ในภาพยนตร์เรามักเห็น “ทีเรกซ์” ไดโนเสาร์กินเนื้อแสนดุร้าย อ้าปากคำราม พร้อมลิ้นที่ยื่นออกมาสั่นระรัว ทว่านักวิจัยได้ศึกษาโครงสร้างทางกายภาพของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และพบว่าลิ้นของ “ราชาแห่งสัตว์เลื้อยคลาน” นี้ติดแน่นอยู่ที่ปากเหมือนจระเข้หรือจระเข้อัลลิเกเตอร์
นักวิจัยได้รายงานการค้นพบดังกล่าวลงวารสารวิชาการพลอสวัน (PLOS ONE) ซึ่งศาสตราจารย์ จูเลีย คลาร์ก (Julia Clarke) จากวิทยาลัยภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัสในออสติน (University of Texas at Austin) ผู้ร่วมวิจัยระบุว่า เราประกอบโครงสร้างของทีเรกซ์ (T. rex) ผิดมานาน
งานวิจัยนี้นำทีมโดยนักวิจัยจากสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) หรือ (CAS) ซึ่งได้ศึกษากระดูกโคนลิ้น (hyoid bone) ที่มีรูปร่างเหมือนเกือกม้าอยู่ระหว่างคางและคอที่ยึดลิ้นของเอาไว้
เอเอฟพีระบุว่า ทีมนักวิจัยได้เปรียบเทียบกระดูกดังกล่าวของไดโนเสาร์และเตอโรซอร์ (pterosaur) หรือไดโนเสาร์บินได้ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว กับญาติที่ใกล้ชิดของพวกมัน รวมถึงนกในปัจจุบัน กับจระเข้อัลลิเกเตอร์ทั้งที่สูญพันธุ์ไปแล้วและที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน
คลาร์กบอกว่า ไดโนเสาร์ส่วนใหญ่ที่สูญพันธุ์ไปแล้วมีกระดูกโคนลิ้นที่สั้นมาก และในสัตว์จำพวกจระเข้ที่มีโคนกระดูกลิ้นสั้นเหมือนกันนั้น มีลิ้นที่ติดแนบไปกับด้านล่างของปาก
ทั้งนี้ ความคล่องแคล่วของลิ้นในสิ่งมีชีวิตนั้น ก็อาจจะเป็นเงื่อนไขกำหนดว่าสัตว์นั้นจะบินได้หรือบินไม่ได้ สำหรับจระเข้นั้นมีกระดูกโคนลิ้นที่สั้น แต่ไดโนเสาร์บินได้เหมือนนกอย่างเตอโรซอร์และนกในปัจจุบันนั้น มีรูปร่างกระดูกโคนลิ้นหลากหลายแบบ ซึ่งการมีปีกโดยแลกกับการสูญเสียมือหรืออุ้งมืออันกระชับกระเฉงนั้น อาจจะเป็นปัจจัยให้สามารถเคลื่อนไหวลิ้นได้หลายแบบ
จี เฮง ลี้ (Zhiheng Li) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำห้องปฏิบัติการวิวัฒนาการสัตว์มีกระดูกสันหลังและกำเนิดมนุษย์ แห่งสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยนี้ ให้ความเห็นว่า หากเราไม่สามารถใช้มือจัดการเหยื่อได้ ลิ้นก็อาจมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับจัดการอาหาร ซึ่งความเห็นดังกล่าวเป็นข้อสันนิษฐานที่พวกเขาเดินหน้าพิสูจน์ ทว่ายังต้องศึกษาวิจัยอีกมากเพื่อความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างการทำงานของลิ้นและวิวัฒนาการบิน