ในปี ค.ศ.1517 (รัชสมัยพระรามาธิบดีที่ 2) สันตะปาปา Leo ที่ 10 แห่งกรุงวาติกัน ทรงประสงค์จะต่อเติมมหาวิหาร St. Peter’s ในกรุงโรม จึงทรงดำริวิธีหาเงินมาใช้ในการก่อสร้างด้วยการขายเอกสารที่มีชื่อเรียกว่า indulgence ให้คนที่มีเอกสารนี้ในครอบครอง สามารถใช้ถ่ายโทษให้ตนเองและเปลื้องบาปทั้งหลายที่ได้ทำไป ด้วยการอ้างว่า พระเจ้าจะทรงอภัยโทษและเคลียร์บาปทุกรูปแบบ ในวินาทีแรกที่เงินซื้อ indulgence ของคนๆ นั้นตกถึงก้นหีบในท้องพระคลังหลวง วิธีการขายใบบุญเพื่อให้คนซื้อขึ้นสวรรค์ได้เช่นนี้ ทำให้ Martin Luther รู้สึกผิดหวังและเคืองมาก ที่เห็นสถาบันคริสต์จักรคิดและทำทุกสิ่งทุกอย่างและทุกวิถีทางเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบรรดาเศรษฐี ให้ปลอดบาปด้วยการซื้อใบบุญ และให้บรรดายาจกที่ไม่มีเงินจะซื้ออะไรเลย ต้องตกนรกสถานเดียว
ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ.1517 Martin Luther จึงตัดสินใจออกมาประท้วงเรื่องนี้ โดยได้ประกาศท้าทายอำนาจของคริสตจักรนิกายโรมันแคทอลิก ซึ่งในเวลานั้นมีพลังและอำนาจทางทหารมากที่สุดในยุโรป ด้วยการเรียกร้องให้สันตะปาปาทรงเปลี่ยนประเพณีปฏิบัติต่างๆ หลายเรื่องที่ Luther มีความเห็นว่าไม่จำเป็น ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ Luther ก็ได้เสนอให้มีการปราบปรามและจับกุมการกระทำทุจริตคอรัปชั่นในสำนักวาติกันด้วย โดย Luther ได้นำใบประกาศเรียกร้องให้ศาสนจักรมีการปฏิรูปไปติดที่บานประตูโบสถ์ในเมือง Wittenberg ประเทศเยอรมนี โดยได้เสนอข้อเรียกร้อง 95 ประเด็นให้ชาวเมืองได้วิพากษ์วิจารณ์ อภิปราย และถกเถียงกันเพื่อหาลู่ทางให้มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เพราะชนชั้นล่างและชาวบ้านส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่ากำลังถูกสถาบันศาสนาเอาเปรียบ ด้วยการเรียกร้องให้เสียภาษีศาสนาตลอดเวลา การประท้วงของ Luther ในครั้งนั้นทำให้สถาบันศาสนาที่กรุงวาติกันได้รับผลกระทบกระเทือนมาก และทำให้วงการศาสนาอื่นๆ ในยุโรปเริ่มการปฏิรูปด้วย ความแตกแยกที่เกิดขึ้นนี้ทำให้คริสต์ศาสนานิกายต่างๆ ถือกำเนิด และทำให้คริสต์ศาสนจักรมีการปฏิรูปตลอดมาจนกระทั่งวันนี้
ข้อเรียกร้องหนึ่งที่ Luther ได้ขอให้วาติกันดำเนินการเปลี่ยน คือให้มีการเขียนคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาเยอรมันแทนภาษาละติน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวเยอรมันทุกคนสามารถอ่าน และเข้าใจคัมภีร์ได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องขอให้นักบวช มาแปลหนังสือหรือถ่ายทอดให้ฟัง นั่นคือ Luther ประสงค์จะให้ชาวบ้านสามารถเข้าใจเรื่องพระทัยในพระเจ้าได้โดยไม่จำเป็นต้องมี “ล่าม” คนกลาง ข้อเรียกร้องนี้จึงพยายามลดบทบาทและความสำคัญของบาทหลวงที่ชอบอ้างว่าตนเท่านั้นสามารถสนทนากับพระเจ้าได้
ส่วนการอ้างเรื่องที่มีการถ่ายบาปโดยการซื้อใบบุญนั้นเกิดขึ้น เพราะสังคมในเวลานั้นเชื่อว่า นักบุญคือคนที่ได้ทำความดี และมีบุญสะสมมากมหาศาลจนเกินพอสำหรับการได้ขึ้นสวรรค์แล้ว ดังนั้นจึงมอบบุญ “ส่วนเกิน” ให้องค์สันตะปาปานำไปถ่ายบาปให้คนอื่นๆ ธุรกิจซื้อบุญด้วยเงินนี้ทำให้คริสต์ศาสนิกชนจำนวนมากพากันหลงเชื่อ คริสตจักรจึงได้ประกาศรับเงินล้างบาปอย่างไม่อั้น มีผลทำให้วงการศาสนามีเงินในครอบครองอย่างมหาศาล และนักบวชหลายคนใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย ยิ่งเมื่อ Luther ได้ฟังคำเทศนาว่า คนที่บริจาคเงินจำนวนมากจะไม่มีวันตกนรก และใครที่ไม่ให้เงินเพื่อล้างบาป จะต้องตกนรกแน่นอน Luther รู้สึกผิดหวังมากที่บาทหลวงส่งเสริมการล้างสมองด้วยคำสอนที่งมงาย และสนับสนุนธุรกิจหาเงินจากประชาชนในลักษณะนี้
ดังนั้นเมื่อบาทหลวงที่เป็นตัวแทนจากสำนักวาติกันเห็น Luther ต่อต้านองค์สันตะปาปา จึงสั่งให้เผาเอกสารทุกชิ้นที่ Luther เขียน และกล่าวประณาม Luther ว่าเป็นหมาขี้เรื้อน บรรดาสานุศิษย์ของ Luther จึงแก้แค้นแทนอาจารย์ด้วยการเผาเอกสารทุกชิ้นที่บาทหลวงเขียน เป็นการเอาคืน
เวลาก่อนที่ Luther ถือกำเนิด เป็นเวลาที่ไม่มีใครกล้าต่อสู้หรือต่อต้านอำนาจของสันตะปาปา เพราะคนที่ขัดขวางจะถูกจับตัวไปฆ่า หรือทรมาน ดังนั้นทุกคนที่ได้เห็นการลงโทษอย่างรุนแรงจึงพากันกลัว เช่น ในปลายคริสตศตวรรษที่ 14 เมื่อชาวอังกฤษชื่อ John Wyclif “บังอาจ” แปลคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลจากภาษาละตินเป็นภาษาอังกฤษ เขาถูกสังคมอังกฤษประณามว่าเป็นทาสของซาตาน จึงถูกอัปเปหิออกจากโบสถ์ และถูกประณามให้เป็นคนที่จะไม่มีบาทหลวงคนใดกล้าประกอบพิธีทางศาสนาให้เวลาถึงแก่กรรม ด้าน John Hus แห่งกรุง Prague ซึ่งสนับสนุนการปฏิรูปคริสต์ศาสนาก็ถูกไนแหลมเสียบทางทวาร จนเสียชีวิต
ในเบื้องต้น Luther ไม่เคยคิดไกลว่าสถาบันคริสต์ศาสนาจะต้องมีการปฏิรูป เขาต้องการเพียงให้สถาบันเปลี่ยนวิธีปฏิบัติบางวิธีเท่านั้น แต่องค์สันตะปาปา Leo ที่ 10 ทรงไม่ให้ความสำคัญกับความคิดของ Martin Luther เพราะทรงเห็นว่าความขัดแย้งใดๆ เป็นเพียงการวิวาทเชิงความคิดระหว่างคนสองฝ่ายเท่านั้นเอง แต่เมื่อความขัดแย้งไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ในปี 1518 โรมจึงสั่ง Martin Luther ให้ไปรายงานตัวที่ศาลศาสนาในโรม แต่เจ้าชาย Frederick แห่งมหาวิทยาลัย Wittenberg ผู้ทรงอุปถัมภ์ Luther อ้างว่า Luther เป็นคนเยอรมัน จึงไม่สมควรจะถูกตัดสินความโดยศาลอิตาลี Luther จึงไม่ถูกจองจำ ในเวลาต่อมาเขาได้โต้วาทีกับ John Eck ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์สันตะปาปาที่มหาวิทยาลัย Leipzig ความรุนแรงของการอภิปรายในครั้งนั้นทำให้ Luther มีบาทหลวงที่เป็นศัตรูเพิ่มอีกหลายองค์
ในปี 1520 Luther ได้เขียนจดหมายถึงบรรดาขุนนางชั้นสูงในเยอรมนี โดยได้รายงานความคิดเห็นของตนให้เหล่าขุนนางได้รับรู้ เพื่อขอการสนับสนุน และได้รับหมายศาลอีกครั้งพร้อมข้อกล่าวหาว่า Luther ได้กระทำบาปที่ร้ายแรงมากถึง 41 เรื่อง ทันทีที่อ่านหมายศาลจบ Luther ได้เผาหมายศาลนั้น การกระทำที่เป็น “กบฏ” เช่นนี้ทำให้ Luther ได้พบว่า มีชาวเยอรมันที่สนับสนุนเขาเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
ในเวลาต่อมาสมเด็จพระเจ้า Charles ที่ 5 แห่งเยอรมนีทรงบัญชาให้ทหารกักขัง Luther ในคุกที่ปราสาท Wartburg เพื่อป้องกันมิให้ Luther ออกไปกล่าวปราศรัยปลุกปั่นฝูงชน
เมื่อ Luther ได้รับการปล่อยตัวในปี 1529 จึงเดินทางไปประชุมเรื่องแนวทางการปฏิรูปคริสต์ศาสนาร่วมกับบาทหลวง และนักเทววิทยาที่มีชื่อเสียงหลายคน และที่ประชุมยังยืนยันความเชื่อและการปฏิบัติที่ขัดแย้งกับคำสอนของศาสนจักรแห่งโรม ต่อมาอีกไม่นานกลุ่มคนที่สนับสนุนและเห็นด้วยกับ Luther ก็ได้ชื่อว่าเป็นพวกคริสต์ศาสนิกชนนิกาย Protestant
คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ที่มี Luther เป็นผู้ให้กำเนิดเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นอย่างช้าๆ และคำสอนต่างๆ ของนิกายได้ถูกนำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวางในประเทศที่ตั้งอยู่ทางเหนือของยุโรป โดยใช้คัมภีร์ไบเบิลเป็นสื่อกลางในการสื่อสารติดต่อระหว่างพระเจ้ากับคนทั่วไป เพราะไบเบิลถูกตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาเยอรมัน ดังนั้นคนเยอรมันที่อ่านหนังสือออกก็สามารถรู้ได้ในทันทีว่า พระเจ้าทรงประสงค์สิ่งใด โดยไม่จำเป็นต้องมีบาทหลวงมาถ่ายทอดความประสงค์ของพระเจ้าให้ฟัง คริสต์ศาสนานิกายนี้จึงทำให้ผู้คนมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การต่อต้านของ Luther จึงเป็นการกระทำที่มากกว่าจะปฏิรูปศาสนา แต่ทำให้สังคมการเมือง และวิทยาการต่างๆ ในยุโรปได้ปฏิวัติไปในเวลาเดียวกันด้วย
ในปี 1534 เมื่อพระเจ้า Henry ที่ 8 แห่งอังกฤษทรงทราบข่าวเหตุการณ์ประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วเยอรมนี พระองค์ซึ่งกำลังไม่พอพระทัยสันตะปาปาที่ทรงไม่ยินยอมให้พระองค์ทรงหย่ากับพระราชินี Catherine แห่ง Aragon และไม่ยอมรับการอภิเษกสมรสครั้งใหม่ของพระองค์กับ Ann Boleyn จึงทรงฉวยโอกาสนี้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางศาสนากับโรมทันที และทรงจัดตั้งคริสตศาสนานิกาย Church of England ขึ้น โดยมีพระองค์ทรงเป็นประมุข คริสต์ศาสนาจึงแตกแยกเป็นหลายนิกายตั้งแต่นั้นมา
Martin Luther เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ปี 1483 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ที่เมือง Eisleben ในเยอรมนี บิดามีอาชีพเป็นชาวนา แต่ได้เปลี่ยนไปทำเหมือง และเป็นช่างโลหะ มารดาก็เป็นชาวนา ในวัยเด็ก Luther ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนที่เคร่งครัดศาสนามาก เมื่ออายุ 18 ปีได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัย Erfurt และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในอีก 4 ปีต่อมา แล้วไปศึกษาด้านกฎหมายตามความประสงค์ของบิดา ในเวลานั้น กาฬโรคกำลังระบาดหนักในยุโรป ทำให้มีผู้คนล้มตายจำนวนนับแสน แต่ Luther ไม่รู้สึกประหวั่น
เมื่ออายุ 24 ปี Luther ได้ออกบวชเป็น อาจารย์สอนศาสนา ตรรกวิทยาและฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Wiitenberg อีก 5 ปีต่อมาก็ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาเทววิทยา
Luther รู้สึกกังวลที่ไม่สามารถหาคำตอบเกี่ยวกับปัญหาที่สงสัยได้จากที่ใด นอกจากในคัมภีร์ไบเบิล ดังนั้นเมื่อต้องสอนวิชาศาสนาในปี 1513-1516 ก็ตระหนักว่า วิญญาณของคริสต์ศาสนิกชนทุกคนจะรอดพ้นจากนรกได้ โดยพระเมตตาของพระเจ้าเท่านั้น เพราะพระองค์ได้ทรงให้พระบุตร คือพระเยซูเสด็จมาถ่ายบาปให้ทุกคนแล้ว ด้วยการยินยอมถูกตรึงบนไม้กางเขน ไม่ใช่จากการซื้อ indulgence และเมื่อ Luther ได้พบเพิ่มเติมว่า ท่านอาร์คบิชอบ Albrecht แห่งเมือง Mainz และเมือง Magdeburg หลังจากที่ได้เงินจากการขาย indulgence แล้ว แทนที่เงินจะถูกส่งไปวาติกันเพื่อใช้ก่อสร้างมหาวิหาร St.Peter’s กลับนำเงินไปเปลื้องหนี้ที่เกิดจากการซื้อตำแหน่งอาร์คบิ-ชอบ การต่อสู้ของ Luther จึงรวมถึงการโจมตีความเหลวแหลกของการคอรัปชั่นในสมัยนั้นด้วย และยังได้โจมตีสันตะปาปาว่าทรงมีพระดำริเพี้ยนในหลายเรื่อง และทรงสอนคริสตธรรมผิด การกล่าวหานี้ทำให้ Luther เป็นบุคคลนอกรีต ในสายตาของฝ่ายวาติกัน
เมื่อวงการคริสตจักรเกิดการแตกแยกอย่างระส่ำระส่ายเช่นนี้ สถาบันโรมันแคทอลิคเองจึงต้องยอมรับว่าการปฏิรูปเป็นเรื่องจำเป็น ด้วยการลดอำนาจของสันตะปาปา ปรับปรุงเนื้อหาคำสอนในไบเบิล และได้ต่อสู้กับฝ่าย Protestant จนถึงปี 1648 ฝ่าย Protestant กับฝ่าย Catholic จึงได้ตกลงยอมรับว่าคนที่เลื่อมใสในทั้งสองนิกายจำเป็นต้องอยู่ร่วมโลกกัน อย่างไม่มีใครสามารถหนีใคร หรือกำจัดใครได้
Luther เสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1546 สิริอายุ 63 ปีที่เมือง Eisleben ที่เขาเคยใช้ชีวิตในวัยเด็ก เพราะที่นั่นอากาศหนาว สุขภาพของ Luther ในวัยชราจึงไม่ดี และได้ทำหน้าที่สวดมนตร์นำในโบสถ์เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ แต่สวดยังไม่จบก็ต้องหยุด เพราะรู้สึกเหนื่อยมาก เพื่อนบาทหลวงคนหนึ่งได้เอ่ยถาม Luther ก่อนสิ้นใจว่า ยังเชื่อในทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เทศน์หรือไม่ Luther ตอบ “Jawohl” (ครับ)
ศพของ Luther ถูกนำกลับไป Wittenberg โดยมีขุนนาง ทหาร และประชาชนจำนวนมากยืนเรียงรายต้อนรับและส่งตลอดทาง เพื่อนำไปฝังในโบสถ์อันเป็นสถานที่เมื่อ 29 ปีก่อน เขาได้นำประกาศประท้วงโรมไปตอกตาปูติดที่ประตู
ในขณะที่คริสตจักรกำลังแตกแยกทางความคิด วิทยาศาสตร์เองก็กำลังมีการปฏิวัติเช่นกัน เพราะในปี 1543 (ตรงกับรัชสมัยพระไชยราชาธิราช) Nicolaus Copernicus ได้นำเสนอตำรา On the Revolutions of the Celestial Spheres ที่อธิบายโครงสร้างของเอกภพว่ามีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง มิใช่โลก
อีก 45 ปีต่อมา Tycho Brahe ได้นำเสนอข้อมูลดาราศาสตร์ที่วัดและสังเกตได้ด้วยตาเปล่า (ในสมัยนั้นยังไม่มีกล้องโทรทรรศน์) ในตำรา Introduction to the New Astronomy จากนั้น Johannes Kepler ได้เสนอกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ในหนังสือ New Astronomy เมื่อปี 1609 (รัชสมัยพระเอกาทศรถ) แล้วติดตามมาด้วยการค้นพบทางดาราศาสตร์ของ Galileo Galilei การค้นพบว่าอากาศมีความดัน และธรรมชาติมีสุญญากาศโดย Blaise Pascal ในปี 1648 (รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง) และการพบกฎของแก๊สโดย Robert Boyle ในปี 1660 รวมถึงการตีพิมพ์ตำรา Principia ของ Isaac Newton ในปี 1687 ได้ปฏิรูปการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์อย่างสิ้นเชิง โดยนำโลกเข้าสู่ยุควิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง ด้วยการปฏิเสธความเชื่อเก่าๆ และผิดๆ ของปราชญ์โบราณ เช่น Aristotle ที่ว่าของหนักตกเร็วกว่าของเบา (ในความเป็นจริงของทั้งสองตกถึงพื้นพร้อมกัน ถ้าปล่อยจากที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน) เพราะวิทยาศาสตร์ใช้การทดลองเป็นเกณฑ์ในการตัดสินความเป็นจริงในธรรมชาติ (มิใช่ใช้วิธีนั่งเทียน)
คำถามที่นักประวัติศาสตร์ใคร่รู้ตอบ คือ ถ้า Martin Luther ไม่เริ่มการปฏิรูปศาสนา วิทยาศาสตร์จะมีการปฏิรูปหรือไม่ และเรา ณ วันนี้ แทนที่จะนั่งรถไฟความเร็วสูงกลับต้องนั่งเกวียน และขี่ม้าหรือไม่
ในปี 1938 Robert Merton นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ผู้คิดคำว่า role model (ต้นแบบ) และผลที่เกิดตามมาอย่างไม่คาดคิด (unanticipated consequence) ได้เขียนหนังสือชื่อ Science, Technology and Society in Seventeenth-Century England เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ไม่มีใครให้ความสนใจมาก
ถึงปัจจุบัน นักประวัติวิทยาศาสตร์ก็ยังถกเถียงกันมากว่า การปฏิรูปศาสนา ทำให้เกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ เพราะพวก Protestant สนใจความคิดทางโลกยิ่งกว่าพวก Catholic ดังนั้น การปฏิรูปศาสนาน่าจะทำให้วิทยาศาสตร์ถือกำเนิด
แต่ David Wootton ซึ่งได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ The Invention of Science ไม่คิดเช่นนั้น โดยให้เห็นผลว่า ทั้ง Copernicus, Galileo และ Pascal ล้วนเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่นับถือคริสต์ศาสนานิกาย Catholic ส่วน Brahe, Kepler ซึ่งเป็นชาว Protestant ก็ยังทำงานในตำแหน่งราชบัณฑิตที่ถวายงานต่อจักรพรรดิโรมันของชาวแคทอลิกซึ่งแสดงให้เห็นว่า ศาสนาและความเชื่อของปราชญ์เหล่านี้ มิได้ข้องเกี่ยวกับการทำงานวิทยาศาสตร์เลย นั่นคือ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังเชื่อในผลการทดลองมากกว่าที่จะเชื่อในคำสอนที่มาจากทางศาสนา เช่น Boyle ซึ่งเป็นชาว Protestant ยอมรับผลการทดลองของ Pascal ซึ่งเป็นชาว Catholoic ในการตั้งกฎของ Boyle นั่นแสดงว่า กฏวิทยาศาสตร์ไม่ขึ้นกับศาสนาของคนตั้ง
แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ในการตอบคำถามนี้ Wootton ได้ให้ข้อสังเกตว่า เทคโนโลยีการพิมพ์ของ Johannes Gutenberg คือสิ่งได้ทำให้ข้อมูลต่างๆ เป็นที่รู้กันในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนมีความคิดใหม่ๆ ที่สามารถตรวจสอบ และทดสอบได้ว่าจริงหรือเท็จโดยใช้เวลาไม่นาน
โดยสรุป การปฏิรูปศาสนากับการปฏิรูปวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระจากกัน และการเกิดในเวลาใกล้เคียงกันเป็นเรื่องบังเอิญ หาใช่อะไรเป็นสาเหตุและอะไรเป็นผลไม่
อ่านเพิ่มเติมจาก “Luther the Reformer” โดย James Kittelson จัดพิมพ์โดย Angsburg Fortress Publishing House, Minneapolis ปี 1986
เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์