ในสมัยก่อนเวลาใครต้องการเงินมากอย่างเร่งด่วน เขาใช้วิธีปล้นธนาคาร เพราะที่นั่นเป็นสถานที่เก็บเงินของทุกคน แต่เมื่อถึงวันนี้ โจรอาจใช้วิธีปล้นวัตถุในพิพิธภัณฑ์แทน เพราะเป็นสถานที่เก็บสะสมศิลปะวัตถุที่มีค่าควรเมืองจำนวนมากมาย และถ้าวัตถุมีขนาดเล็ก โจรก็อาจซุกซ่อนไปในกระเป๋าเอกสาร แล้วเดินหนีไป โดยภัณฑารักษ์ไม่ทันรู้ตัว (แต่ก็รอดยาก เพราะพิพิธภัณฑ์ปัจจุบันมีระบบกล้องวงจรปิดที่เปิดทำงานตลอดเวลา)
ด้วยเหตุนี้ภาพวาดของ Pablo Picasso, Leonardo da Vinci และ Vincent van Gogh ที่มีค่ามหาศาลมากกว่าเครื่องบินจัมโบ 747 จึงต้องมีหน่วยรักษาความปลอดภัยหรือยาม เพื่อพิทักษ์และป้องกันการสูญหาย
แต่ถึงจะระมัดระวังสักปานใด ภาพก็มีโอกาสถูกขโมยอยู่ดี ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.2004 ขณะเวลา 11.10น. ที่พิพิธภัณฑ์ National Gallery ในกรุง Oslo ได้มีโจรสองคนมีถุงคลุมศีรษะ ได้ลอบกระชากภาพ The Scream กับภาพ Madonna ที่วาดโดย Edvard Munch ไปอย่างอุกอาจ
การสูญเสียภาพ The Scream มูลค่าราว 4,000 ล้านบาท (ราคาปี 2012) ทำให้ชาวนอร์เวย์ทุกคนรู้สึกสะเทือนใจและปวดร้าวใจมาก จนถึงกับประกาศอยากจะกรีดร้องออกมาเหมือนกับการหวีดร้องของคนในภาพ
เมื่อภาพถูกขโมย พิพิธภัณฑ์จึงได้ปิดทำการเป็นเวลา 9 เดือน เพื่อปรับปรุงและติดตั้งระบบความปลอดภัยใหม่
Edvard Munch เกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1863 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ที่เมือง Leuten ซึ่งอยู่ในนอร์เวย์ทางตอนใต้ ชีวิตของ Munch ตั้งแต่วัยเด็กต้องประสบแต่การสูญเสีย เช่น เมื่ออายุ 5 ขวบได้กำพร้ามารดาที่จากไปเพราะวัณโรค อีก 9 ปีต่อมาพี่สาวที่ Munch รักมากก็ตายจากไปอีกคนหนึ่ง การมีสุขภาพอ่อนแอ และแม้แต่บิดาที่เขาอยู่ด้วยก็เป็นคนมีอารมณ์แปรปรวน ได้สร้างความกดดันต่อจิตใจของ Munch ให้มีแต่ความทุกข์และความเศร้า
เมื่ออายุ 17 ปี Munch ได้เข้าเรียนศิลปะที่สถาบัน Oslo School of Art and Handicraft เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้ทำงานที่สตูดิโอของ Christian Kragh และเริ่มวาดภาพตามสไตล์ของจิตรกรฝรั่งเศสชื่อ Gustave Courbet กับ Edouard Manet คือ แนว impressionism
ในเวลานั้น ศิลปะสไตล์ Impressionism เป็นการวาดที่แสดงอารมณ์ครั้งแรกซึ่งตราตรึงและมีคุณค่าต่อจิตใจ ให้จิตรกรแสดงความรู้สึกโดยใช้แสงและสีตามที่ตาเห็นอย่างไม่คำนึงถึงรายละเอียดตามความเป็นจริง Munch จึงเดินทางไปปารีสในฝรั่งเศสเพื่อฝึกวาดภาพแนวนี้ ตามจิตรกร Vincent van Gogh, Paul Gauguin และ Toulouse Lautrec เมื่อเสร็จการฝึกงานได้เดินทางไปท่องเที่ยวในอิตาลี และเยอรมนีก่อนกลับบ้านเกิด
ถึงปี 1892 Munch ได้รับเชิญให้นำผลงานไปแสดงที่หอศิลป์ Kunstler ในกรุงเบอร์ลิน แต่คนที่เข้าชมภาพไม่พอใจ เพราะบางภาพของ Munch เป็นภาพ “อุจาด” ทำให้งานแสดงต้องปิดก่อนกำหนดในที่สุด
เมื่อกลับถึงบ้าน Munch เริ่มสนใจปรัชญาชีวิตที่เกี่ยวกับความรักและความตายจน มีความคิดว่า จิตรกรกับนักประพันธ์ต่างก็เป็นศิลปินที่ก็มุ่งแสดงความเห็น และความรู้สึกโดยใช้ภาพวาดและตัวอักษร ในการบอกวิธีต่อสู้ของผู้คนในยามต้องเผชิญกับความรัก และความตาย
เมื่ออายุ 45 ปี Munch มีอาการป่วยทางจิตใจ และติดสุราจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประสาท แต่ยังวาดภาพต่อไป จนทำให้เป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของนอร์เวย์
Munch ได้จากโลกไปในเดือนมกราคม ค.ศ.1944 สิริอายุ 80 ปีให้โลก ณ วันนี้ได้ระลึกถึงในฐานะจิตรกรผู้วาดภาพด้วยสีเข้ม และลายเส้นที่แสดงอารมณ์รุนแรงและความเครียดอันเกิดจากการถูกกดดัน จนทำให้เราเข้าใจประสบการณ์และความรู้สึกลึกๆ ของมนุษย์สมัยใหม่
ดังภาพ The Scream ที่โด่งดัง ซึ่งเป็นภาพชายคนหนึ่งที่ยืนอยู่ข้างสะพานบนถนนและกำลังส่งเสียงหวีดร้องออกมาอย่างโหยหวน ภายใต้ท้องฟ้าที่มีสีแดงเหมือนสีเลือด ลักษณะการใช้มือทั้งสองข้างแนบที่แก้มของคนหวีด แสดงการมีอารมณ์ที่ได้บีบคั้นความรู้สึกของทุกคนที่ได้ดูภาพนั้นอย่างไม่มีวันลืม
หลังจากที่ภาพถูกขโมยหายไปนานร่วม 2 ปี กองตำรวจแห่งชาติของนอร์เวย์ก็ประกาศว่า ทางพิพิธภัณฑ์ได้ภาพ The Scream กับภาพ Madonna กลับคืนแล้วในสภาพดีที่เกือบสมบูรณ์ เพราะมีรอยบอบช้ำเล็กน้อย ซึ่งก็ได้รับการบูรณะจนเรียบร้อย
ณ วันนี้ภาพ The Scream ของ Munch เป็นภาพที่คนทั้งโลกรู้จัก ถึงจะไม่มากเท่า Mona Lisa ของ da Vinci แต่ก็ดีพอๆ กับรูปปั้น The Thinker ของ Rodin และได้ทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายคนสนใจจะรู้ว่าอะไรเป็นแรงดลใจให้ Munch วาดภาพที่แสดงออกซึ่งความเครียดและความกังวลที่เป็นคลาสสิคนี้ บางคนคิดว่า Munch คงวาดจากจินตนาการที่เป็นผลของความรู้สึกลึกๆ ในใจ แต่หลายคนก็คิดว่า Munch คงได้เห็นท้องฟ้าเป็นสีเลือดจริง จึงวาดภาพจากประสบการณ์จริง และถ้าสมมติฐานหลังนี้เป็นความจริง คำถามต่อมาคือ Munch วาดภาพนี้เมื่อไร ขณะยืนอยู่ ณ ที่ใด ฯลฯ
ในการอ่านคำให้สัมภาษณ์ที่ Munch ให้แก่นักหนังสือพิมพ์ในเมือง Christiania Munch เล่าว่า ขณะเขาและเพื่อนสองคนกำลังเดินอยู่บนถนนเลียบภูเขาใกล้เมือง Christiania (ปัจจุบันคือ Oslo) ในเวลาเย็นวันหนึ่ง เขาได้เห็นท้องฟ้าเป็นสีเลือด เมฆก็ดูเป็นสีเหลืองจ้า และแดงคล้ำ เพื่อนทั้งสองได้รีบเดินกลับบ้าน แต่ Munch ก็ยังยืนอยู่คนเดียวบนถนนที่มีรั้วกั้น และรู้สึกกังวลกลัว จนอยากจะร้องตะโกนออกมา เพราะบรรยากาศโดยรอบน่ากลัวมาก และเมื่อหันไปดูเนินเขาที่อยู่เบื้องหน้ากับดูน้ำในฟยอร์ด (fjord) ที่ได้เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้มแล้ว ก็ยิ่งรู้สึกเครียดจัด
ข้อมูลเหล่านี้มีส่วนช่วยให้โลกรู้วันที่ Munch ได้รับแรงดลใจในการวาดภาพ The Scream เพราะนักประวัติศาสตร์ศิลปะได้รู้ในเวลาต่อมาว่า ภาพท้องฟ้าสีแดงเลือดนั้น อาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 1883 กับต้นปี 1884 เพราะภูเขาไฟ Krakatoa ในประเทศ Indonesia ได้ระเบิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ.1883 และได้พ่นเถ้าถ่าน ฝุ่นละอองขึ้นไปในบรรยากาศ ทำให้คนทั่วโลกเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตกเป็นสีแดงจัด โดยคนที่อยู่ทางซีกโลกใต้จะเห็นท้องฟ้าเป็นสีแดงก่อน แล้วคนที่อาศัยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรก็จะเห็นในเวลาต่อมา และในที่สุดคนที่อยู่ในแถบเหนือของโลกก็จะเห็นเป็นกลุ่มสุดท้าย
การติดตามอ่านรายงานสภาพดินฟ้าอากาศในหนังสือพิมพ์โดย Donald W. Olson แห่งภาควิชาฟิสิกส์มหาวิทยาลัย Texas State กับคณะได้พบว่า หนังสือพิมพ์ The New York Times ได้เสนอรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ.1883 ขณะเวลาเช้า 5 นาฬิกา ท้องฟ้าทางทิศตะวันตกของนคร New York ได้เปลี่ยนเป็นสีม่วงแดง สีที่ร้อนแรงนี้ทำให้ประชาชนทั่วไปตกใจกลัว หลายคนคิดว่า คงมีเหตุการณ์ไฟไหม้ แล้วเมฆก็ค่อยๆ กลายเป็นสีแดงเลือดบ้าง
วารสาร Nature ของอังกฤษก็มีรายงานสีของท้องฟ้ายามดวงอาทิตย์ตก ในช่วงปลายเดือนธันวาคมอย่างน่าสนใจเช่นกัน Olson จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า Munch คงได้เห็นผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์ภูเขาไฟ Krakatoa ระเบิดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1883 ตลอดจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปี 1884 อย่างแน่นอน
เกาะ Krakatoa ตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตรในช่องแคบ Sunda ของอินโดนีเซีย โดยอยู่ระหว่างเกาะชวากับสุมาตราเป็นเกาะที่มีภูเขาไฟขนาดใหญ่ ซึ่งสูงประมาณ 800 เมตร ซึ่งได้เคยระเบิดครั้งหนึ่งในปี 1680 และตั้งแต่ปี 1877 เป็นต้นมา เกาะได้มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นหลายครั้ง จนถึงต้นพฤษภาคมปี 1883 ภูเขาไฟก็ได้ระเบิด และตามมาด้วยการระเบิดอย่างรุนแรงในวันที่ 26-28 สิงหาคม ค.ศ.1883 มีคนได้ยินเสียงระเบิดของ Krakatoa ณ ที่ห่างจากเกาะประมาณ 4,800 กิโลเมตร ฝุ่นเถ้าถ่านที่ถูกพ่นออกมาทำให้เมือง Batavia ที่อยู่ห่างออกไป 160 กิโลเมตรมีฟ้ามืดครึ้ม ละอองเถ้าถ่านได้พุ่งขึ้นไปในบรรยากาศเป็นระยะสูงประมาณ 55 กิโลเมตร แล้วลมเบื้องบนได้พัดพาฝุ่นเหล่านี้ไปรอบโลกด้วยความเร็วกว่า 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง คนทั่วโลกตั้งแต่เมือง North Cape ในนอร์เวย์จนถึง Cape Town ในแอฟริกาใต้ได้รับผลกระทบหมด เพราะฝุ่นปริมาณมากได้เริ่มตก หลังจากที่เวลาผ่านไป 10 วัน แต่ฝุ่นที่เบาก็ยังลอยต่อในชั้นบรรยากาศอีก 2 ปี ทำให้ผู้คนเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตกเป็นสีแดงจัดโดยเฉพาะที่ Christiania ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 1884 ส่วนในมหาสมุทรนั้น ได้เกิดคลื่นสึนามิพัดท่วมอาคารบ้านเรือนในหมู่เกาะต่างๆ ของอินโดนีเซียทำให้มีคนเสียชีวิตกว่า 36,000 คน
คณะวิจัยของ Olson จึงได้เดินทางไปที่ Oslo เพื่อหาตำแหน่งที่ Munch ยืนวาดภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และประจักษ์ว่าที่ถนน Mossevcien ซึ่งตัดผ่านเนินเขา Ekeberg และ ณ ที่ห่างจากอุโมงค์ประมาณ 100 เมตร เป็นที่ๆ Munch ยืนวาดภาพ The Scream โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้สู่เกาะ Hovedo
นี่จึงเป็นการเชื่อมโยงเหตุการณ์ระเบิดของภูเขาไฟ Krakatoa ในอินโดนีเซียกับการวาดภาพของเหตุการณ์ในภาพ The Scream
จิตรกรกับนักภูมิศาสตร์อาจจะเห็นท้องฟ้าโดยมีมุมมองต่างกัน คนธรรมดาทั่วไปก็อาจเห็นภาพดวงอาทิตย์ตก หลังจากที่ภูเขาไฟระเบิดเหมือน Munch ก็ได้ ซึ่งได้ทำให้เราสามารถเข้าใจความนึกคิดลึกๆ ของจิตรกรผู้วาดภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดภาพหนึ่งของโลกได้
อ่านเพิ่มเติมจาก When the Sky ran Red โดย Donald W. Olson และคณะใน Sky Telescope มกราคม ปี 2004
เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์