xs
xsm
sm
md
lg

แนะวิธีส่งภาพประกวดถ่ายภาพดาราศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์


สำหรับการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ในปีนี้ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติจัดขึ้นเป็นปีที่ 11 โดยรูปแบบของการส่งภาพเข้าร่วมประกวดปีนี้เรา เปลี่ยนรูปแบบเป็นการส่งภาพทางออนไลน์แทนการส่งภาพทางไปรษณีย์ที่ต้องเสียทั้งเงินค่าอัดภาพและเสียเวลาในการส่ง โดยในคอลัมน์นี้เราจะมาตอบคำถามที่มักถามบ่อยๆ และข้อสงสัยต่างๆ ในการปรับแต่งหรือการใช้เทคนิคในการถ่ายภาพอย่างไรไม่ผิดกติกา รวมทั้งแนะนำเทคนิควิธีการส่งภาพเข้าร่วมประกวดกัน ดังนี้ครับ

คำถามที่มักถามบ่อยๆ
สำหรับคำถามที่ถูกถามบ่อยที่สุดนั้น ผมขออนุญาตเลือกมาจากคำถามยอดฮิตในแต่ละปี ว่าอะไรที่หลายคนยังสงสัยกันมากที่สุด ดังนี้ครับ

1. ส่งภาพได้กี่ภาพ กี่ประเภท ?
ตอบ = ส่งได้ไม่จำกัดจำนวน และส่งได้ทุกประเภท ***แต่จะได้รับรางวัลสูงสดของแต่ละประเภทเท่านั้น นั่นหมายถึงว่า คนหนึ่งสามารถจะได้รับรางวัลทุกประเภทหากภาพชนะใจกรรมการ

2. ภาพเก่าที่เคยส่งประกวดนำกลับมาส่งได้หรือไม่ ?
ตอบ = สามารถส่งภาพเดิมหรือภาพในอดีต ที่ยังไม่เคยได้รับรางวัลจากทางสถาบันฯ ได้ ***นอกจากนั้นภาพที่เคยได้รางวัลจากที่อื่น แต่ยังไม่เคยได้รับรางวัลจากทางสถาบันฯ ก็สามารถส่งประกวดได้

3. ภาพที่ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกล (Robotic Telescope) ของสถาบันฯ สามารถส่งประกวดได้หรือไม่ ?
ตอบ = ไม่ได้ เนื่องจากการติดตั้งกล้องและอุปกรณ์ต่างๆ เป็นของสถาบันฯ ผู้ถ่ายแค่เพียงสั่งถ่ายภาพแล้วนำภาพมาโปรเซสภาพเท่านั้นถือว่าผิดถูกกติกา

4. ภาพที่ถ่ายด้วยอุปกรณ์หรือกล้องโทรทรรศน์จากหอดูดาวภูมิภาค หรือหอดูดาวอื่นๆ ส่งประกวดได้หรือไม่ ?
ตอบ = ได้ ***แต่ต้องเป็นการขอใช้งานอุปกรณ์ที่ต้องทำการติดตั้ง การทำ Polar Alignment หรือตั้งค่าต่างๆ ในการถ่ายภาพด้วยตัวเองเท่านั้น หากเป็นเพียงการนำเอาเพียงกล้องถ่ายภาพไปเชื่อมต่อเพื่อถ่ายภาพ โดยไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์เอง ถือว่าผิดกติกา

5. ภาพที่ถ่ายจากกล้องโทรศัพท์มือถือสามารถส่งประกวดได้หรือไม่ ?
ตอบ = ได้

6. ภาพที่ถ่ายจากต่างประเทศส่งประกวดได้หรือไม่ ?
ตอบ = ได้ เนื่องจากภาพบางประเภทเช่น ปรากฏการณ์สุริยุปราคา ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยทุกๆปี หรือภาพแสงออโรราก็สามารถส่งประกวดได้ซึ่งก็ไม่ได้เกิดในประเทศไทยเช่นกัน

7. ภาพถ่ายจากบนเครื่องบิน หรือนอกอวกาศส่งประกวดได้หรือไม่ ?
ตอบ = ได้ เนื่องจากมีภาพหลายปรากฏการณ์ หรือหลายประเภทที่สามารถถ่ายได้จากมุมสูงหรือบนเครื่องบิน

8. สามารถนำภาพถ่ายมาซ้อนกันได้หรือไม่ ?
ตอบ = หากเป็นภาพแบบตัดแปะ คือ การถ่ายภาพมาต่างสถานที่ ต่างทิศ ต่างเวลา หรือใช้ทางยาวโฟกัสที่ต่างกัน แล้วนำมาซ้อนทับกัน ซึ่งทำให้เกิดความไม่ถูกต้องตามหลักการทางดาราศาสตร์หรือภาพเกินจริง ถือว่า “ผิดกติกา”

แต่ หากเป็นเทคนิคการถ่ายภาพด้วยเทคนิคหรือกระบวนการทางดาราศาสตร์เพื่อให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูงขึ้น หรือเพื่อให้ได้รายละเอียดของภาพที่ดีขึ้น เช่น การรวมภาพด้วยวิธีการ Stacking การถ่ายภาพแบบ HDR หรือวิธีการอื่นๆ ที่ยังคงความถูกต้องทางหลักการทางดาราศาสตร์ถือว่า “ไม่ผิดกติกา”

การส่งภาพประกวดทางระบบออนไลน์
1. ผู้ส่งภาพจำเป็นต้องมี Gmail เพื่อเข้าระบบส่งภาพออนไลน์ด้วย Google Form (หากยังไม่มีสามารถสมัคร Gmail ได้ตามลิงก์ https://goo.gl/qztCeC)

2. ลงทะเบียนส่งภาพออนไลน์ทางหน้าเว็บไซต์สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ http://www.narit.or.th หรือ ทางลิงก์นี้ได้เลย https://goo.gl/86drTn

ตัวอย่างการลงทะเบียน
1. กรอกอีเมลล์ และชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์

2. เลือกประเภทภาพถ่าย (ตรงนี้หากเลือกผิดเจ้าหน้าที่จะจัดประเภทให้ถูกต้องให้อีกครั้ง)
3. อัพโหลดภาพถ่าย “ให้เลือกอัพโหลดภาพที่มีความละเอียดสูงสุด” ในรูปแบบไฟล์ JPEG. ความละเอียดของภาพมีผลต่อการพิจารณา โดยสามารถอัพโหลดได้ครั้งละ 1 ภาพ
4. กรอกรายละเอียดข้อมูลภาพให้ครบถ้วน
5. เช็ค “ยอมรับ” เงื่อนไขการส่งภาพเข้าร่วมประกวด

5. สุดท้ายหลังจากคลิ๊กส่งภาพ จะปรากฏหน้าข้อความดังภาพด่านล่าง เป็นอันเสร็จสมบูรณ์

เราจะได้รับอีเมล์ตอบกลับ ซึ่งจะแสดงรายะเอียดต่างๆที่เรากรอกลงทะเบียนส่งภาพเข้าร่วมประกวดถือเป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอน โดยหากเราต้องการส่งภาพหลายๆ ภาพก็ทำตามขั้นตอนเดิมได้

ภาพแบบไหนไม่ผิดกติกา
คำถามที่มักถามเป็นประจำทุกปี ว่าแต่งภาพแบบไหนไม่ผิดกติกา แล้วแต่งภาพได้มากน้อยแค่ไหน ซ้อนภาพได้มั้ย หรือถ่ายภาพอย่างไรไม่ผิดกติกาขออนุญาตอธิบายเป็นข้อๆ และยกตัวอย่างประกอบดังนี้

ภาพที่ผิดกติกา
1. ภาพที่ไม่ใช้ผลงานของตนเอง (ผิดกติกา)

2. ภาพที่นำไฟล์ภาพจากแหล่งอื่น บุคคลอื่น มาทำการโปรเซสเอง (ผิดกติกา) ตัวอย่างเช่น ภาพจากกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกล (Robotic Telescope)

3. ภาพที่ถ่ายมาต่างสถานที่ ต่างเวลา แล้วนำมาซ้อนกัน (ผิดกติกา) ตัวอย่างเช่น ภาพตัดแปะ ยกเว้นภาพประเภท Deep Sky Objects

4. ภาพที่ถ่ายด้วยทางยาวโฟกัสต่างกัน แล้วนำมาซ้อนกัน (ผิดกติกา)

ตัวอย่างภาพที่เกิดจากการถ่ายภาพและการใช้เทคนิคการประมวลผลภาพที่ยังคงแสดงถึงหลักการทางดาราศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ โดยไม่ผิดกติกา ดังตัวอย่างด้านล่าง
 ตัวอย่างการถ่ายภาพประเภท Deep Sky Object ที่ต้องถ่ายภาพทั้ง Light Frame, Dark Frame, Flat Field และยังต้องนำภาพต่างมาประมวลผลอีกมากมาย
 ตัวอย่างภาพถ่าบปรากฏการร์ฝนดาวตก ที่ถ่ายภาพแบบต่อเนื่องในตำแหน่งเดียวกันแล้วนำภาพจำนวนหลายร้อยภาพมารวมกัน เพื่อให้ได้ภาพฝนดาวตกที่มีศูนย์กลางการกระจายตัวที่ชัดเจน
 ตัวอย่างภาพถ่ายทางช้างเผือกแบบตามดาว โดยถ่ายภาพมา 2 ภาพ ภาพแรกเป็นภาพที่กล้องถ่ายเก็บฉากหน้านิ่งอยู่กับที่ และภาพที่ 2 เป็นภาพที่ถ่ายแนวทางช้างเผือกแบบตามดาว แล้วนำภาพทั้งคู่มารวมกันใน Photoshop เพื่อให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดมากขึ้น
ตัวอย่างภาพถ่ายทางช้างเผือกแบบพาโนรามา โดยการถ่ายภาพมาทั้งหมดกว่า 20 ภาพ แล้วนำภาพทั้งหมดมาต่อกันใน Photoshop เพื่อเก็บท้องฟ้ามุมกว้าง
ตัวอย่างภาพถ่ายด้วยเทคนิค HDR โดยถ่ายภาพในค่าแสงที่แตกต่างกัน แล้วนำภาพทั้งหมดมารวมกันเพื่อให้ได้รายละเอียดทั้งส่วนมืดและส่วนสว่างในภาพเดียวกัน
 ตัวอย่างการถ่ายภาพฟ้าผ่า โดยการถ่ายภาพฟ้าผ่าแบบต่อเนื่องหลายๆชั่วโมงในสถานที่และตำแหน่งเดียวกัน และวันเดียวกัน จากนั้นนำภาพมารวมกันเพื่อให้ได้ภาพเส้นสายฟ้าที่เด่นชัดมากขึ้น
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นเพียงการแนะนำเพื่อให้เข้าใจกติกาของการถ่ายภาพและการส่งภาพเข้าประกวด ซึ่งน่าจะทำให้พอเข้าใจถึงรูปแบบการถ่าบภาพอย่างไร และสามารถใช้เทคนิคอะไรได้บ้างซึ่งเปิดกว้างให้นักถ่ายภาพทุกท่านสามารถนำมาใช้ได้โดยยังคงหลักการและความถูกต้องทางดาราศาสตร์ โดยในปีนี้รูปแบบการส่งภาพก็จะช่วยอำนวยความสะดวกสะดวกรวดเร็วในการส่งภาพเข้าประกวด และประหยัดค่าใช้จ่ายแถมยังคงสามารถส่งภาพเข้าร่วมประกวดได้จนถึงวินาทีสุดท้าย

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน



กำลังโหลดความคิดเห็น