ในอดีตเกราะกันกระสุนใช้วัสดุหลักเป็นโลหะ ซึ่งมีน้ำหนักมากและเป็นอุปสรรคต่อเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ต่อมาจึงมีการพัฒนาเกราะกันกระสุนโดยใช้วัสดุเป็นเซรามิก แม้เกราะกันกระสุนจากเซรามิกจะมีน้ำหนักเบาเมื่อเมื่อเทียบกับเหล็กแต่ก็ยังมีน้ำหนักมากอยู่ เมื่อได้รับแรงปะทะจากกระสุน ส่วนที่เป็นเซรามิกจะแตกออกหรือมีรอยร้าว ซึ่งเป็นอันตรายทั้งต่อตัวผู้ใส่และผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
จากการการสนับสนุนของโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นางสาวมนัญญา โอฆวิไลและ ศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ริมดุสิต ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้พัฒนาเกราะกันกระสุนสมรรนะสูง ประเภทพอลิเมอร์คอมพอสิทจากเมตริกประเภทเบนซอกซาซีนอัลลอย เสริมแรงด้วยเส้นใยชนิดต่างๆ ให้มีความสามารถในการป้องกันการเจาะทะลุในระดับ 3 จาก 4 ระดับ (หัวกระสุนขนาด 7.62x51 มิลลิเมตร ความเร็วของหัวกระสุน 847 เมตร/วินาที) หรือว่าสูงกว่า ซึ่งเป็นระดับของอาวุธสงครามโดยยังคงรักษาโครงสร้างโดยรวมของเกราะกันกระสุนไว้ได้
“เกราะแข็งกันกระสุนได้รับการพัฒนาและออกแบบให้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนที่ทำหน้าที่ต่างกันคือ แผ่นหน้า ที่ทำหน้าที่ทำลายหัวกระสุนและลดพลังงานปะทะขีปนะผลิตจากพอลิเบนซอกซาซีนที่เสริมแรงด้วยใยแก้วชนิดพิเศษ และแผ่นดูดซับพลังงาน ทำหน้าที่ดูดซับและสลายพลังงานปะทะ และจับเศษกระสุนทั้งหมดไว้”
เกราะแข็งกันกระสุนผลิตจากพอลิเบนซอกซาซีน-ยูรีเทนที่มีความยืดหยุ่นสูงในการเสริมแรงด้วยเส้นใยอะรามิด จากการทดสอบความสามารถในการต้านทานการเจาะทะลวงด้วยกระสุนจริงขนาด 7.62x51 มม. ความเร็ว 847±9.1 เมตร/วินาที ตามมาตรฐาน NIJ โดยทดสอบการยิงที่โรงงานวัตถุทหาร จังหวัดนครสวรรค์
“กระบวนการขึ้นรูปเกราะ เริ่มจากการสังเคราะห์สารพอลีเบนซอกซาซีนและพอลีเบนซอกซาซีน-ยูรีเทนในห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้เป็นกาวประสาน เนื่องจากพอลิเมอร์เบนซอกซาซีนมีสมถรรถนะทางกลในแง่ของความยืดหยุ่นและสมถรรนะทางความร้อนที่มากกว่าพอลิเมอร์ตัวอื่นๆอย่างชัดเจน จากนั้นนำเส้นใยสมรรถนะสูงไปเคลือบด้วยกาวประสาน และนำไปขึ้นรูปด้วยเครื่องคอมเพรสชันโฮลเดอร์ (Compression holder)”
นางสาวมนัญญากล่าวว่า จากผลการทดสอบในสภาวะที่ปกติและสภาวะเปียกชื้นด้วยการพรมน้ำเข้าไปที่เพื่อดูประสิทธิภาพในการเจาะทะลุ พบว่าแผ่นเกราะกันกระสุนต้นแบบจากงานวิจัย ขนาด 25x30 ตารางเซ็นติเมตร สามารถป้องกันการเจาะทะลุจากกระสุนดังกล่าวได้สูงสุด 6 นัด และมีรอยยุบของดินทดสอบซึ่งใช้แทนตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานคือแต่ละนัดไม่เกิน 44 มิลลิเมตร เพราะถ้าหากมีรอยยุบที่ดินมากกว่า 44 มิลลิเมตรจะก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะภายในของเจ้าหน้าที่ได้
“เกราะกันกระสุนที่คณะวิจัยพัฒนาได้นั้นมีความเหมาะสมในการนำไปใช้งานจริง เนื่องจากแผ่นเกราะมีความหนาน้อยลงมาก โดยหนา 27.3 มิลลิเมตร และมีน้ำหนักเบาลง มีน้ำหนักเกราะรวมทั้งชุดไม่เกิน 6.5 กิโลเมตร และมีต้นทุนวัสดุเพียง 14,000 บาท เมื่อเทียบกับที่ต้องนำเข้าในราคาโดยมีราคาจัดซื้อประมาณตัวละ 29,000 บาท”
นางสาวมนัญญากล่าวอีกว่าเกราะกันกระสุนจากพอลิเบนซอกซาซีนมีข้อดีตรงที่น้ำหนักเบา ราคาถูก สามารถทดแทนการใช้วัสดุเซรามิก และสามารถทำลายกระสุนจนแตกออกเป็นชิ้นๆ ได้ สามารถลดข้อจำกัดในการรับแรงปะทะพร้อมกันของกระสุนหลายๆ นัดได้ ต่างจากเกราะแบบทั่วไปที่ทำจากเซรามิกที่สามารถทำได้แค่ให้หัวกระสุนผิดรูปเท่านั้น และมีข้อจำกัดจากการรับแรงปะทะที่น้อยลงจากโดนกระสุนหลายๆ นัด หรือมีความเสี่ยงสูงที่ชิ้นงานเซรามิกของเกราะจะทะลุ ซึ่งองค์ความรู้จากงานวิจัยสามารถนำไปทำเป็นบังเกอร์หรือเป็นรถหุ้มเกราะได้ ในขั้นต่อไปจะพัฒนาเกราะให้มีสมถรรถนะสูงขึ้นตามอาวุธที่ถูกพัฒนาขึ้นด้วย