xs
xsm
sm
md
lg

มรดกยิ่งใหญ่ที่สุดของ Stephen Hawking

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

เถ้ากระดูกของ Hawking ถูกวางไว้เคียงกับเถ้ากระดูกของ Charles Darwin และ Isaac Newton ณ Westminster Abbey
เมื่อ Stephen Hawking วัย 21 ปี เข้ารับการตรวจร่างกาย แพทย์ได้พบว่า เขากำลังเริ่มป่วยเป็นโรค amyotrophic lateral sclerosis (ALS) ซึ่งเป็นโรคที่สมองไม่สามารถสั่งให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายเคลื่อนไหวได้ แพทย์ยังได้กล่าวเสริมว่า เขาคงมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกไม่เกิน 5 ปี นั่นหมายความว่า Hawking คงจะเสียชีวิตก่อนเรียนสำเร็จปริญญาเอก แต่เหตุการณ์กลับผกผัน เพราะ Hawking สามารถดำรงชีวิตต่อมาอีก 55 ปี จนมีชื่อเสียงเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงที่โลกรู้จักดีที่สุดคนหนึ่ง

วันที่ Hawking เสียชีวิตคือวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ.2018 นั้นตรงกับวันเกิดของ Albert Einstein ในปี 1879 และวันที่ Hawking เกิด คือ 8 มกราคม ปี 1942 ก็ตรงกับวันที่ Galileo Galilei ตายเมื่อ 300 ปีก่อน ข่าวการเสียชีวิตของ Hawking ได้ทำให้คนทั้งโลกตกใจ เสียใจ และเศร้าใจที่ต้องสูญเสียนักฟิสิกส์ผู้ฉลาดปราดเปรื่องมากที่สุดคนหนึ่งแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 และเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้สามารถสื่อสารข่าว และอธิบายความรู้วิทยาศาสตร์ให้ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปเข้าใจ และสนุกสนานได้

Hawking เกิดที่เมือง Oxford ในประเทศอังกฤษ บิดาเป็นนักวิจัยด้านการสาธารณสุข ส่วนมารดาจบการศึกษาด้านปรัชญา ในวัยเด็ก Hawking ได้รับการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียน St. Albans School ใกล้กรุง London แล้วไปเรียนฟิสิกส์ระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย Oxford จากนั้นได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Cambridge ในสาขาจักรวาลวิทยา โดยมี Dennis Schiama เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เพราะในช่วงเวลานั้นการศึกษาทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Einstein กำลังตื่นตัวมาก เพราะนักฟิสิกส์หลายคน เช่น Roger Penrose แห่ง Birkbeck College ได้วิเคราะห์พบว่า สมการของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปเวลามีการนำไปใช้กับดาวฤกษ์ที่หมดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในตัว เนื้อของดาวฤกษ์นั้นจะยุบตัวภายใต้แรงโน้มถ่วง จนเป็นจุดที่มีความหนาแน่นสูงมากถึงอนันต์ (คือมากจนเขียนค่าเป็นตัวเลขไม่ได้) การพบภาวะเอกฐาน (singularity) ที่ได้จากการแก้สมการเช่นนี้เป็นสัญญาณชี้บอกว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปมีปัญหาในด้านความถูกต้องที่นักฟิสิกส์ต้องหาทางออก

Hawking กับ George Ellis ซึ่งเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์กันจึงเริ่มวิจัยเรื่องหลุมดำ และได้พบว่า ผิวของหลุมดำหรือ event horizon (ขอบฟ้าเหตุการณ์) ที่ทำหน้าที่ปกป้องสรรพสิ่งไม่ให้หลุดหนีจากหลุมดำ มีสมบัติประหลาดประการหนึ่งคือผิวของหลุมดำไม่มีวันลดขนาด คือมีแต่จะเพิ่ม ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับปริมาณ entropy ในวิชาอุณหพลศาสตร์ ที่มีแต่จะเพิ่มเช่นกัน และเมื่อ entropy ของระบบต่างๆ ในวิชาความร้อนล้วนมีอุณหภูมิ หลุมดำก็ต้องมีอุณหภูมิด้วย และเมื่อสรรพสิ่งที่มีอุณหภูมิ ต้องแผ่รังสี หลุมดำก็ต้องแผ่รังสีด้วย

การนำตรรกะและหลักการมาใช้ในการวิเคราะห์หลุมดำในลักษณะนี้ ทำให้คนทั้งโลกตื่นเต้นมาก เพราะจากเดิมที่เคยคิดกันว่า หลุมดำดึงดูดทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ไม่เป็นจริงอีกต่อไป เพราะจริงๆ แล้วหลุมดำสามารถแผ่รังสีที่เรียกว่ารังสี Hawking ได้ และรังสีที่แผ่ออกไปนี้จะทำให้หลุมดำสูญเสียมวลไปเรื่อยๆ มีขนาดเล็กลงๆ จนหายไปในที่สุด ผลงานนี้ทำให้ Hawking ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ Royal Society (F.R.S.) ในปี 1974 ขณะมีอายุเพียง 32 ปี

ในช่วงเวลานั้นร่างกายของ Hawking กำลังเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว คือ พละกำลังได้อ่อนแอลงมาก การเดิน การพูด เป็นไปอย่างยากลำบาก จนทุกคนพากันคิดว่า Hawking ได้ผ่านจุดสุดยอดในการทำวิจัยฟิสิกส์แล้ว แต่ในความเป็นจริง เขายังไม่ถึงจุดสูงสุดของชีวิตทำงาน

ในการอธิบายที่มาของรังสีที่ออกมาจากหลุมดำ Hawking เป็นคนที่นำทฤษฎีควอนตัมมาประยุกต์ใช้กับหลุมดำเป็นครั้งแรก การผูกโยงทฤษฎีสองทฤษฎีหลักของฟิสิกส์ คือทฤษฎีควอนตัมกับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปเข้าด้วยกัน ทำให้ Hawking ได้พบว่า หลุมดำโดยแท้จริงแล้วไม่ดำ เพราะสามารถแผ่รังสีได้ อีกทั้งมีอุณหภูมิ ที่แปรผกผันกับมวลของหลุมดำ คือ ถ้าหลุมดำมีมวลน้อย อุณหภูมิของมันจะสูง ในทำนองตรงกันข้าม ถ้าหลุมดำมีมวลมาก อุณหภูมิก็จะต่ำ สำหรับกระบวนการระเหิดของหลุมดำจะเกิดได้เร็ว ถ้าหลุมดำมีมวลระดับอะตอม แต่ในกรณีหลุมดำซึ่งอยู่ที่ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา และมีมวลมาก เวลาที่ใช้ในการระเหิดจะนานนับล้าน ล้าน ล้านปี

แม้การสูญเสียหลุมดำจะเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้คนแตกตื่น แต่ก็ยังไม่เท่ากับการที่ได้รู้ในเวลาต่อมาว่า สารสนเทศ (information) ของสรรพสิ่งที่ถูกหลุมดำดึงดูดเข้าไปนั้นก็จะสูญหายไปจากเอกภพด้วย

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่นักฟิสิกส์รับไม่ได้ เพราะขัดแย้งกับหลักการของกลศาสตร์ควอนตัม ผลงานของ Hawking ชิ้นนี้จึงทำให้นักฟิสิกส์ทั้งโลกถกเถียงกันอย่างเคร่งเครียดจนหลายคนนอนไม่หลับ เพราะทฤษฎีควอนตัมมีหลักการว่า information จะต้องไม่สูญหาย แต่ทฤษฎีของ Hawking ระบุว่า information ทุกรูปแบบที่ถูกหลุมดำดูดเข้าไปต้องดับสูญ

ในปี 1969 Hawking ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ Lucasian แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ Isaac Newton และ Paul Dirac (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1933) เคยครอง Hawking ได้ครองตำแหน่งนี้เป็นเวลา 40 ปี จนเกษียณ แต่ตลอดเวลาก็ยังครุ่นคิดเรื่อง การสูญเสียสารสนเทศในหลุมดำ และการอธิบายสาเหตุของการเกิด Big Bang โดยใช้ทฤษฎีควอนตัม เพราะยังไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่า อะไรทำให้เกิด Big Bang

ในปี 1985 Hawking วัย 43 ปี ได้รับการผ่าตัดที่คอ จึงทำให้ไม่สามารถพูดได้ชัด และเสียงพูดเบามากจนต้องใช้กล้ามเนื้อที่แก้มทำหน้าที่ควบคุมคอมพิวเตอร์ให้สังเคราะห์คำ แล้วให้คอมพิวเตอร์อ่านออกเสียง ความพยายามอย่างสุดยอดนี้ทำให้ Hawking ประสบความสำเร็จในการเรียบเรียงหนังสือเรื่อง “A Brief History of Time” ได้ในปี 1988 โดยทำสถิติขายได้ร่วม 50 ล้านเล่ม และทำให้ Hawking เป็น celeb คนสำคัญคนหนึ่งของโลก เพราะทุกคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ต่างก็ได้รับแรงดลใจจากคนเขียน ที่มีสมองอยู่ในร่างกายที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแทบไม่ได้เลย แต่จิตใจและความนึกคิดสามารถท่องเที่ยวไปได้ทั่วจักรวาล อีกทั้งสามารถถ่ายทอดความนึกคิด และจินตนาการต่างๆ ออกมาให้คนทั่วไปเข้าใจและได้อรรถรสอย่างสนุกสนานด้วย

Hawking แต่งงาน 2 ครั้งกับภรรยาคนแรก Jane Wilde การสมรสที่นาน 25 ปี ทำให้ได้ทายาท 3 คน เพราะภาวะพิการ และความมีชื่อเสียงมากของ Hawking ทำให้ภรรยาทนรับความกดดันจากสังคมไม่ได้ ทั้งสองจึงหย่ากัน ส่วนการสมรสครั้งที่สองกับ Elaine Mason ก็จบลงด้วยการหย่าเช่นกัน

แม้ชีวิตคู่จะล้มเหลว แต่ Hawking ก็เป็นคนที่มีทัศนคติต่อโลกในแง่บวกตลอดเวลา เป็นคนที่โปรดปรานการดูละคร และโอเปรา รวมถึงชอบเดินทางไปทำวิจัยทั่วโลก โดยไปที่สถาบัน California Institute of Technology ที่เมือง Pasadena ในอเมริกาอย่างสม่ำเสมอ เป็นคนมีอารมณ์ขัน ชอบให้ความคิดเห็นด้านวิทยาศาสตร์ต่อสังคม มักรู้สึกยินดีที่ได้พบปะบรรดาสื่อสารมวลชน และเวลา Hawking ให้ความคิดเห็นส่วนตัวไม่ว่าเป็นประเด็นใด ข้อคิดของ Hawking ก็มักเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เช่น Hawking ได้เตือนภัยเรื่องการสร้างปัญญาประดิษฐ์ และการพบมนุษย์ต่างดาว เป็นต้น

ในส่วนที่เกี่ยวกับโรค ALS ที่เป็นนั้น Hawking เล่าว่า หลังจากที่รู้ข่าวร้าย ความคาดหวังของชีวิตในอนาคตของเขาได้หมดไปในทันที แต่หลังจากนั้นเขาถือว่า สิ่งที่เขาได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโบนัส

ความสามารถ วิธีคิดและการดำเนินชีวิตของ Hawking จึงได้สร้างแรงดลใจให้แก่คนทั้งโลก

เถ้าอังคารของ Hawking ถูกนำไปฝังในมหาวิหาร Westminster ในลอนดอนใกล้ๆ กับที่ฝังศพของของ Newton และ Charles Darwin

แม้จะไม่ได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานเรื่อง หลุมดำที่สามารถแผ่รังสีได้ เพราะการตรวจสอบทฤษฎีของ Hawking เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก แต่ในปี 2016 Jeff Steinhauer แห่ง Technion Institute of Technology ที่เมือง Haifa ในอิสราเอล ขณะทดลองศึกษากลุ่มอะตอมที่มีอุณหภูมิใกล้ศูนย์องศาสัมบูรณ์ เขาบอกว่าได้เห็น “แสง” แผ่ออกมาจากกลุ่มอะตอมนั้น ทำให้คิดว่าเป็น รังสี Hawking แต่ในเวลาต่อมา ผลการทดลองนี้ไม่มีใครยืนยัน

ครั้นเมื่อ Hawking ได้ทราบข่าวการพบคลื่นโน้มถ่วง ที่เกิดจากการชนกันของหลุมดำ 2 หลุม โดยอุปกรณ์ LIGO (จากคำเต็ม Laser Interferometer Gravitational-wave Observatory) ก็ไม่มีใครเห็นรังสี Hawking ทั้งๆ ที่พื้นที่ผิวของหลุมดำ 2 หลุม ที่รวมกันแล้วก็น้อยกว่าผิวของหลุมดำใหม่ แต่ Hawking ก็ยังคิดว่า วันหนึ่งในอนาคตคงมีคนเห็นรังสีที่มีชื่อตั้งตามชื่อของเขา

แม้ร่างกายจะสลายไปแล้ว แต่ Hawking ก็ยังทิ้งปริศนาฟิสิกส์ให้โลกต้องขบคิดต่อไป นั่นคือ เหตุใดหลุมดำจึงไม่ทำลายสารสนเทศของทฤษฎีควอนตัม และปริศนานี้อาจเป็นมรดกทางปัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Hawking สำหรับนักฟิสิกส์รุ่นหลังๆ

เพราะ Hawking มีจินตนาการว่า เวลาพจนานุกรมถูกดูดเข้าไปในหลุมดำ อักษร พยัญชนะ และสระต่างๆ จะถูกดูดเข้าไปสู่ส่วนลึกที่สุด แล้วหายไปหมด เพราะไม่มีใครรู้หรือมีข้อมูลของสิ่งนั้นอีกต่อไป แม้รังสี Hawking จะถูกส่งออกมา แต่มันก็ไม่ออกมาในลักษณะเป็นอักษร สระ และพยัญชนะเหมือนเดิม

การสูญเสียสารสนเทศเช่นนี้ ทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมแถลงว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะฟังก์ชันคลื่นที่ใช้ในการบอกสมบัติของสรรพสิ่งถึงจะเปลี่ยนไป แต่ก็ไม่สูญหาย และถ้าการสูญหายเกิดขึ้นจริง กฎทรงพลังงาน กฎทรงโมเมนตัม ฯลฯ ก็จะไม่จริงอีกต่อไป

ถึงปี 1997 Hawking ก็ยังเชื่อว่า ทฤษฎีควอนตัมจะต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะเขากับ Kip Thorne (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 2016) เชื่อเหลือเกินว่าหลุมดำล้มทฤษฎีควอนตัมได้

แต่เมื่อถึงปี 2004 Hawking ก็เปลี่ยนใจ และพยายามคิดว่าหลุมดำยังเก็บสารสนเทศไว้ได้ต่อไป แต่ Hawking ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์เรื่องนี้ได้อย่างสมบูรณ์ จนกระทั่งวันที่เสียชีวิต

ปฏิทรรศน์สารสนเทศ (information paradox) ที่ Hawking นำเสนอได้แถลงว่า สารสนเทศที่หลุมดำดูดกลืนไปจะสูญหายไปอย่างสิ้นเชิง เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการของกลศาสตร์ควอนตัมอย่างสิ้นเชิง เพราะกลศาสตร์ควอนตัมตั้งอยู่บนพื้นฐาน การย้อนเวลากลับของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น จากผลสุดท้ายจะทำให้รู้ต้นเหตุเสมอ

ในเบื้องต้น Hawking คิดหาทางออกของความขัดแย้งนี้ โดยเสนอแนะว่าสารสนเทศที่ตกเข้าสู่หลุมดำจะถูกนำออกไปสู่เอกภพอื่นที่เป็นคู่ขนานกับเอกภพของเรา หลังจากที่หลุมดำดับสูญไป แต่เมื่อไม่มีใครคนใดสามารถเข้าใจธรรมชาติของกลศาสตร์ควอนตัมในภาวะที่มีสนามโน้มถ่วงความเข้มสูงมหาศาล ข้อเสนอนี้ของ Hawking จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับ

ด้านเพื่อนร่วมงานของ Hawking ที่ชื่อ John Preskill แห่ง Caltech ก็มีความมั่นใจว่า ความคิดของ Hawking ผิดเต็มๆ คือ หลุมดำทำลายกลศาสตร์ควอนตัมไม่ได้ โดยได้เสนอแนะว่า บริเวณที่เป็นขอบฟ้าเหตุการณ์มิได้เป็นผิวที่คมชัด คือ มีความเว้าแหว่งอันเป็นไปตามหลักความไม่แน่นอนของ Heisenberg ดังนั้น สารสนเทศจึงสามารถทะลุขอบฟ้าเหตุการณ์ออกมาได้ แต่มิได้ไปสู่เอกภพอื่น กลับสู่เอกภพของเราเอง แม้ข้อมูลที่ออกมาจะปนเปกัน แต่ก็ไม่สูญหาย ดังนั้นปฏิทรรศน์สารสนเทศจึงไม่มี

Hawking เองก็ได้กล่าวสนับสนุนความเห็นนี้ และเสริมว่า ถ้าสารสนเทศไม่สามารถสูญหายไปจากเอกภพได้ มนุษย์ก็ไม่มีหนทางที่จะใช้หลุมดำเป็นทางผ่านไปสู่เอกภพอื่น

แต่ปัญหาว่า หลุมดำเก็บสารสนเทศของสสารที่มันดึงดูดเข้าไปได้อย่างไรก็ยังมีอยู่ต่อไป และนี่ก็คือปัญหาที่ Hawking ยังผูกพันและหาทางแก้ตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต

ในความเข้าใจของนักทฤษฎีเรื่องหลุมดำ อันเป็นสนามโน้มถ่วงที่ยังคงอยู่ หลังจากที่ดาวฤกษ์ยุบตัวภายใต้แรงโน้มถ่วงของตัวมันเอง จนเหลือเป็นจุดที่ไม่มีขนาดใดๆ และที่ระยะหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากจุดนี้จะเป็นขอบฟ้าเหตุการณ์ (event horizon) ที่แรงโน้มถ่วงมีมหาศาล จนแม้แต่แสงก็หนีรอดผ่านขอบฟ้าเหตุการณ์อกมาไม่ได้

แต่ Hawking ได้พบว่า ถ้าใช้หลักความไม่แน่นอนของ Heisenberg มาอธิบายเรื่องนี้สุญญากาศที่คนทั่วไปเข้าใจว่า ไม่มีอะไรเลยนั้น จริงๆ แล้วมีอนุภาคกับปฏิยานุภาคที่เกิดและดับไปอย่างรวดเร็วก่อนที่ใครจะตรวจจับได้ ดังนั้นถ้าใช้หลักความไม่แน่นอนนี้ที่ตรงบริเวณขอบฟ้าเหตุการณ์ เมื่อเกิดอนุภาคกับปฏิยานุภาค อนุภาคหนึ่งจะถูกดูดเข้าไปในหลุมดำ ส่วนอีกอนุภาคหนึ่งจะถูกผลักออกไปจากหลุมดำ การสูญเสียอนุภาคเช่นนี้จะทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานและมวล ในลักษณะของรังสี แม้จะมีความเข้มไม่มาก แต่นักฟิสิกส์แทบทุกคนเชื่อว่า รังสีนี้มีจริง

ในการแก้ปฏิทรรศน์สารสนเทศ หลักการของกลศาสตร์ควอนตัมแถลงว่า ฟังก์ชันคลื่นซึ่งเป็นสารสนเทศของระบบจะมีวิวัฒนาการที่เป็นไปในลักษณะที่เราสามารถทำนายได้หมด ถ้านั่นคือสารสนเทศถูกทำลาย ฟังก์ชันคลื่นก็ไม่สามารถนำไปใช้พยากรณ์อะไรๆ ได้อีกต่อไป

ในปี 2004 ที่ Hawking เปลี่ยนใจนั้น เพราะเขาได้พบว่า ในทฤษฎีของหลุมดำ นักฟิสิกส์ต้องการข้อมูลเพียง 3 ค่าเท่านั้น ในการบรรยายสมบัติของหลุมดำ คือ ค่าของมวล ค่าของโมเมนตัมเชิงมุม และค่าของประจุที่หลุมดำมี นี่คือทฤษฎีบทของการไม่มีขน (no-hair theorem) ซึ่งมีนัยยะว่า ขอบฟ้าเหตุการณ์อาจมีประจุมากถึงอนันต์ได้ และประจุเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ใช้บอกความแตกต่างระหว่างหลุมดำ

แต่ผลงานนี้ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะฟังก์ชันคลื่นของเอกภพที่ Hawking สร้างจะนำไปสู่การมีพหุภพ (many worlds)

นักฟิสิกส์บางคนเชื่อว่า ถ้ารังสี Hawking สามารถเก็บสารสนเทศไว้ได้อย่างสมบูรณ์ที่ขอบฟ้าเหตุการณ์ที่ตรงนั้นก็จะต้องมีกำแพงไฟ (firewall) ซึ่งก็ขัดกับหลักการของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปอีก เพราะจะทำให้เกิดปฏิทรรศน์เรื่องหลุมดำกับกำแพงไฟอีกปฏิทรรศน์หนึ่ง

ปริศนานี้จึงเปรียบเสมือนมรดกที่ Hawking ทิ้งให้ทุกคนได้ขบคิด และระลึกถึงเขาว่า มิใช่เป็นเพียงอัจฉริยะที่พิการทางร่างกาย แต่สามารถสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้แก่คนทั้งโลกได้

ในส่วนที่เกี่ยวกับพิธีไว้อาลัย Hawking ก็นับว่ามีดราม่ามาก คือ ในวันที่ทำพิธีศพ องค์การอวกาศแห่งยุโรป (European Space Agency หรือ ESA) ได้ส่งคลื่นที่บันทึกเสียงพูดของ Hawking เกี่ยวกับสันติภาพ และความหวังของโลก ซึ่งนาน 6 นาที ตรงไปที่หลุมดำ 1A 0620-00 ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด จากสถานีส่งสัญญาณในสเปน

หลุมดำนี้อยู่ห่างจากโลกประมาณ 3,500 ปีแสง และเมื่อคลื่นเดินทางถึงขอบฟ้าเหตุการณ์ที่อยู่รอบหลุมดำนั้นในประมาณปี 5,520 มันจะถูกหลุมดำดึงดูดให้จมหายไป แต่สารสนเทศต่างๆ ที่อยู่ในคลื่นนั้นจะไม่หายไปไหน เพราะนั่นคือสิ่งที่ Hawking เชื่อว่า มันจะคงอยู่ในเอกภพตลอดไป แต่จะอยู่อย่างไร ใครรู้ช่วยคำนวณที

อ่านเพิ่มเติมจาก “My Brief History” โดย Stephen Hawking จัดพิมพ์โดย Bantam Books ในปี 2013

เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น