่อของอุโมงค์ใต้ดินกับบนพื้นดิน ที่อาจจะมีน้ำเต็มหรือน้ำแห้ง โดยขึ้นอยู่กัยระดับน้ำใต้ดิน

อีกความเป็นไปได้คือจระเข้สีส้มนั้นอาจลงไปอยู่ในแหล่งอาศัยปัจจุบันผ่านทางชองทางแคบๆ ซึ่งภายหลังจระเข้ได้โตคับทางเข้าออกจึงไม่สามารถกลับขึ้นมาได้อีก และหนังของจระเข้ก็เปลี่ยนสีไปตามการสัมผัสของเสียจากค้างคาว โดยในความมืดสนิทนั้นจระเข้สีส้มมีชีวิตรอดด้วยการกินค้างคาวและจิ้งหรีด ส่วนจระเข้สายพันธุ์เดียวกันที่อยู่บนบกก็หากินปลาหรือสัตว์ทะเลมีกระดองและเปลือก

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างจระเข้แคระในถ้ำใต้ดินกับจระเข้ที่อาศัยอยู่บนบกนั้น ยืนยันว่า จระเข้ทั้งสองที่มีลักษณะภายนอกต่างกันนั้น ไม่ใช่จระเข้ต่างสายพันธุ์ แต่ไชร์ลีย์ยังอธิบายอีกว่า จระเข้สีส้มที่อยู่ในถ้ำใต้ดินนั้นได้สร้างเอกลักษณ์ทางพันธุกรรม ที่ช่วยปรับตัวในการใช้ชีวิตอยู่ใต้ดิน และยังส่งต่อพันธุกรรมดังกล่าวจากรุ่นสู่รุ่นได้

สำหรับจระเข้ส้มนั้นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์คุ้มครองในกาบองแล้ว ซึ่งแม้ว่าประเทศในแอฟริกาใต้นี้จะมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่ออสลิสลีก็ยังต้องการให้พื้นที่ถ้ำอะบานดานั้นเป็นเขตสงวนพันธุ์อย่างเข้มงวด โดยเขาบอกว่าถ้ำดังกล่าวยังมีอะไรให้เราศึกษาอีกมาก และยังให้คำมั่นที่พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงวิทยาศาสตร์”






กำลังโหลดความคิดเห็น