รัฐมนตรีกระทรวงวิทย์ฯ เปิดโครงการ Kidbright และ Fab Lab
พัฒนาต่อยอดความคิดสร้างสรรค์และเสริมทักษะการเป็นนวัตกรของเยาวชนไทย ขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ Coding at School เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรในเด็กและเยาวขนไทย พร้อมชมนิทรรศการผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ผ่านบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright และตัวอย่างอุปกรณ์จากโครงการ Fabrication Lab เพื่อเสริมทักษะความเป็นนวัตกรของเด็กและเยาวชนไทย สู่การเป็น Makers Nation ขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะผู้บริหาร สวทช. ให้การต้อนรับ
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับมอบนโยบายจากรัฐบาลโดยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อก้าวเข้าสู่ “ประเทศไทย 4.0” ที่เน้นคุณค่า (Value-Based Economy) และการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) นั้น การเตรียมกำลังคนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งให้คนไทยมีความคิดอ่านแบบวิทยาศาสตร์ หรือวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) นั้น สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างกลไกนี้คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
"ทั้งนี้ ต้องการการสนับสนุนและความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันครอบครัว ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย ให้มีทักษะความรู้ความสามารถให้ทันกับโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะการพัฒนาความสามารถด้าน STEM ไปสู่อาชีพที่ตลาดต้องการและผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในประเทศ อีกทั้งเป็นการสร้างโอกาสในการเป็น Makers Nation เพื่อต่อยอดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย วทน. รวมถึงสังคมดิจิทัลที่มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก”
เพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ประสบความสำเร็จ ดร.สุวิทย์ระบุว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินโครงการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือ Big Rock Project โครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อภาคสังคม ตามแนวทาง “วิทย์สร้างคน” พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ สวทช. ดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย โครงการ Coding at School Powered by KidBright และโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรให้กับเด็กและเยาวชนไทย
"สอดคล้องกับนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาและเรียนรู้ โดยจัดให้มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมได้แก่ 1. การให้ความสำคัญทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษาทางเลือกไปพร้อมกัน 2. การสนับสนุนให้เยาวชนไทยได้สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ 3. การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม โดยส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของไทยตามความเหมาะสม 4. การพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้ประกอบการทางเทคโนโลยี โดยการส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการออกแบบและวิศวกรรมได้
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวว่า สวทช. มีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรให้กับเด็กและเยาวชนไทย ภายใต้นโยบาย “วิทย์สร้างคน” ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นการวางรากฐานและปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาด้วยการกระจายองค์ความรู้ให้เข้าถึงได้ โดยเฉพาะโรงเรียนภูมิภาคและโรงเรียนด้อยโอกาส อันจะเป็นรากฐานของการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะนำประเทศไปสู่การพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ประกอบด้วย
1. โครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน “Coding at School Project” ด้วยบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright ดำเนินการโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากำลังคนด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน ยกระดับความสามารถของเด็กไทยสู่ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคและระดับสากล ถ่ายทอดองค์ความรู้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กับเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นโดยเฉพาะโรงเรียนในภูมิภาคและโรงเรียนด้อยโอกาส และสร้างบุคลากรด้านการศึกษาให้มีความเชี่ยวชาญในการสอนแนวใหม่อย่าง STEM (Science Technology Engineering Mathematics) Education
"นักวิจัยจาก เนคเทค-สวทช. ได้คิดค้นวิจัยและพัฒนาบอร์ดส่งเสริมการเรียนโปรแกรมมิ่ง หรือ KidBright ซึ่งเป็นบอร์ดสมองกลฝังตัวที่สามารถทำงานตามชุดคำสั่งโดยผู้เรียนสามารถสร้างชุดคำสั่งผ่านโปรแกรม KidBright ที่ใช้งานง่าย เพียงใช้การลากบล็อกคำสั่งมาวาง (drag and drop) ช่วยให้ผู้เรียนมุ่งเน้นไปที่กระบวนการคิดมากกว่าการแก้ปัญหาเรื่องการพิมพ์ชุดคำสั่งผิด เหมาะสมสำหรับเป็นเครื่องมือช่วยสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น"
เนคเทค-สวทช. จะจัดทำบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright จำนวน 200,000 ชุด แจกจ่ายให้โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในสังกัดของรัฐ ประมาณ 1,000 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อให้มีโอกาสใช้ในการเรียนรู้และฝึกทักษะ โดยจัดมีกิจกรรมอบรมวิทยากรแกนนำ (Train-the-trainers) จำนวน 500 คน เพื่อไปถ่ายทอดขยายผลการเรียนรู้สู่ทั้ง 1,000 โรงเรียน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมประกวดโครงงานเพื่อส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์ใช้งานบอร์ด KidBright และคาดว่าจะมีผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 3,000 โครงงานจากทั่วประเทศ
2. โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ Fabrication Lab (Fab Lab) ในโรงเรียนเพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรให้กับเด็กและเยาวชนไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ด้าน STEM โดยจัดให้สถานศึกษาทั้งโรงเรียนมัธยมศึกษา และวิทยาลัยเทคนิค และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิศวกรรม ดิจิทัล และเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์
"รวมถึงมีการพัฒนากิจกรรมสำหรับนักเรียนและครูให้มีความคิดสร้างสรรค์ ฝึกทักษะด้านวิศวกรรม และสามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี ที่ได้เรียนจากชั้นเรียน และการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม มาออกแบบ ทดลอง และสร้างเป็นชิ้นงานได้ เพื่อให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจ และสนใจที่จะมีอาชีพเป็นวิศวกรหรือนวัตกรในอนาคต โดยมีบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. เป็นศูนย์กลางการอบรมครูและนักเรียนจากทั่วประเทศ”
การจัดอบรมดังกล่าวยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเครือข่าย 10 แห่ง ร่วมเป็นพี่เลี้ยงในการจัดหาวิศวกรประจำ Fab Lab และจัดกิจกรรม ให้แก่ครูและนักเรียน ณ สถานศึกษา และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ที่มีความพร้อมและมีความสนใจ จากทุกภูมิภาคจำนวน 150 แห่ง และมีเป้าหมายในการขยายผลการจัดทำโครงการนี้ในสถานศึกษาทั้งประเทศ
ดร.สุวิทย์กล่าวว่าทั้งสองโครงการดังกล่าวนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ความเป็นนวัตกร ตลอดจนส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยกระดับความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศสู่ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคและระดับสากลได้อย่างยั่งยืน (วิทย์สร้างคน)
"นอกจากนี้ ยังสร้างความทัดเทียมและลดความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาด้วยการกระจายองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการเรียนการสอนให้กับเยาวชนระดับมัธยมศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนในภูมิภาคและโรงเรียนด้อยโอกาส โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพิ่มความเชี่ยวชาญให้กับบุคลากรผู้ฝึกสอน ผ่านการสอนในรูปแบบสะเต็มศึกษา โดยเป็นการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม”
อีกทั้งยังส่งเสริมการขยายผลการนำสื่อการเรียนการสอนที่มาจากงานวิจัยไทยไปใช้อย่างแพร่หลาย ก่อให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ผลิตบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์และห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน