xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ สดร.สรุปความสำคัญนาซาพบโมเลกุลอินทรีย์บนดาวอังคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ สดร.สรุปความสำคัญนาซาพบโมเลกุลอินทรีย์บนดาวอังคาร ชี้เป็นข่าวดีสำหรับการค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดังกล่าวในอนาคต

มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561 เวลา 1:00 น. ตามเวลาประเทศไทย องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ หรือนาซา แถลงข่าวรายงานว่ายานสำรวจคิวริออซิตี (Curiosity Rover) บนดาวอังคาร ได้ยืนยันการค้นพบโมเลกุลของสารประกอบอินทรีย์บนดาวอังคาร เปิดหน้าต่างสู่การสำรวจพื้นผิวและใต้พื้นผิวของดาวอังคารในอนาคต

"นาซาส่งยานสำรวจคิวรีออซิตี ไปยังดาวอังคารตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2555 มีภารกิจในการสำรวจบริเวณหลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) สามารถขุดสำรวจก้อนหินและมีห้องทดลองทางเคมีเพื่อหาองค์ประกอบทางธรณีวิทยาบนดาวอังคารได้ ที่ผ่านมามีการค้นพบหลักฐานมากมายว่าครั้งหนึ่งในอดีตดาวอังคารเคยมีน้ำที่เป็นของเหลวไหลอยู่บนพื้นผิว ล่าสุดยานสำรวจคิวรีออซิตี ค้นพบหลักฐานที่บ่งชี้ถึงสารประกอบอินทรีย์ (Organic Molecule) บนดาวอังคาร"

ทั้งนี้ สารประกอบอินทรีย์ คือสารประกอบที่มีธาตุคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก และอาจจะมีธาตุอื่นเป็นส่วนประกอบด้วย เช่น ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ซัลเฟอร์ ฯลฯ สิ่งมีชีวิตบนโลกทุกชนิดมีสารประกอบอินทรีย์เป็นองค์ประกอบ ดังนั้นการค้นพบสารประกอบอินทรีย์บนดาวเคราะห์ดวงอื่นจึงถือเป็น “ข่าวดี” ทั้งในแง่การค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนั้นและความเป็นไปได้ในการรองรับสิ่งชีวิตจากโลกในอนาคต

"หากพบว่าสารประกอบอินทรีย์ดังกล่าวมีที่มาจากสิ่งมีชีวิต นั่นอาจเป็นสิ่งที่แสดงได้ว่าครั้งหนึ่งในอดีต หรือแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ ดาวอังคารอาจจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตาม สารประกอบอินทรีย์สามารถผลิตขึ้นจากกระบวนการที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันได้"

"นอกจากนี้ ในอีกงานวิจัยหหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบว่าปริมาณของมีเทนในชั้นบรรยากาศของดาวอังคารนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลของดาวอังคาร บนโลกนั้น 95% ของมีเทนในชั้นบรรยากาศมาจากสิ่งมีชีวิต เช่น ในนาข้าว จากปศุสัตว์ หรือจุลชีววิทยา และนอกจากนี้มีเทนเป็นสารประกอบที่สลายตัวได้ง่าย การค้นพบมีเทนในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ใดก็ตามจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะนั่นหมายความว่าดาวเคราะห์ดวงนั้นจะต้องมีแหล่งที่ปลดปล่อยมีเทนออกมาอย่างต่อเนื่อง"

นายมติพลระบุอีกว่า การค้นพบว่าปริมาณมีเทนของดาวอังคารนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปแบบตามฤดูกาล จึงเท่ากับเป็นการยืนยันว่ามีเทนบนดาวอังคาร ไม่ได้มาจากอุกกาบาต และดาวอังคารจะต้องมีแหล่งเก็บสะสมมีเทนในใต้พื้นผิว และค่อยๆแทรกผ่านรอยแตกระหว่างหินขึ้นมาสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งปัจจุบันเรายังไม่ทราบดีว่าแหล่งมีเทนนี้ถือกำเนิดขึ้นมานานแล้ว หรือว่าเพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลังๆ ของดาวอังคาร และยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าแหล่งกำเนิดมีเทนบนดาวอังคารนั้นจะมาจากสิ่งมีชีวิตใต้พื้นผิว ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับโลกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นายมติพลระบุว่า ทั้งการค้นพบสารประกอบอินทรีย์ และการเปลี่ยนแปลงปริมาณมีเทนตามฤดูกาลบนดาวอังคาร เท่ากับว่าทฤษฎีของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร ก็เป็นทฤษฎีที่ยังคงมีความเป็นไปได้อยู่ ปัจจุบันนี้ ยานสำรวจคิวริออซิตียังคงสามารถขุดลงไปสำรวจได้แค่เพียง 5 ซม.จากพื้นผิว และเครื่องมือศึกษาองค์ประกอบทางธรณีวิทยาที่สามารถทำได้ ก็มีเพียง Gas Chromatography เพียงเท่านั้น

"ในอนาคตเมื่อเราสามารถส่งยานสำรวจที่สามารถขุดลงไปได้ลึกกว่านี้ หรือสามารถที่จะทำการทดลองทางเคมีที่ซับซ้อนกว่านี้ (เช่น wet chemistry) เราก็จะเข้าใจถึงองค์ประกอบ หรือที่มาของแหล่งสารประกอบเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ หากเราสามารถวัดปริมาณไอโซโทปของคาร์บอน-13 ก็จะเป็นหนึ่งวิธีที่เราจะสามารถยืนยันได้ว่าแหล่งที่มาของสารประกอบคาร์บอนเหล่านี้มาจากสิ่งมีชีวิตหรือไม่"

นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้ จะมีทั้งยานสำรวจ ExoMars จากองค์กรสำรวจอวกาศยุโรป (ESA) และ Mars 2020 จากองค์การบริหารการบินและอวกาศ (NASA) ไปเยือนดาวอังคาร และทำการศึกษาทั้งบนพื้นผิว และใต้พื้นผิวของดาวอังคารเพื่อหาต้นตอของสารประกอบอินทรีย์เหล่านี้

"เราอาจจะได้คำตอบอีกส่วนหนึ่งของปริศนาของดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ รวมไปถึงคำถามอีกมากมายที่จะต้องคอยติดตามกันต่อไป" ผู้เชี่ยวชาญ สดร.สรุป



กำลังโหลดความคิดเห็น