xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งโจทย์ให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สกว.-สกอ.เปิดเวทีปฐมนิเทศอาจารย์และนักวิจัยรุ่น ย้ำมหาวิทยาลัยและบุคลากรวิจัยต้องปรับตัวตามภาพอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและตลาดแรงงาน ยุทธศาสตร์ชาติและนโยบาย 4.0 มุ่งสู่การแก้ปัญหาและวิกฤติของประเทศบนฐานความรู้โดยเฉพาะการต่อยอดในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้หลุดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานการประชุม “การปฐมนิเทศผู้รับทุนพัฒนาศักยภาพในการทำวานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่และทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ ประจำปี 2561” เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อชี้แจงนโยบายของ สกว. และทิศทางของอุดมศึกษาไทยในอนาคต รวมถึงการให้ทุนรูปแบบใหม่ของฝ่ายวิชาการ สกว. และการบริหารจัดการทุนวิจัย ตลอดจนชี้แจงระเบียบการเงินและบัญชีและการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้รับทุนจำนวน 307 คน

ผู้อำนวยการ สกว. ระบุว่ายุทธศาสตร์ใหม่ของ สกว. ที่สำคัญประการหนึ่งคือ ต้องการสร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบการวิจัยเชิงบูรณาการและประเด็นวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เราจึงต้องการนักวิจัยสาขามนุษยศาสตร์และส้งคมศาสตร์มากขึ้นเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาตามโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ขอให้นักวิจัยมุ่งทำงานวิจัยที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น

ในโอกาสนี้ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล่าวระหว่างการบรรยายเรื่อง “สกอ.กับนโยบายการให้ทุนอาจารย์รุ่นใหม่” ว่าโจทย์สำคัญของการทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้พื้นฐานในปัจจุบัน คือ การต่อยอดสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุดมศึกษาไทย ได้แก่ ภาพอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงประชากรสู่สังคมสูงวัย เยาวชน นักศึกษา และบัณฑิตในอนาคต การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน การปรับตัวเข้ากับยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ เป็นต้น ซึ่งในอีก 4-5 ปีข้างหน้า จะส่งผลต่อการปรับตัวของมหาวิทยาลัยไทยที่จะต้องถูกบีบให้ทำวิจัยและทำงานบริการวิชาการ ลงภาคสนามมากขึ้น เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมและสังคม นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาและวิกฤติของประเทศ โดยการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปช่วยชี้แนะแนวทางเพื่อการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศ

สำหรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกล่าสุดปรากฏว่าอันดับ 1 คือ ฮ่องกง ส่วนไทยนั้นอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน ตามหลังประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศให้การสนับสนุนและลงทุนด้านการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไทยมีการสนับสนุนขึ้น ๆ ลง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนทิศทางของอุดมศึกษาไทยในอนาคตนั้น มุ่งการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพสนองความต้องการของตลาด โดยเฉพาะระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกต้องการมากที่สุด ดังนั้นอาจารย์จะต้องมีความหลากหลาย ยืดหยุ่น รู้หลายศาสตร์ เปิดกว้าง หลักสูตรต้องเน้นนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเป็นหลัก นอกจากนี้ยังเน้นการพัฒนาศักยภาพของคนทั้งประเทศ โดยเน้นเป้าหมายใหม่คือ คนวัยทำงานและผู้สูงวัย ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไป อาจารย์และนักวิจัยจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อสร้างความรู้ที่ทันสมัย เพื่อมุ่งนำประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีรายได้ประชาชาติอยุ่ที่ 12,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ภายในปี 2030 และหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง “สกอ.กับนักวิจัยรุ่นใหม่จากนี้ไปเราต้องการผลิตบุคลากรด้านวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา ที่มีศักยภาพในการทำงานวิจัยและพัฒนางานวิจัยในระดับที่สูงขึ้น และผลงานวจัยที่ได้จากโครงการสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศในระยะยาวต่อไป”




กำลังโหลดความคิดเห็น